ด้วยการ ทำอาชีพที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างสารพัดชนิด ตั้งแต่งานก่ออิฐ ฉาบปูน เชื่อมเหล็ก โดยเธอย้ำถึงเส้นทางใหม่นี้ว่า… “เหนื่อย…แต่ท้าทาย!!!” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปสัมผัสเรื่องราวชีวิตเธอคนนี้…

มู่-พิมพ์ณัฐชยา” อดีตนางแบบอาชีพเบอร์ต้น ๆ ของวงการ ที่กล้าเปลี่ยนทางชีวิต เล่าว่า ปัจจุบันเธออายุ 52 ปี พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ โดยคุณพ่อนั้นรับราชการ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน ซึ่งเธอเป็นลูกคนโตในจำนวนลูก ๆ ทั้งหมด 3 คน ด้านการศึกษานั้นเธอบอกว่าเรียนจบปริญญาตรี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเธอกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

อดีตนางแบบคนนี้ได้เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมต่อไปว่า สมัยเด็ก ๆ ครอบครัวของเธอนั้นมีฐานะยากจนมาก โดยทุกคนในครอบครัวต้องพึ่งพาเงินเดือนน้อยนิดของคุณพ่อเป็นหลัก ทำให้เธอจึงต้องทำงานมาตั้งแต่ช่วงเรียนหนังสือ เพื่อหารายได้มาช่วยจุนเจือแบ่งเบาภาระทางบ้าน จนวันหนึ่งจับพลัดจับผลูได้มีโอกาสทำงานในวงการบันเทิง โดยมีงานเดินแบบ ถ่ายแบบ และมีงานพรีเซนเตอร์สินค้าเข้ามาด้วย ทำให้มีรายได้พอที่จะส่งเสียตัวเองและน้อง ๆ ให้เรียนหนังสือต่อได้

ตอนนั้นมีงานอะไรให้ทำ ก็ทำหมดทุกอย่าง เพราะภาระทางบ้านเยอะ ซึ่งเราก็ทำมาเรื่อย ๆ จนเรียนจบก็สมัครเข้าทำงานเป็นเซลล์เอ็นจิเนียร์ในบริษัทอุปกรณ์ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง แม้ว่าตอนนั้นจะได้เข้าทำงานวงการบันเทิงแล้ว แต่ก็คิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่างานวงการบันเทิงไม่ยั่งยืน พอถึงเวลาที่เราไม่สวยแล้ว อายุมากแล้ว ก็คงไม่มีคนจ้าง อีกทั้งมีเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เราก็เลยคิดว่าหันไปทำงานออฟฟิศดีกว่า แต่ทำได้แค่ 1 ปี ก็ทะเลาะกับเจ้านาย จึงลาออก ตอนนั้นเรียกว่าชีวิตเคว้งคว้างมาก เพราะไม่รู้จะทำอะไร ซึ่งตอนนั้นบ้านอยู่ จ.ชลบุรี เราก็เลยกลับไปขายของตามตลาดนัดอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ไปเปิดร้านซักรีด และร้านทำงานไม้ เช่น เพ้นท์สีโต๊ะเก้าอี้ กับงานกล่องไม้เล็ก ๆ ซึ่งพอลูกค้าในมือเยอะขึ้น เราจึงตัดสินใจขยายจากร้านเล็ก ๆ ไปเป็นระดับโรงงาน” มู่-พิมพ์ณัฐชยา อดีตนางแบบอาชีพ เล่าถึงเส้นทางชีวิตในอดีตให้ฟัง

และเธอยังเล่าต่อถึง “ที่มาของอาชีพก่อสร้าง” ว่า เนื่องจากทำโต๊ะและเก้าอี้ขายให้กับร้านอาหารและร้านกาแฟ ก็มีลูกค้าถามว่า เราสามารถรับงานเพิ่มได้ไหม? หรือช่วยร้านต่อเติมแบบนั้นแบบนี้ได้หรือเปล่า? ซึ่งจริง ๆ เธอเองก็ทำไม่เป็น แต่ก็บอกลูกค้าว่าทำเป็นไว้ก่อน เพราะอยากได้งาน อีกอย่างเธอคิดว่าคนเรามีสองมือเหมือนกัน ถ้าตั้งใจและฝึกฝนก็ต้องทำได้ ซึ่งเธอบอกว่าช่วงนั้นเป็นอีกช่วงที่เธอสนุกกับงานก่อสร้างมาก ๆ เพราะยิ่งทำก็ยิ่งได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้หรือไม่เคยทำมาก่อน โชคดีที่เธอเป็นคนแบบที่ว่าถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ออกมาดีที่สุด

“ถ้าจำไม่ผิด งานตอนนั้นที่รับคือร้านอาหาร ทีนี้พอเสร็จงานแล้ว คนอื่นเห็นว่าดีไซน์ของเราที่ทำไปดูสวยดี ลูกค้าก็เลยบอกต่อ ๆ กัน ให้คอนแทคของเราต่อ ๆ กัน จากงานเล็ก ๆ ก็ค่อย ๆ มีสเกลใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนที่สุดก็กลายเป็นรับงานก่อสร้างเต็มตัวในที่สุด ซึ่งพองานก่อสร้างเข้ามาเยอะขึ้น ร้านเฟอร์นิเจอร์ก็จึงต้องปิดตัวลงไป เพราะไม่มีเวลา เนื่องจากเราต้องไปทำงาน ไปคุมงานที่หน้าไซต์งานตลอด” มู่เล่าถึงช่วงเข้าสู่วงการก่อสร้างของเธอ

ส่วนที่มีคนถามบ่อย ๆ ว่า ไปเรียนรู้งานก่อสร้างมาจากไหน? เรื่องนี้เธอบอกว่า อาศัยต่อยอดจากช่วงที่ทำโต๊ะและเก้าอี้ที่ไปฝึกไปเรียนมา ซึ่งงานไม้ก็ต้องใช้เครื่องมือช่างในการขึ้นฉากเข้าฉาก จึงทำให้มีความรู้และเข้าใจพื้นฐานงานช่างฝีมือ แต่เอาเข้าจริง ๆ เมื่อมาทำงานก่อสร้างอย่างเต็มตัว เธอบอกว่า ยอมรับว่าเหนื่อยและท้อมากในช่วงแรก ๆ เพราะต้องเจอกับปัญหาสารพัด ตั้งแต่ช่างที่จ้างมีอีโก้สูง ชอบเถียงและไม่ยอมทำงานตามที่ระบุ หรือคนงานเมาแล้วหยุดงานโดยไม่แจ้ง หรือไม่ก็เมาแล้วโวยวายทะเลาะกัน และทำข้าวของเสียหาย จนบางงานทำได้เสร็จไม่ทันตามกำหนด ถูกลูกค้าต่อว่าโวยวาย จนทำให้รู้สึกท้อและเครียดมาก ๆ แต่ด้วยความที่เป็นคนประเภทที่รับปากแล้วจะต้องรับผิดชอบ จึงกัดฟันสู้จนที่สุดก็ผ่านมาได้

เราต้องยอมรับกับอุปสรรคที่เกิด เพราะเราเป็นคนตัดสินใจที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจนี้เอง ซึ่งช่วงนั้นจะให้ลูกน้องเป็นคนสอนงานให้เรา จนทำไปทำมาก็เกิดความเชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาช่วยให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้เราดูงานเป็น จนตอนนี้เรียกว่าเชี่ยวชาญไม่ต่างจากช่างมืออาชีพแล้ว และโชคดีที่ทำงานออกแบบมาก่อนในช่วงที่ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เพราะบางทีช่างบางคนก็ชอบเถียงว่าแบบนี้ทำไม่ได้ แต่เราก็ยืนยันว่าทำได้แน่ ๆ เพราะเรารู้” เธอเล่า

ขณะที่ “ทักษะช่างเชื่อมโลหะ” ที่เธอก็ชำนาญเช่นกัน มู่บอกว่า ได้พื้นฐานจากตอนที่ทำงานเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน เธอต้องเชื่อมขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ จึงใช้ทักษะตรงนั้นมาผนวกเข้ากับงานเชื่อมโลหะ หรือแม้แต่การปูกระเบื้อง เธอเองก็ทำได้เช่นกัน

โชคดีที่เราเป็นคนแบบน้ำไม่เต็มแก้ว เราจึงพยายามเรียนรู้เองจากหน้างาน จากคนงานที่เป็นประสบการณ์ตรง ซึ่งจริง ๆ งานก่อสร้างก็มีจุดที่ทำให้เราได้มองเห็นและได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ต้องเจอกับอุปสรรคตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าเป็นงานต่อเติมหรือการแก้งาน ปัญหาก็จะยิ่งยากตามไปด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าช่างคนเดิมทำไว้แบบไหน ทิ้งอะไรไว้บ้าง แต่เราก็พยายามศึกษาเอาจากยูทูบ จนตอนนี้รับสร้างบ้านเป็นหลังได้แล้ว”

ทั้งนี้ กับภาพจำของหลายคนที่มองว่าเธอเคยเป็นถึงนางแบบอาชีพ แต่มาทำงานก่อสร้าง ต้องตากแดดตากลมเช่นนี้ ไม่ห่วงความสวยบ้างเหรอ เธอยิ้มและหัวเราะออกมา ก่อนจะบอกว่า ถ้าดูภาพในอดีตเทียบกับตอนนี้ก็จะต่างกันชนิดฟ้ากับเหวเลย ในอดีตตอนที่ยังทำงานเป็นนางแบบอาชีพนั้น เธอจะผิวขาวราวหยวกกล้วย ใบหน้าก็จะมีเครื่องสำอางตลอดเวลา แต่พอเข้ามาสู่อาชีพก่อสร้างแล้ว เรื่องความสวยความงามก็จึงหมดไป จนบางคนที่เคยเห็นเธอในลุคนางแบบ พอมาเจอตัวเธอตอนนี้ หลาย ๆ คนจึงตกอกตกใจ เพราะสภาพของเธอทั้งตัวดำปิ๊ดปี๋ ทั้งฝ้าแดดเต็มหน้า เรียกว่าไม่เหลือเค้าไม่เหลือภาพความเป็นนางแบบในอดีตกันเลยทีเดียว

“นางแบบร่วมรุ่นของเรา ก็อย่างพี่คาร่า พลสิทธิ์ กับพี่นาตาชา เปลี่ยนวิถี ส่วนยุคหลัง ๆ ก่อนที่เราจะอำลาวงการนี้ก็มีนางแบบรุ่นน้อง ๆ อย่างโย-ยศวดี และออร์แกน-ราศี ซึ่งเราคิดว่าที่เรามีงานต่อเนื่องนั้น เพราะเราไม่ใช่คนเรื่องมาก โดยค่าจ้างตอนนั้นจะอยู่ที่ 8 พันบาท จนถึง 1 หมื่นบาท ต่อการเดินแบบแต่ละครั้ง ซึ่งช่วงไหนที่พีคมาก ๆ เรียกว่าต้องเดินแบบไม่ต่ำกว่า 3-4 งานต่อวัน… จริง ๆ ช่วงที่เราเป็นนางแบบนั้น ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของวงการนางแบบเมืองไทยก็ว่าได้ โดยเราเริ่มเดินแบบถ่ายแบบมาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เราก็คิดอย่างนี้ว่า สุดท้ายแล้วต่อให้สวยขนาดไหน ใช้ความสวยทำงาน ก็ไปไม่ได้ตลอดชีวิตอยู่ดี” อดีตนางแบบรายนี้บอกเล่าและย้ำถึงวิธีคิดของเธอ

ก่อนจบการสนทนากับ “มู่-พิมพ์ณัฐชยา” อดีตนางแบบอาชีพที่ โบกมือลาแคตวอล์กมู่งสู่ธุรกิจก่อสร้าง บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ปัจจุบันเธอแต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่ยังไม่มีลูก โดยเธอกับแฟนตั้งใจว่าจะช่วยกันทำงานเพื่อเป็นรากฐานอนาคต โดยที่คิดไว้และฝันไว้คือ การมีบริษัทรับสร้างบ้านและออกแบบบ้านของตัวเอง คิดว่าถ้าหากคนเราขยัน และตั้งใจทำจริง ๆ เราก็จะสามารถทำให้ฝันเกิดขึ้นจริงได้ทุก ๆ อย่าง เพราะพระเจ้าก็สร้างทุกคนให้มีอวัยวะ 32 อย่างเท่ากัน ฉะนั้นทุกคนก็สามารถทำได้เท่า ๆ กัน…

ที่จะไม่เท่ากัน…ก็คือเรื่องของใจ”

“ข้อได้เปรียบ” ของ “สาวก่อสร้าง

“มู่-พิมพ์ณัฐชยา สงวนไว้” ยังบอกด้วยว่า หลายคนอาจมองว่าอาชีพก่อสร้างไม่เหมาะกับผู้หญิง เพราะเห็นว่าเสี่ยง และอันตราย แต่สำหรับเธอแล้ว เธอมองว่า แม้เรื่องของความแข็งแรงอาจจะมีได้ไม่เท่ากับผู้ชาย แต่… “ผู้หญิงมีจุดเด่นที่เป็นข้อได้เปรียบ นั่นก็คือความละเอียดรอบคอบ”ที่มีมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ อนาคตอีกอย่างที่เธอคิดไว้ เธอบอกว่า อยากต่อยอดธุรกิจก่อสร้างที่ทำอยู่นี้ไปสู่ธุรกิจติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ โดยเธอเล่าว่าตอนที่จ้างช่างบริษัทอื่นมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ เธอจะขอปีนหลังคาขึ้นไปดูการทำงานด้วย ซึ่งช่างและคนรอบข้างก็ร้องห้ามว่าอันตราย แต่เธออยากเรียนรู้ จึงปีนขึ้นหลังคาไปกับช่าง โดยเธออยู่บนนั้นได้ทั้งวัน เพราะอยากเห็นขั้นตอนทั้งหมดของการติดตั้งทุก ๆ ขั้นตอน โดยเธอบอกขำ ๆ ว่า… “อยากได้ลูกเสือ ก็ต้องเข้าถ้ำเสือ”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน