การนอนละเมอ หมายถึง การหลับที่ไม่สนิท ยังมีเซลล์บางส่วนของสมองที่ยังไม่สงบนิ่ง มีการเคลื่อนไหวอยู่ ทำให้ร่างกายที่ควรจะนอนหลับนิ่งอย่างสบายกลับลุกขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว พอลุกมาจากเตียงก็ลงไปที่พื้น พอไปกระทบอะไรเข้าทำให้รู้สึกตัวตื่นทันที ปัญหาอยู่ที่ตอนลุกลงจากเตียงอาจก้าวไปเดินชนมุมตู้หรือประตู ทำให้หกล้มบาดเจ็บได้ บาดเจ็บโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าไม่มากก็ไม่เป็นไรกลับมานอนต่อ แต่บางรายไปกระทบแรงอาจเกิดการบาดเจ็บทันที การละเมอจึงเป็นเสี้ยวหนึ่ง หรือวูบหนึ่งของการนอนหลับ บางคนก็เป็น บางคนก็ไม่เป็น หลับสบายดีตลอดทั้งคืน ถือเป็นคนปกติโชคดีไป

ผมมีประสบการณ์ในตัวผมเอง นาน ๆ หลาย ๆ เดือนอาจจะเกิดขึ้นสักครั้ง สังเกตดูกลางวันถ้าไปทำกิจกรรมมาก เดินเล่นมาก สนุกสนานมาก ตกกลางคืนมักหลับไม่สนิทมานอนละเมอต่อ อายุปีนี้ก็ขึ้นเลข 9 นำแล้ว เป็นการละเมอของคนแก่ มาระบายให้ฟังว่ามันเป็นไปได้ในบางคน มิใช่ทุกคนอยู่ ๆ ก็ลุกจากเตียงลงมาที่พื้น ตอนลุกขึ้นมาไม่รู้สึกตัว บางครั้งก็ไปชนกับโต๊ะ เก้าอี้ แล้วไปนอนกองกับพื้นไม่มีบาดแผลก็ไม่เป็นไร กลับมานอนต่อ แต่ยังไม่พบมีเป็นบาดเจ็บมาก เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเล่าให้เพื่อนหมอ ๆ ฟัง หมอที่สนใจเรื่องนี้ก็ช่วยไปซื้อผ้านวมมาปูรองพื้นไว้ให้ เวลาหกล้มจะได้ล้มบนผ้านวมไม่บาดเจ็บ อีกแบบหนึ่งคือ ห้อยเชือกที่หัวเตียงนอน เวลานอนก็เอามาพันแขนไว้ พอนอนละเมอลุกจากเตียง เชือกจะตึงกระตุกแขน ทำให้ตื่นทันที วิธีนี้ก็ดี ปลอดภัยดี พันแขนทุกคืนบางครั้งก็เบื่อ พอพันแขนไว้มักไม่เป็น วันไหนไม่พันแขนก็เกิดขึ้นได้ เป็นโรคที่แปลก เรื่องโรคละเมอนี้ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง คนคงเป็นกันน้อยมาก ผมโชคไม่ดีนาน ๆ เป็นครั้ง เป็นเอง ฝึกแก้ไขด้วยตัวเอง จนปลอดภัยก็คือว่าใช้ได้

มีหลายท่านมาเล่าให้ฟังเรื่องละเมอ ตื่นขึ้นมาไปทำโน่นทำนี่ รับฟังแต่ไม่ค่อยสนใจนัก สนใจเรื่องอุบัติเหตุอย่างเดียว ลุกจากเตียงมา ไม่ไปชนให้เกิดอุบัติเหตุได้ คนไม่รู้สึกตัวอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นมาก็แก้ไขและป้องกันกันไป ผมเชื่อว่าคงมีบางท่านก็เคยประสบแบบนี้ แต่รู้สึกอาย ๆ ไม่อยากคุยให้ใครฟัง ตัวผมเองถือเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นจริง ก็มาเล่าสู่กันฟังเพื่อหาหนทางแก้ไข หาตำราศึกษาดูเพื่อจะได้ป้องกันแก้ไขไว้ คนละเมอนั้นมีหลายแบบ ที่คุยมานี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตราย ป้องกันมิให้เกิดการบาดเจ็บอย่างเดียว

การผ่อนคลายก่อนนอน ให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน ดีที่สุดคือ การทำสมาธิให้จิตนิ่ง สบายใจ วัดความดัน ชีพจรปกติ เชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ร่างกายผ่อนคลาย ชีพจร ความดันปกติ น่าจะหลับได้อย่างสบาย คนที่มีเพื่อนนอนก็ดี เวลาลุกขึ้นไปจะได้จับไว้ ส่วนใหญ่คนสูงอายุมักนอนคนเดียว จะได้ทำอะไรสะดวก อ่านหนังสือ ฟังเพลง ตามใจชอบไม่รบกวนใคร เชื่อว่าคนที่จิตสงบ ผ่อนคลาย สบายใจ ไม่มีอะไรต้องกังวล โอกาสจะนอนละเมอคงน้อยลง พอเราวางแผนป้องกัน เวลาลุกขึ้นเชือกก็กระตุกแขน ล้มก็มีผ้านวมรองรับ กลับไม่ค่อยเกิดขึ้น อาการละเมอห่างไปเลย จึงคิดว่าดีที่สุด ในการป้องกันคือ การผ่อนคลายและจิตสงบ เมื่อหลับแล้วจะยาวนานทีเดียว แต่คนสูงวัยมักจะปัสสาวะบ่อยตอนดึกด้วยโรคต่อมลูกหมากโต เป็นการป้องกันละเมอไปในตัว

ปัญหาเรื่องการละเมอ แต่ละคนมักมาคนละแบบก็แก้ไขกันไป ผมมาคุยเรื่องนี้ จุดประสงค์ต้องการป้องกันเรื่องอุบัติเหตุหกล้ม ลุกขึ้นไปชนมุมตู้ มุมประตูให้ได้รับการบาดเจ็บ ใครมีวิธีการที่ดี ได้ผล ก็แก้ไขป้องกันกันไป ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะมารักษาได้ คนที่หลับดีตลอดคืนถือว่าโชคดีไป

การนอนละเมอเข้าใจว่าเป็นความผิดปกติของเซลล์ในสมองส่วนหนึ่งที่ยังไม่สงบ เวลาร่างกายได้พักผ่อน นอนหลับ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวลุกขึ้นจากเตียงโดยไม่รู้ตัว ผลเสียตามมาก็คือ อาจเดินไปชนตู้ เตียง หรือล้มลงพื้นทำให้บาดเจ็บได้ การทำสมาธิให้จิตสงบก่อนเข้านอนก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ร่างกายได้สงบตลอดเวลาหลับ หรือใครมีวิธีใดที่สามารถแก้ไขได้แล้วได้ผลก็จะว่ากันไป ขอให้นอนสงบปลอดภัยเป็นใช้ได้.

……………………………….
นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี