การรัฐประหารครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ทหารกลุ่มหนึ่งจู่โจมควบคุมตัวประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม และรัฐมนตรีอีกหลายคน จากนั้นทำการสถาปนาสภาแห่งชาติเพื่อการพิทักษ์มาตุภูมิ ภายใต้การนำของ พล.อ.อับดูราฮามาเน เทียนี อดีตหัวหน้าหน่วยอารักขาประธานาธิบดี

ขณะที่พล.อ.เทียนี กล่าวว่า ฝรั่งเศสเตรียมใช้ “มาตรการทางการเมืองและการทหาร” ต่อไนเจอร์ ด้านนางแคเธอรีน โคลอนนา รมว.การต่างประเทศฝรั่งเศส ยืนกรานปฏิเสธ และเรียกร้องการคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนของบาซูม

พล.อ.อับดูราฮามาเน เทียนี ประธานสภาแห่งชาติเพื่อการพิทักษ์มาตุภูมิ หรือคณะรัฐประหารไนเจอร์

ด้านสหภาพแอฟริกา ( เอยู ) ประกาศ “คำสั่ง” ให้ทหารไนเจอร์กลับฐานที่มั่นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก ( อีโควาส ) “ขีดเส้นตาย” ว่าคณะรัฐประหารไนเจอร์ต้องคืนอำนาจให้แก่บาซูม ภายใน 7 วัน มิเช่นนั้น อีโควาสจะใช้ “มาตรการที่จำเป็นตามกรอบของกฎหมาย” เพื่อฟื้นฟูอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจรวมถึง “การใช้มาตรการทางทหาร”

นอกจากนั้น อีโควาสประกาศคว่ำบาตรสมาชิกทั้งหมดในคณะรัฐประหารของไนเจอร์ และระงับช่องทางการทำธุรกรรมทั้งหมดระหว่างไนเจอร์ กับสมาชิกอีโควาสที่เหลือ แต่ยังไม่มีการระงับสถานภาพสมาชิกของไนเจอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก และอยู่ในอันดับรั้งท้าย ของการจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์โดยสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

คณะรัฐประหารไนเจอร์ประณามอีโควาส ว่าเตรียมแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์ โดยร่วมมือกับ “บางประเทศในแอฟริกา” ที่ไม่ใช่สมาชิกอีโควาส และ “ประเทศตะวันตกบางแห่ง” โดยในเวลาเดียวกัน สหรัฐยืนยัน การสนับสนุนบาซูม “ในฐานะผู้นำอันชอบธรรม” ส่วนรัสเซีย “จับตาและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

จริงอยู่ที่การรัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไนเจอร์ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า “คือสัญญาณอันตราย” สำหรับกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคแห่งนี้ และสหรัฐซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับรัสเซียและจีน

ชาวไนเจอร์ฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร ชุมนุมในกรุงนีอาเม

ชนวนเหตุให้เกิดการรัฐประหารที่ไนเจอร์ครั้งนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาภายในที่บ่มเพาะมานาน อย่างไรก็ตาม การที่นายเยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำกองกำลังนักรบรับจ้าง “วากเนอร์” ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลมอสโก กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของไนเจอร์ เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวไนเจอร์กับ “นักล่าอาณานิคม” สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันยังคงมีทหารประจำการอยู่ที่ไนเจอร์ประมาณ 1,500 นาย

สำหรับรัฐบาลปารีส การที่บาซูมโดนโค่นอำนาจถือเป็นความเสื่อมถอยทางอิทธิพล ครั้งล่าสุดของอดีตเจ้าอาณานิคมแห่งกาฬทวีป เนื่องจากเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสต้องถอนทหารออกจากบูร์กินาฟาโซและมาลี ที่เท่ากับเป็นการยุติปฏิบัติการบาร์เคน ( Operation Barkhane ) ยาวนาน 14 ปี ในภูมิภาคซาเฮล ที่ล้วนเป็นประเทศซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของรัฐบาลปารีส ที่นอกจากมาลี ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ และชาด นอกจากนั้นยังมี แคนาดา และประเทศในยุโรปอีก 14 แห่ง

อนึ่ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส กล่าวระหว่างการเดินสายเยือนแอฟริกา เมื่อเดือนมี.ค. ปีนี้ ว่าแม้ฝรั่งเศสคือหนึ่งในประเทศที่เคยเข้ามา “ช่วงชิงการสร้างอิทธิพล” ในแอฟริกา แต่ตอนนี้ “ไม่มีแบบนั้นอีกต่อไป” เนื่องจากรัฐบาลปารีสมีนโยบายให้เกียรติและปฏิบัติต่อทุกประเทศ “ด้วยความเท่าเทียม” ฝรั่งเศสมุ่งหวังการเป็น “หุ้นส่วนระยะยาว” กับแอฟริกา ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนก้าวขึ้นสู่การเป็น “สนามแข่งขันทางการลงทุน” และทุกภาคส่วนของฝรั่งเศสประสงค์เป็นส่วนหนึ่ง “ไม่มากก็น้อย”

นอกจากนี้ ยุคสมัยของการที่ฝรั่งเศส “แทรกแซง” กิจการภายในของแอฟริกา “ยุติแล้วโดยสิ้นเชิง” พร้อมทั้งยืนยันว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลปารีสที่มีต่อแอฟริกา “จะไม่หวนกลับไปเป็นแบบเดิมอีก” ที่เป็นการสนับสนุนการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในประเทศแห่งนั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ฝรั่งเศสยังคง “ติดหล่ม” ในแอฟริกา “ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ในช่วงทศวรรษล่าสุด การเดินหน้านโยบายดักล่าวในเชิงปฏิบัติ อาจไม่ได้ราบรื่นและง่ายดายอย่างที่คาดการณ์ไว้.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP