ยุคสถานการณ์โควิด-19 ระบาด หลายคนล้มลุกคลุกคลาน บางคนที่ปรับตัวยืนสู้ได้ถือว่าเก่งและแกร่ง อย่างสองสามีภรรยาชาว จ.กาฬสินธุ์ คู่นี้ นายธวัชชัย ศรีคัดเค้า อายุ 49 ปี และนางกาญจนา ศรีคัดเค้า หรือ ปู อายุ 48 ปี เปิดร้านขายข้าวจี่ชื่อ “ปูข้าวจี่มูน” เลขที่ 49/3 ตั้งอยู่บนถนนธนะผล หลังโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ รายได้ดี ใช้ชีวิตพอเพียงเลี้ยงตัวช่วยกันทำมาหากินส่งเสียลูกสองคนจนเรียนจบปริญญาตรี
โดยก่อนหน้านี้นายธวัชชัยเคยเปิดร้านรับซ่อมรถจักรยานยนต์เช่าร้านเดือนละ 6 พันบาท งานก็พอไปได้เรื่อยๆ เพราะร้านซ่อมมีน้อย ต่อมาระยะหลังร้านซ่อมตามหมู่บ้านและในเมืองผุดขึ้นมามาก และยิ่งช่วงโควิดระบาดจึงแทบจะไม่มีลูกค้าเข้าร้าน ทำรายได้หดหาย จึงคิดว่าตัวเองจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้!!
เมื่อหันมาเห็นภรรยาที่ขายข้าวจี่อยู่หน้าร้าน มีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย บางทีมีออร์เดอร์ไปตามงานต่างๆ จนทำแทบไม่ทัน จึงได้คิดหันมาช่วยภรรยาทำแบบจริงๆ จังๆ
นางกาญจนา เป็นคนขยันมีฝีมือในการทำ “ข้าวจี่” เมนูอาหารอีสานของโปรดของใครหลายคนที่นิยมรับประทานกันในหน้าหนาว ซึ่งที่ร้าน “ปูข้าวจี่มูน” ไม่ต้องให้รอรับประทานกันเฉพาะหน้าหนาวอย่างเดียว เพราะเจ้าของร้านยืนหยัดทำขายตลอดทั้งปีแถมไม่มีวันหยุด ใครนึกอยากรับประทานตอนไหนก็มาซื้อหาได้ตลอดตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม หากใครไม่มาซื้อเองก็สุดแสนจะสะดวกเมื่อสั่งดิลิเวอรี่ทางออนไลน์ก็จะมีไรเดอร์วิ่งไปส่งให้ถึงบ้าน
นายธวัชชัย เล่าว่า ที่ผ่านมาตนก็ทำงานซ่อมรถจักรยานยนต์ ภรรยาจะขายของหน้าร้านปั้นข้าวจี่มูนขาย และมีสินค้าของกินต่างๆ เช่น หมูทอดแดดเดียว กากหมูเจียว ลูกชิ้น กาแฟ น้ำผลไม้ต่างๆ ซึ่งภรรยาเป็นคนขยันมากไม่อยู่นิ่งเฉยจะมองหาอะไรทำที่เป็นรายได้เสริมอยู่ตลอด
“อย่างข้าวจี่มูนของเราคนจะชอบรับประทาน เพราะมีการปรับปรุงรสชาติจากสูตรดั้งเดิมโดยใช้ข้าวเหนียวเขาวงมาตรฐาน Gi เปิดขายมานานกว่า 30 ปี ขายดีขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งมีออร์เดอร์สั่งมาเป็น 500-1,000 ก้อน ภรรยาทำคนเดียวไม่ทัน จึงตัดสินใจปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์มาเป็นลูกมือช่วยภรรยาทำข้าวจี่มูนขายอย่างจริงจังและเป็นอาชีพหลักถึงปัจจุบันนี้”
ด้านนางกาญจนา เจ้าของร้าน “ปูข้าวจี่มูน” กล่าวว่า สาเหตุที่ทำข้าวจี่มูนขายเป็นอาชีพหลักนั้น เนื่องจากชอบทำข้าวจี่หรือปิ้งข้าวจี่มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ซึ่งจะทำกันในฤดูหนาวโดยเฉพาะช่วงปีใหม่จะนำข้าวเหนียวใหม่ที่นึ่งสุกใหม่ๆ มีกลิ่นหอมมาปั้นเป็นก้อนแล้วจี่ไฟ ขณะนั่งล้อมวงผิงไฟเพื่อคลายหนาวตามประสาชาวบ้านอีสาน ซึ่งพอสิ้นสุดฤดูหนาวไม่ได้ผิงไฟก็จะไม่มีข้าวจี่รับประทานกัน กว่าจะได้ทานข้าวจี่อีกครั้งก็ต้องรอกันเป็นปีๆ ทีเดียว หรือที่เรียกว่ามีปีละครั้งเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ทานข้าวจี่กัน
หากนึกอยากทานข้าวจี่ในฤดูกาลอื่นๆ เช่น ช่วงหน้าร้อน หรือหน้าฝน ข้าวที่จะเอามาทำข้าวจี่ก็ไม่ใช่ข้าวใหม่ กลายเป็นข้าวเก่าไปแล้ว กลิ่นหอมของเมล็ดข้าวก็หายไป นำมานึ่งสุกหรือทำข้าวจี่ก็ไม่หอมอร่อยเหมือนข้าวใหม่ในช่วงหน้าหนาวหรือปีใหม่ ตนจึงเกิดไอเดียที่จะทำข้าวจี่ที่สามารถทานได้อย่างอร่อยตลอดปี ก็ลองผิดลองถูกมานานก่อนที่จะลงตัวที่สูตร “ข้าวจี่มูน” ในปัจจุบัน โดยตนตั้งชื่อสูตรว่า “ปูข้าวจี่มูน”
จากคุณสมบัติพิเศษของข้าวสารเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ซึ่งอ่อนนุ่มและคงความหอมตลอดเวลา ได้รับการรับรองมาตรฐาน Gi ตนจึงได้นำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำข้าวจี่ โดยผสมกับน้ำกะทิ เกลืออนามัย หรือเกลือไอโอดีน และไข่เป็ด เมื่อนำส่วนผสมทั้ง 4 อย่าง มารวมกันจึงเรียกว่า มูน ก็จะได้ข้าวจี่มูนดังกล่าว ทั้งนี้อัตราส่วนผสมคือ ถ้าใช้ข้าวสารเหนียวเขาวง 3 กก. ต่อเกลืออนามัย 30 กรัม น้ำกะทิ 1 กก. และไข่เป็ดตามความเหมาะสมเพื่อให้ผิวข้าวจี่เป็นสีเหลือง เนียนนุ่มน่ารับประทาน
ต้นทุนการผลิตหากคิดอัตราข้าวเหนียวเขาวง 3 กก. หรือ 1 หม้อ ราคา 100 บาท ไข่เป็ดเลี้ยงเอง มะพร้าวที่นำมาทำกะทิได้จากสวน บางครั้งไม่พอก็ซื้อจากท้องตลาดบ้าง เกลือ 30 กรัม ราคา 1 บาท ถือว่าต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ ซึ่งอัตราส่วนนี้จะได้ข้าวจี่มูน 200 ก้อน จำหน่ายก้อนละ 5 บาท ขายได้ 1,000 บาท ปัจจุบันทำวันละ 2 หม้อ ใช้ข้าวสาร 6 กก.ได้ข้าวจี่มูน 400 ก้อน
“เฉลี่ยต้นทุนต่อวันคิดเฉพาะค่าข้าวสารประมาณ 200 บาท ขายได้ 2,000 บาท หรือเดือนละ 60,000 บาท แต่หากเป็นในฤดูหนาวจะขายดีกว่านี้ถึง 1 เท่าตัว ซึ่งรายได้หลักจากการค้าขายทำให้ครอบครัวสามารถผ่อนบ้านราคา 3 ล้านกว่าบาทได้ และส่งเสียลูกสองคนเรียนจนจบ เท่านี้ก็ภูมิใจมากแล้ว” นางกาญจนา กล่าว
ขณะที่ลูกค้าประจำที่มาอุดหนุน กล่าวว่า พวกเราเป็นลูกค้าของร้านปูข้าวจี่มูนมาตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน จะแวะเวียนมาอุดหนุนทุกวัน ข้าวจี่มูนที่นี่รักษาคุณภาพหอม อร่อย จึงติดใจซื้อไปรับประทานเป็นประจำ นอกจากนี้ในโอกาสทำบุญต่างๆ ก็มาสั่งไปตั้งโรงทานบ้าง เป็นของฝากเพื่อนและญาติต่างจังหวัดบ้าง ข้าวจี่มูนจึงถือเป็นอีกหนึ่งของดีกาฬสินธุ์ ที่หากมีโอกาสเดินทางมากาฬสินธุ์ไม่ควรพลาดที่จะลองลิ้มชิมรส “ปูข้าวจี่มูน” รับรองจะติดใจ
สำหรับข้าวจี่มูนของครอบครัว “ศรีคัดเค้า” ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถเป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิตในยุคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้ลูกค้าประจำบางคนตั้งชื่อให้ว่า “ข้าวจี่เงินล้าน” และถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนสู้ชีวิต
ซึ่งสองสามีภรรยาได้กล่าวทิ้งท้าย “การทำงานหรือประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ขอให้มีจุดยืนซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและหน้าที่ ถึงแม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่ก็มีรายได้ประจำสามารถยึดเป็นอาชีพหลักที่มั่นคงได้ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนลุกขึ้นสู้ และผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปด้วยกัน”
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม จ.กาฬสินธุ์
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]