วันนี้ นึกถึงตอนที่พรรคเพื่อไทยประกาศเปิดตัวครอบครัวเพื่อไทย  แล้วเริ่มรณรงค์หาเสียงเป็นปีก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยุบสภา มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ ส.ส.250 คนในช่วงแรก และต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยพูดถึงขั้นว่าจะต้องได้ 310 เสียง เพื่อปิดสวิตช์ สว. ซึ่งคาดว่า น่าจะมีเสียงพรรคเชิญมาร่วมรัฐบาลให้ได้ถึง 376 เสียงเพื่อปิดสวิตช์ สว. แต่ต่อมาตัวเลขที่เพื่อไทยจะได้ก็สวิงไปเรื่อย แต่เขาก็ยังหวังถึงสองร้อย

ปรากฏว่า ผลการเลือกตั้งไม่ได้ตามเป้าหมาย เพื่อไทยได้ 141 เสียง พรรคอันดับหนึ่งกลายเป็นพรรคก้าวไกล ได้ 151 เสียง ได้ปอบปูล่าร์โหวต หรือเสียงปาร์ตี้ลิสต์เยอะกว่า 10 เสียง ทันทีที่ผลคะแนนไม่เป็นทางการออก ก้าวไกลประกาศเอาขั้วฝ่ายค้านในรัฐบาลประยุทธ์ มาจับขั้วเป็นขั้วรัฐบาลแบบ…เอาจริงตอนนั้นก็ไม่ทราบได้ถามเพื่อไทยสักคำไหม แต่ปัญหาคือ ..เลือกตั้งเสร็จมันก็มีบรรยากาศแบบตื่นตัว ทำให้พรรคก้าวไกลประกาศทำอะไรคนเห็นดีเห็นงามไปหมด ประกาศจะเป็น “รัฐบาลประชาธิปไตย” รวมตัวแปดพรรค

พิธา" นัด "ด้อมส้ม" รวมพล 9 ก.ค.ยืนยันเจตนารมณ์ ก่อนโหวตนายกฯ : อินโฟเควสท์

เพื่อไทยอยู่ในภาวะน้ำท่วมปากหรือเปล่าก็ไม่รู้ .. แต่คนดูการเมืองเขาบอกว่า “มีอาการงอแง” ตั้งแต่เรื่องการเสนอประธานรัฐสภา อ้างว่า ก้าวไกลได้ประมุขบริหารไปแล้ว เพื่อไทยก็ควรได้ประมุขนิติบัญญัติ สุดท้ายต้องยอมให้นายวันมูหะมัดนอร์มะทา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติเป็นประธานรัฐสภา ได้แบบตาอยู่ เพื่อไม่ให้สองพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลแตกคอกัน ต่อมา น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ( ทสท.) ก็ออกมาบอกทำนองว่า “เพื่อไทยดูท่าทีแปลกๆ ในการลงนามเอ็มโอยู เช่นเรื่องกัญชาที่เดิมจะถอยกลับไปให้อยู่ในบัญชียาเสพติด แต่เพื่อไทยไม่ยอม ให้คงไว้แค่คำว่า สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ และมีการสงวนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันไว้อีก”

ก่อนการโหวตเลือกนายกฯ พรรคก้าวไกลถูกโจมตีด้วยฝ่าย สส. บางพรรค , สว. ว่า “ไม่สามารถยอมรับพรรคก้าวไกลได้”เพราะมีนโยบายแก้ ม.112 และดูพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ขยับตัวอะไรในการหาเสียงสนับสนุนมาก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ไปหาเสียงสนับสนุนมาเอง ซึ่งสามคนก่อนเลือกนายกฯ ก็ดูเหมือนจะพยายามปากแข็งว่า มั่นใจว่าได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาแน่ แต่คนดูเกมการเมืองออกเขามองว่า มันก็แค่การพูดปลอบใจตัวเอง เพราะฝ่ายไม่เอาก้าวไกลประกาศปาวๆ เสียงอย่างนั้น

แล้วเมื่อถึงวันโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เสียงโหวตไม่ผ่าน โดนเล่นกลด้วยข้อบังคับการประชุมว่า โหวตนายกฯ นี่เป็น“ญัตติ”ที่ถ้าตกไปแล้วก็เอากลับมาในสมัยประชุมนี้ไม่ได้แล้ว โดยมีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรอดูผลวันที่ 3 ส.ค.ว่าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ทีนี้…ปัญหาคือ เรื่องอำนาจและผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร ..เมื่อโหวตนายพิธาไม่ผ่าน พรรคก้าวไกลโยนให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล คราวนี้แคนดิเดตคือ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาครอบครัวเพื่อไทย ..ตัวแปรมันอยู่ที่ 3 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

เปิดตัว 'เศรษฐา' ยืนหนึ่งในใจ 'โทนี่' - ไทยไท แชนเนล

ถ้ามีการรับคำร้องไว้พิจารณา คราวนี้ก้าวไกลมีโอกาสพยายาม“ดึงเช็ง”ให้รอศาลวินิจฉัยว่าข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 41 มันขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัด ก็ต้องเสนอชื่อนายพิธาใหม่ ถึงจะยุติธรรมเพราะว่า ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง คือ ประธานรัฐสภาอาจบอกว่า “เป็นเรื่องของที่ประชุมรัฐสภา” จึงกำหนดวันโหวตนายกฯ 4 ส.ค.นี้แล้ว แม้ว่า ทางนายกันวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กับ สส.ก้าวไกลบางคน บอกว่า “สามารถรอ 10 เดือนให้ สว.ชุดนี้หมดวาระก่อนได้แล้วค่อยโหวตนายกฯ” ก็แล้วแต่มุมมองใครจะรอก็ได้ แต่ปัญหาคือ อาจมีการใช้ภาคเอกชน ภาคราชการบีบว่า “ไม่มีนโยบายจากรัฐบาลใหม่เสียที วางแผนในสองไตรมาสของปี 66 ไม่ได้”

ดังนั้นการจัดตั้งนายกฯ ต้องเร็วที่สุด พรรคก้าวไกลกลายเป็นรอง ต้องเป็นฝ่ายต่อรองว่า “จะช่วยโหวตนายกฯ ให้เพื่อไทย เพื่อยืนยันอุดมการณ์ปิดสวิตช์ สว.แต่ต้องไม่เอาพรรคสองลุง คือพลังประชารัฐ ( พปชร.) กับรวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) มาร่วมรัฐบาล” ซึ่งลึกๆ คือ เหมือนกับว่า พรรคก้าวไกลต้องการให้เสียง สส.ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ( ชทพ.) ประชาธิปัตย์ มาโหวตเลือกนายกฯ ให้ แล้วก็กลับไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ต้องมาทำเพื่อรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยปิดสวิตช์ สว.ซึ่งมันฝันเฟื่องไปหน่อย เอาพรรคไหนมาให้ช่วยโหวต แล้วเขาไม่ร่วมรัฐบาลนี่มันแปลกๆ

นั่นคือ แปดพรรคเดิมต้องเป็นรัฐบาล 312 เสียง แต่เพื่อไทยก็ออกอาการอีก ว่า “จะเอาเสียงเพิ่มให้ถึงกึ่ง พรรคไหนหรือ สว.เขาก็ไม่ช่วยถ้ายังมีก้าวไกล เพราะเหตุผลคือก้าวไกลจะแก้ ม.112 ไม่ยอมลดเพดาน” ดังนั้น ก้าวไกลจะเกาะติดเพื่อไทยแค่ไหนก็เห็นว่าจะยากแล้ว ซึ่งวันที่ 2 ส.ค.มีการหารือกันระหว่างคณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ก่อนโหวตนายกฯ 4 ส.ค. ซึ่งมีรายงานข่าวว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้แจ้งต่อพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิมบางพรรคแล้วว่า มีความจำเป็นที่จะต้องโหวตนายกฯ ให้ได้ “จึงมีความจำเป็นต้องให้พรรคก้าวไกลไม่ร่วมในรัฐบาล เพราะ สว. และ สส. ไม่ยอมรับ” โดยจะมีพรรคอื่นมาร่วมเพิ่มเติม คาดว่าจะไม่มี รทสช.และ พปชร. มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย

การประกาศเช่นนี้ถูกเป็นการฉีกเอ็มโอยู  8 พรรคร่วมอย่างเป็นทางการ แต่จะประชุมกันอีกทีในวันที่ 3 ส.ค. ซึ่งพอผลออกมาอย่างนี้ พรรคก้าวไกลจะกลืนเลือดยกมือให้พรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่มีลุงหรือไม่ จะหารือในพรรคก่อนแถลงเป็นทางการ ซึ่งพรรคเพื่อไทยหวังว่าพรรคก้าวไกลจะโหวตให้พรรคเพื่อไทย เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ปิดสวิตช์ สว. แต่ก็ไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลจะทนได้ไหมกับการถืออุดมการณ์แล้วต้องกลืนเลือด อาจโหวตงดออกเสียงก็ได้ในวันที่ 4 ส.ค. ทั้งที่พรรคก็เคยออกมาเหน็บ สว.ว่า เห็นอยากโหวตงดออกเสียงกันจัง ก็แก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ตัดอำนาจ สว.โหวตเลือกนายกฯ ไปเลยสิ..ซึ่งไม่แน่ว่า ถ้าโหวตนายกฯ พรรคเพื่อไทยได้เรียบร้อย สว.ก็ตัดอำนาจตัวเองไป เพราะอยู่ได้อีกแค่ 10 เดือน

ทีนี้ ก็มาดูสมการการเมือง ถ้าเอาพรรคร่วมจัดตั้งเดิม 312 เสียง ลบก้าวไกลไป 151 เสียง เหลือ 161 เสียง เอาพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง ชาติไทยพัฒนา ( ชทพ.) 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า ( ชพก.) 2 เสียง ประชาธิปัตย์ 25 เสียง ( ซึ่งคาดว่าก้าวไกลจะต้องตั้งคำถามใส่คนเสื้อแดงรัวๆ ว่า จะยอมรับเหรอ เพื่อไทยจับมือประชาธิปัตย์ เพราะเหตุการณ์สลายม็อบแดงปี 53 ก็ไม่เห็นประชาธิปัตย์ออกมารับผิดชอบหรือแสดงคำขอโทษอะไร ) พรรคใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน อีก 5 เสียง ยังไม่เอาพรรค รทสช.กับ พปชร.มาร่วมรัฐบาล ก็ตีถัวๆ ได้เสียง 274 เสียง แต่ตามรายงานข่าวน่าจะรวมเสียงได้ไม่ถึง เพราะประชาธิปัตย์อาจเสียงแตก

ก็อาจได้เสียงรัฐบาล 262 เสียง กรณี รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เช่นนี้ พรรคก้าวไกลก็ย้อนเกล็ดเพื่อไทยคืนบ้าง คือไม่อยู่เป็นองค์ประชุมให้กฎหมายที่เพื่อไทยเสนอไม่ผ่าน จากที่เพื่อไทยเคยเล่นเกมนี้ปลายสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งประธานวิปรัฐบาลเองก็จนปัญญาจะคุม ส.ส.ให้มาร่วมประชุม ยิ่งถ้า ส.ส.เป็นรัฐมนตรีมีงานกระทรวงก็ไม่รู้จะเรียกมาอย่างไร แล้วคงเป็นอะไรตลกพิลึกที่พรรคก้าวไกลจะต้องไปอยู่เป็นฝ่ายค้านกับ พปชร.และ รทสช. อุดมการณ์คนละอย่างกัน จะตีกันหรือว่าจะคุยกันทำงานเป็นฝ่ายค้านได้ไม่รู้

ก็เลยมีสูตรว่า อาจให้มี “งูเห่าเทียม” พรรค รทสช.กับ พปชร. ไปร่วมโหวตให้นายเศรษฐา  คือไม่ไปทั้งพรรค แล้วถึงเวลาเหมาะสมก็ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันเนียนๆ ทิ้งก้าวไกลกับเป็นธรรม .. ถ้าออกสูตรนั้น ก็คือกลุ่ม  262 เสียง ก็จะได้ พปชร.กับ รทสช.ไปอีก 76 เสียง เสียงรัฐบาลถึง 300 แน่

แล้วถ้าสมการการเมืองออกรูปนั้น พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรต่อไป ? อันดับแรกคือ สร้างคะแนนนิยม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจต้องเดินสายทั่วไทยหาคะแนนเสียงไปเรื่อยๆ หลังๆ ก็เริ่มบุกจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้ ส.ส.เขตบ้างแล้ว เช่นสุพรรณบุรี ชัยนาท และบอกว่า “การฉีกเอ็มโอยูทำให้เราพลาดอะไรไป” โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชนต่างจังหวัดเรื่องสุราเสรีนี่ง่าย และสื่อสารกับชาวเมืองเรื่องสมรสเท่าเทียมก็ง่าย… ขณะที่พรรคก้าวไกลเองก็ต้องเดินเกมทำงานฝ่ายค้านในการลดความชอบธรรมของขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะเพื่อไทยนี่อาจข้ามขั้วเป็น “คู่แค้น”ไปด้วยก็ได้ และแน่นอนคือต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและยื่น ป.ป.ช.ยื่นศาลฎีกานักการเมืองถอดถอนถ้ามีเหตุ ซึ่งก้าวไกลเล่นแน่

พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียเก่ง ก็ทยอยโจมตีอะไรที่ “หมกเม็ด”ไปเรื่อยๆ อย่างก่อนตั้งรัฐบาลนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็เล่นเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกไปแล้ว  และชี้ให้เห็นว่า “รัฐบาลไร้น้ำยา” ( เพราะก้าวไกลไม่เป็นนายกฯและรัฐบาล ประเทศไทยก็มีอะไรเทาๆ หมกเม็ดเหมือนเดิม ) ชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของการจัดตั้งรัฐบาล  ..คืออาจเป็นฝ่ายค้านผสมแรงแค้นแบบ “เอาให้หนัก”แล้วเลือกตั้งเที่ยวหน้า ถ้าได้เสียงเกิน 250 เสียง ก็หมดบทเฉพาะกาล ใช้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกนายกฯ ก็เป็นรัฐบาลพรรคเดียวมันไปเลย

การเป็นรัฐบาลพรรคเดียวทำได้ แบบที่พรรคไทยรักไทยเคยทำมาแล้วที่เลือกตั้งทักษิณ 2 ได้ ส.ส.377 เสียง ปัญหาคือขณะนั้นรัฐบาลทักษิณทำผลงานด้านเศรษฐกิจ ช่วยปากท้องประชาชนดี แต่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่เน้นขายอุดมการณ์ เน้นการรื้อสร้างชุดความคิดจนกลายเป็นบุคลิกของพรรค ..ถ้าเพื่อไทยชิงทำผลงานดีๆ ในช่วง 4 ปี ( ถ้าไม่ยุบสภาเสียก่อน ) การที่ก้าวไกลจะได้เกิน 250 เสียงก็หืดจับ และปัญหาคือจะไปเอาพรรคไหนมาร่วมรัฐบาลไม่ให้เสียงปริ่ม

อีกแนวร่วมหนึ่ง คือการปลุกภาคประชาชนให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของการตั้งรัฐบาลที่ดีดก้าวไกลออก ทั้งที่มีการทำเอ็มโอยูไว้แล้ว และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีพลังเท่าการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงปี 53 หรือ กปปส.ปี 57 หรือไม่ ที่ปักหลักสู้ยาว แต่การแสดงออกของกลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกล อาจออกมาในเชิงการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นทางโซเชี่ยลฯ หรือการเคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์เป็นครั้งๆ ซึ่งก็ต้องระวังท่าทีไม่ให้เลยเถิดไปเหมือนการแสดงบทบาทของกลุ่มทะลุวัง ที่ทำคนอิดหนาระอาใจว่าเป็นพวกหัวก้าวร้าว

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ก็เตรียมสู้ศึกก้าวไกลดีๆ แล้วกัน ถ้ามันจบกันไม่สวยจริง

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”