อย่างไรก็ตาม “ปัญหาใหญ่” ปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยหยุดรอเรื่องการเมือง โดย “ลุกลามกระทบชีวิตไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ”อีกทั้งหากการเมืองไทยหวนกลับมามีสถานการณ์ที่ดีอย่างที่ควรต้องเป็นได้ช้า การแก้ปัญหาก็จะทำได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามไปด้วย… นั่นก็คือ “ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อน…

“โลกร้อน” นั้น “ก่อเกิดภัยธรรมชาติ”

แล้วก็ “ลามต่อเนื่องสู่ภัยด้านอาหาร”

แม้เมืองไทยจะเคยได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าว-อู่น้ำ” แต่ยุคนี้ “ปัญหาอาหาร-ปัญหาวิถีกินอยู่” ก็กำลัง“น่าเป็นห่วง!!” โดยวันนี้“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลศึกษาวิจัย โครงการ “การสร้างความสามารถของระบบอาหารชุมชนในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างไบโอเทค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast จากสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาจัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย”

เรื่องนี้“นโยบายระดับรัฐบาลนั้นสำคัญ”

“ข้อเสนอเชิงนโยบาย” จึง“ควรสนใจ!!”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนี้มีการศึกษาในพื้นที่ 2 ส่วน คือ “พื้นที่เมือง” พื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และนครปฐม กับ “พื้นที่ชนบท” โดยมีพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาจากน้ำท่วมอยู่เสมอ เป็นพื้นที่ในการศึกษา โดยมีเป้าหมายการศึกษาเพื่อ“สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารบนฐานความยั่งยืน” ให้กับประเทศไทย

การศึกษาเรื่องนี้… ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค ได้เผยไว้ โดยสังเขปมีว่า… ปัจจุบัน ระบบอาหารของไทยต้องเผชิญปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น และมีความเสี่ยงสูง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผนวกกับวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจ โควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ล้วน ส่งผลทำให้ “ระบบอาหารของไทยเปราะบาง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบอาหารท้องถิ่น” ซึ่งผู้อยู่ในระบบส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ยัง มีปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุน องค์ความรู้ ที่จำเป็น

ผู้เป็นกลไกในระบบอาหารยังมีปัญหา

ที่รวมถึงข้อมูลสำหรับใช้รับมือ “วิกฤติ”          

ด้าน กุลวรางค์ สุวรรณศรี นักวิจัยนโยบาย ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ไบโอเทค หัวหน้าโครงการดังกล่าว ระบุไว้ว่า…วัตถุประสงค์หลักของการศึกษานี้คือการทำความเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยี นวัตกรรม นโยบาย มาตรการ ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบอาหารท้องถิ่นที่ยั่งยืน และยังครอบคลุมถึงการศึกษา ช่องว่างด้านนโยบาย ที่จะเป็น อุปสรรคต่อการเสริมสร้างระบบอาหารยั่งยืน ให้ระบบอาหารท้องถิ่นไทย

“เป้าหมายที่ต้องการคือค้นหาแนวทาง กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่จะพัฒนาความสามารถของระบบอาหารท้องถิ่นของไทย เพื่อให้ผู้คนที่พึ่งพิงระบบอาหารท้องถิ่นเข้าถึงอาหารและโภชนาการได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะครัวเรือนไทยบางส่วนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งยังมีปัญหาจากการได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม” …หัวหน้าโครงการนี้ระบุ

และจากการศึกษา ก็ยังได้ชี้ไว้ถึง ช่องว่างที่ส่งผลต่อระบบอาหารท้องถิ่น ในปัจจุบัน ในประเด็นสำคัญ ๆ คือ… ด้านความสามารถในการปรับตัวที่แม้ว่าไทยจะมีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ แต่ก็ ยังขาดโครงสร้างกับแผนงานในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ, ด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งพบว่า งานวิจัยระดับพื้นที่ยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ไทย,  ด้านการสร้างความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร ยังพบว่า ความรู้ความสามารถของเกษตรกรไทยยังเป็นปัญหาหลักของการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ส่วนใหญ่ยังคงคุ้นเคยกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม

นี่คือ“ช่องว่างในระบบอาหารท้องถิ่น”

ที่ “ระดับนโยบายจะต้องมีการเติมเต็ม”

ทั้งนี้ หัวหน้าโครงการนี้ได้ระบุไว้ด้วยว่า…ทีมศึกษาวิจัยจะร่วมกันพัฒนา “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” เพื่อ ยกระดับความสามารถตั้งรับปรับตัวของระบบอาหารท้องถิ่น โดยเน้นการพัฒนา-ใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อผลักดันเป็น “นโยบายสำหรับการรับมือและการปรับตัวของระบบอาหารประเทศไทย” ต่อไป

“อาหารมั่นคงอย่างยั่งยืน” นี่ “สำคัญ!!”

“รัฐบาล” คือ “กลไกนโยบายสู่ปฏิบัติ”

แต่ก็ “ไม่รู้ว่าจะหวังกันได้เมื่อไหร่??”.