เรามีผู้ป่วยที่มีทวารเทียมในระบบบัตรทองประมาณ 5.4  หมื่นราย ถ้าดูผู้ป่วยทุกสิทธิทั่วประเทศ ไทยจะมีประมาณ 1.5 แสนราย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย ซึ่ง ปีรัฐมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ  2,250 ล้านบาท“ …นี่เป็นการเผยไว้โดย รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมีการทำ “ทวารเทียม” และก็ยึดโยงถึงการต้องใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย หรือ’อุปกรณ์รับของเสียจากลำไส้“ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละปีใช้งบประมาณรัฐไม่น้อยเลย

ไทยจึงมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ
ทั้งเพื่อผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวและกลุ่มอื่น ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ร่วมคณะที่นำโดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะผู้บริหาร สปสช. เขต 12 สงขลา ที่ลงพื้นที่ จ.สงขลา จ.ยะลา เยี่ยมชมการดำเนินงานของ รพ.สงขลานครินทร์ รพ.ยะลา ที่รวมถึงบริการผ่าตัดใส่ รากฟันเทียม และการจัดบริการสนับสนุนอุปกรณ์รองรับของเสียจากลำไส้ โดย 2 อุปกรณ์นี้เป็น ผลิตภัณฑ์บัญชีนวัตกรรมไทย ในชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยมี นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นพ.สสจ.ยะลา, พญ.นิตยา ภูวนานนท์ ผู้อำนวยการ รพ.ยะลา และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูล

ทั้งนี้ ทาง ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ให้ข้อมูลว่า… TCELS มีพันธกิจในการส่งเสริมผลักดันการต่อยอดผลงานวิจัย’นวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ“สู่เชิงพาณิชย์และการใช้งานจริง โดยในตลาดภาครัฐได้ผลักดันนวัตกรรมที่มีความพร้อมให้เข้าสู่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการติดตามผลของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เพื่อนำข้อมูลไปส่งเสริมการพัฒนายกระดับให้ผลิตภัณฑ์ไทยมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น แข่งขันกับผลิตภัณฑ์นำเข้าได้ และรับฟังเสียงผู้ใช้งานจริง เพื่อปรับแผนการกระจายผลิตภัณฑ์สู่โรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ให้บริการ กลุ่มผู้ดูแล และกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถเพิ่มความมั่นใจในการเริ่มใช้งานนวัตกรรมใหม่ ทำให้เกิดการยอมรับ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมนวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยต่อไป

สำหรับ “อุปกรณ์รองรับของเสียจากลำไส้“ นั้น รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ให้ข้อมูลอีกว่า… “ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่“ ที่จำเป็นต้อง “มีทวารเทียม“ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการผ่าตัดยกทวารเทียมเปลี่ยนทางเดินให้อุจจาระออกมาที่ผนังหน้าท้อง จึงมีของเสียออกมาได้ตลอด เนื่องจากไม่มีหูรูดเหมือนทวารหนัก จึง จำเป็น “ต้องใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย“ จากทวารเทียม โดยอุปกรณ์นี้จะประกอบด้วย แป้นติดผิวหนัง และถุงรองรับสิ่งขับถ่าย ซึ่ง ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญของการใช้อุปกรณ์นี้คือความขาดแคลน ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการชุดอุปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัด และมีราคาสูง เนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงยังมีประเด็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้อุปกรณ์ เช่น ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง การหลุดลอกของชุดอุปกรณ์ก่อนเวลาอันควร เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

“จากปัญหาดังกล่าวทีมผู้วิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมโดยใช้ยางพารา ซึ่งผลิตเองได้ในไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยได้พัฒนาชุดอุปกรณ์ให้มีรูปแบบที่เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องของคนไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ (Government Sector) ประจำปี 2563” …นี่เป็นอีกส่วนจากหลักใหญ่ใจความที่มีการเผยไว้โดย ผอ.สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ฯ ดังกล่าว และรวมถึง…

เดิมอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  100% ซึ่ง ผู้ป่วยรายหนึ่งต้องใช้ราว ชุด/เดือน ราคาเฉลี่ยชุดละ 250-300 บาทแต่อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายที่เราผลิตจากยางพารามีราคาอยู่ที่ 190 บาท หากผู้ป่วยในไทยทั้งหมดใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ใน ปีจะมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 1,710 ล้านบาท สามารถประหยัดงบลงได้ 540 ล้านบาท ลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางด้านเครื่องมือแพทย์ให้กับไทย”

ในส่วนของ สปสช. ทาง ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ ได้ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ที่ผ่านมา สปสชได้ให้ความสำคัญกับการใช้งานผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีรายการจัดซื้อหรืออนุมัติสิทธิประโยชน์ใดที่มีผลิตภัณฑ์จากบัญชีฯ ก็จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นก่อน ทั้งนี้เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสของผู้ผลิตให้ผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยผู้ป่วยแล้ว ก็ยังจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยโดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการเยี่ยมชมการใช้ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมฯ 2 ชนิด

ชุดอุปกรณ์รองรับของเสียจากลำไส้ และรากฟันเทียม มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ปฏิบัติงาน นำฟีดแบ็กสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้น“…ทาง ทพ.อรรถพร ระบุ ทั้งนี้สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็มีผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ได้ร่วมให้ข้อมูลความคิดเห็นอีกส่วนหนึ่งด้วย…

นี่เป็น “เรื่องดี…ที่น่าติดตามการพัฒนา“
ไทยทำ “นวัตกรรมการแพทย์-สุขภาพ“
และ “ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองก็ได้ใช้งาน“.