การดูแลเด็กเล็ก ๆ อายุ 3 เดือนจนถึง 3 ขวบ เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก เรียกว่ากลับบ้านไปแทบจะหมดแรง หมดพลัง แต่ก็มีความสุขที่ได้ดูแลพวกเขา และจะยิ่งภูมิใจที่เราได้เห็นพวกเขาเติบโตขึ้นมาอย่างมีพัฒนาการที่ดี เป็น “เสียงจากใจ” ของหนึ่งใน “ครูพี่เลี้ยงเด็กเล็ก”  กับภารกิจสำคัญในการดูแลเหล่าน้อง ๆ หนู ๆ ที่บทบาทครูเด็กเล็กกลุ่มนี้นั้นมิได้เป็นเพียงแค่ครูเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงด้วย ซึ่งภารกิจนี้ทั้งเหนื่อยทั้งหนัก แต่ทำไมคุณครูเหล่านี้จึง “เลือกที่จะทำภารกิจนี้อย่างเต็มใจ” และการทำหน้าที่ในภารกิจนี้ “ต้องมีคุณสมบัติเช่นไร??” วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปเจาะลึก…

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมวิถีชีวิตมีโอกาสเดินทางร่วมคณะ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สถานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย และ สวนสุทธาเวช โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ โครงการนมแม่ อาหารตามวัยและการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 2 สถานที่ดังกล่าวนี้เป็น “Day care รับดูแลเด็กเล็ก ๆ อายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 3 ขวบ โดยทั้ง 2 แห่งเป็นพื้นที่ ต้นแบบการดูแลเด็กเล็ก โดยมีการเน้นที่เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ซึ่งจากการไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย ทีมวิถีชีวิต ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ครูพี่เลี้ยงเด็กเล็ก ซึ่งยิ่งทำให้ตระหนักว่า กลุ่มคนที่ทำอาชีพนี้จะต้อง ใช้หัวใจทำงาน เพราะภารกิจนี้ไม่ง่าย อีกทั้งค่าตอบแทนหรือรายได้ก็ไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ทั้งหนักและยาก

ครูสุ-สุนิสา โสภาอุทก

ลองมาฟังเสียงจากครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กกลุ่มนี้เริ่มจากคุณครูท่านแรกที่เราได้สนทนาด้วย เธอชื่อ ครูสุ-สุนิสา โสภาอุทก” ครูพี่เลี้ยงประจำสวนสุทธาเวช โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้เล่าว่า เข้าทำงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ โดยเธอเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาเอกปฐมวัย ซึ่งเธอบอกว่าหลักสูตรครูปฐมวัยที่เรียนนั้นก็ไม่ได้สอนการ ดูแลเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ โดยตรง แต่จะสอนการดูแลพื้นฐานทั่วไป ที่สำคัญในทางปฏิบัติจริงนั้นก็ไม่มีสถานที่ให้ฝึกงานด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีแต่ศูนย์พัฒนาเด็กที่มีอายุราว 3 ขวบขึ้นไป ศูนย์ดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบลงมาจะมีจำนวนน้อยมาก ๆ โดยครูสุได้อธิบายว่า การดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ครู “ต้องมีใจรักเด็ก” เป็นหลักสำคัญ เพราะด้วยเรื่องของเงินเดือนที่ไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับหน้าที่รับผิดชอบ เพราะการดูแลเด็กเล็ก ๆ ช่วงวัยแบบนี้ เรียกได้ว่า “แทบไม่มีเวลาพัก” แม้แต่ตอนเด็กนอน ครูก็ไม่ได้พัก เพราะต้องมานั่งพูดคุยกันและเช็กพัฒนาการของเด็กแต่ละคนว่า เด็กคนใดมีปัญหาอะไร เพื่อหาแนวทางดูแล และนอกจากต้องมีใจรักแล้ว ยัง “ต้องได้แรงเสริมจากครอบครัว” ด้วย

แรก ๆ ที่เข้ามารับหน้าที่ครูพี่เลี้ยงเด็กเล็ก ยอมรับว่ากดดันมาก โดยเฉพาะจากครอบครัว เราเรียนจบครูมา ได้เกียรตินิยม พ่อแม่ก็คาดหวังมากว่าอยากให้เราสอบครูเข้ารับราชการ แต่ตอนที่ตัดสินใจมาทำงานที่นี่ พ่อแม่ก็ถามว่าทำไมแค่เป็นพี่เลี้ยงเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ลูกคนอื่น ครูสุกล่าว พร้อมเล่าต่ออีกว่า แต่เธอก็ได้ใช้เวลา 1 ปีในการพิสูจน์ให้ทางบ้านเห็นว่า งานนี้ไม่ใช่แค่พี่เลี้ยงเด็ก และมีวันหนึ่งที่เธอมีโอกาสเชิญคุณพ่อของเธอมาทำประตูกั้นให้เด็ก ๆ ซึ่งเมื่อคุณพ่อได้เห็นเด็ก ๆ ที่เธอดูแลเดินเตาะแตะเข้ามาหา พร้อมกับพูดว่า สวัสดีค่ะคุณตา“ ’สวัสดีครับคุณตา และยิ่งเห็นว่าเด็ก ๆ ที่เธอดูแลนั้นเก่งและฉลาดมาก จากนั้นคุณพ่อก็เชื่อมั่นในตัวเธอมากขึ้น จนหลัง ๆ เป็นคุณพ่อที่คอยให้กำลังใจเธอตลอด และทำให้จากที่คุณพ่อไม่เล่นโซเชียลฯ ก็เริ่มหัดเล่น เพื่อจะติดตามส่องดูเธอจากโพสต์กิจกรรม ซึ่งหากนาน ๆ แล้วที่เธอไม่ได้มีการโพสต์อะไรใหม่ ๆ คุณพ่อก็จะโทรศัพท์สอบถาม จะถามว่าเหนื่อยไหม เพื่อให้กำลังใจ และคอยให้คำแนะนำเธอตลอด

เป็นหัวไชเท้าให้เด็ก ๆ คุณครูก็เป็นได้

ยอมรับว่าดูแลเด็กเล็กนี่เหนื่อยมาก แต่ในความเหนื่อยก็ทำให้เรายิ้มได้ตลอดเช่นกัน เพราะเรามีความสุขที่ได้ดูแลเขา แม้การดูแลเด็กบางทีเราเองก็จะมีการเจ็บเนื้อเจ็บตัว หรือปวดเมื่อยเนื้อตัว จนวันรุ่งขึ้นแทบไม่อยากลุกไปทำงาน แต่พอได้นึกถึงหน้าเด็ก ๆ ที่เราดูแล ก็ทำให้เรามีกำลังใจมีแรงกลับมาทุก ๆ ครั้ง ทางครูสุกล่าว พร้อมเผยความรู้สึกในการทำหน้าที่นี้ให้ฟังเพิ่มเติมว่า เรื่องความเครียด ทุกคนต้องมี เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว คนเราเป็นนางฟ้าไม่ได้ตลอดเวลา แต่เป็นครูก็ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ ซึ่งถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ใช้วิธีเดินออกห่างจากเด็ก ให้เพื่อนครูคนอื่นเข้าดูแลต่อ เพื่อจะออกไปจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เพราะเด็กไม่ได้ผิดอะไร เป็นไปตามธรรมชาติของช่วงวัยของเขา

มีครั้งหนึ่ง เหนื่อยมากบวกกับไม่สบายด้วย แต่ไม่สามารถลางานได้ ก็มาในสภาพร่อแร่ (หัวเราะ) ซึ่งระหว่างที่เรานั่งท้ออยู่ ก็มีเด็กมาจับมือของเรา และทั้ง ๆ ที่เด็กคนนี้ก็ยังพูดไม่ชัด แต่เขามาจับมือเราแล้วเขาพูดว่ายิ้มหน่อย เราก็ถึงกับน้ำตาคลอ ซึ่งวันนั้นเราไม่มีรอยยิ้มเลย พอได้ยินเท่านั้น ก็ทำให้เรามีกำลังใจขึ้น ตั้งแต่วันนั้นก็ใช้ตรงนั้นมาเตือนสติตัวเอง
ทางครูสุสุนิสา โสภาอุทกเล่าโมเมนต์ประทับใจ และยังฉายภาพให้เราเห็น โลกของเด็กเล็ก ด้วยว่า จากเหตุการณ์นั้น ทำให้ยิ่งรับรู้ว่าเด็กวัยตั้งแต่ 3 เดือนจนถึงอายุ 3 ขวบ ก็เป็นช่วงวัยที่เด็กสามารถรับรู้ได้ทุกอย่าง แถมยังเรียนรู้ไวมาก ฉะนั้นการดูแลเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 3 ขวบ จึงเป็นงานสำคัญและจำเป็นมาก ซึ่งจากที่สังเกตนั้นเด็ก ๆ ที่เข้ามาที่ศูนย์ตอน 2 ขวบขึ้นมาใกล้ 3 ขวบ จะเริ่มฝึกอะไร ๆ ได้ยากมาก แต่ถ้าดูแลมาตั้งแต่ 3 เดือน จะสอนหรือฝึกง่ายกว่า

ครูดา-ชันณิชา ดีสม

ต่อด้วยเสียงจากคุณครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กอีกคน คือ ครูดาชันณิชา ดีสม ซึ่งทำหน้าที่อยู่ที่สวนสุทธาเวชเช่นกัน รวมถึงคุณครูยังมีหน้าที่ดูแลเรื่องโภชนาการของเด็ก ๆ อีกด้วย ก็ได้เล่าให้ ทีมวิถีชีวิต ฟังว่า เธอก็เป็นครูที่นี่มาตั้งแต่ศูนย์แห่งนี้เปิด โดยเรียนจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ ซึ่งตอนแรกที่มาทำงาน จริง ๆ เธอจะเข้ามาเป็นครูด้านโภชนาการ คอยดูแลเรื่องอาหารให้เด็ก ๆ แต่ก็ได้รับหน้าที่ดูแลเด็กด้วย ซึ่งจะดูแลเด็ก ๆ กลุ่มที่มีอาการแพ้อาหารเป็นพิเศษ

เราเลือกทำงานนี้เพราะชอบเด็ก ตอนแรกเราเคยทำงานเป็นนักวิชาการโภชนาการของโรงพยาบาล ซึ่งพอตรงนี้เปิด เราก็ขอมาอยู่ แต่ด้วยความที่ไม่ได้เรียนจบด้านครูปฐมวัย ในช่วงแรก ๆ ก็ต้องเริ่มเรียนรู้การดูแลเด็ก ว่าเด็กมีพัฒนาการยังไง นอกจากนั้นก็ต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมอาหารตามวัยครูดากล่าว  

คุณครูดูแลตั้งแต่การกินดื่มจนถึงกิจกรรมด้านบันเทิง

พร้อมเล่าอีกว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการดูแลเด็กเล็กสำหรับมุมมองของครูดาก็คือ การค้นหาตัวตนของเด็กที่ดูแล ที่เติบโตไปตามวัย สิ่งแรกที่ครูต้องทำคือ ค้นหาตัวตนของเด็ก เพื่อให้รู้ว่าต้องเริ่มต้นสอนอย่างไร ซึ่งเด็กทุกคนมีศักยภาพ ครูก็มีหน้าที่คือต้องค้นหาศักยภาพนั้นให้เจอแล้วนำมาพัฒนา อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่างานนี้เลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้งต้องเจอเด็กบางรายที่งอแง หรือดื้อ ก็ยิ่งทำให้ต้องรู้จักสังเกต เช่น ที่เด็กงอแงอาจจะเพราะหิว ง่วง หรือไม่สบายตัว แต่ไม่สามารถบอกหรือพูดเองได้ ครูจึงต้องสังเกต และต้องสงบอารมณ์ตัวเองให้ได้ เพราะเด็กบางคนก็ร้องไห้หนักมาก เรียกว่าทำยังไงก็ไม่หยุด ซึ่งถ้าหากเจอเด็กที่เอาไม่อยู่จริง ๆ ก็จะพูดคุยกับเพื่อนครู เพื่อปรึกษาหาทางออกในการสอนในการฝึกเด็กคนนั้น

จะอารมณ์ไม่ดีมาจากไหนยังไง พอมาที่ศูนย์ดูแลเด็กเราต้องทิ้งไป และปรับโหมดเข้าสู่ความพร้อมดูแลเด็ก ยอมรับเลยว่าการดูแลเด็กเล็กต้องใช้พลังเยอะมาก (เสียงสูง) แต่ละวันกลับบ้านไปแทบหมดพลัง แต่ถึงเด็กจะทำให้เราพลังหมด เขาก็ชาร์จพลังให้เราด้วยเช่นกัน ยิ่งเวลาที่เขามองเราด้วยความรัก หรือเราสอนแล้วเขาทำตามได้ นั่นก็ทำให้หายเหนื่อย มีแรงที่จะสอนหรือฝึกเขาต่อไป ทางครูดาชันณิชา ดีสม เล่าด้วยแววตาเป็นประกาย

ครูหนูเล็ก-สุพรรษา นิลกำแหง

ทางด้าน ครูหนูเล็ก-สุพรรษา นิลกำแหง” ครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กประจำสถานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นเล่าว่า เป็นครูพี่เลี้ยงเด็กเล็กมาได้เกือบ 2 ปี โดยเธอเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาการศึกษาปฐมวัย และเริ่มทำงานที่ศูนย์ดูแลเด็กเล็กของเอกชนมาก่อน ก่อนที่จะมาสอบเป็นครูพี่เลี้ยงได้ประจำอยู่ที่ศูนย์อนามัยที่ 7 แห่งนี้ โดยคุณครูท่านนี้บอกว่า การดูแลเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 3 ขวบ แม้จะเป็นวัยที่งอแงมาก แต่ก็จะรู้ว่าต้องจัดการอย่างไร เมื่อรู้ว่าเด็กเขางอแงเพราะอะไร ซึ่งเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ ครูก็จะต้องนิ่งรอ จะใช้อารมณ์ไม่ได้ เพราะหากใช้อารมณ์ เด็กจะกลัวและไม่กล้ามาเรียน แต่บางครั้งก็ต้องมีการดุบ้าง หากไม่เชื่อฟัง แต่ห้ามดุโดยใช้อารมณ์เด็ดขาด จะต้องเป็นแบบสอนให้เด็กรับรู้

อีกสิ่งที่ต้องระวังมาก ๆ คือเวลาที่เด็กเล่นกัน ครูต้องหูไวตาไว เพราะเด็กวัยนี้เขายังไม่รู้จักแรงตัวเอง เราก็ต้องระแวดระวัง บางทีเขาก็เล่นแรง ๆ แบบไม่ตั้งใจกับเพื่อน ถามว่าเครียดมั้ยต้องดูแลเด็กเล็ก ๆ แบบนี้ ตอบเลยว่าไม่เคยเครียดกับเด็ก ๆ เลย แต่จะเครียดกับผู้ปกครองมากกว่า เพราะผู้ปกครองมีความต้องการไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เครียดมาก เพราะสามารถอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ทาง ครูหนูเล็กสุพรรษา นิลกำแหง บอกเรา

ทั้งนี้ การสนทนากับ คุณครูพี่เลี้ยงเด็กเล็ก กลุ่มนี้ถึง ภารกิจมิสชั่น ทุกคนต่างย้ำกับ ทีมวิถีชีวิต ไว้คล้าย ๆ กันว่า… ที่ยังทำหน้าที่นี้ ยังสู้กับภารกิจที่หนักนี้ได้ เพราะ ยึดเด็กเป็นหัวใจ ดังนั้น เวลาที่ดูแลเด็ก ๆ ครูทุกคนก็จะพยายามทำให้เด็กรู้สึกไว้ใจและรู้สึกปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้… จะพยายามทำให้เด็ก ๆ เขาเกิดความรู้สึกอบอุ่น

ให้เหมือนเวลาที่เขาอยู่กับพ่อแม่“.

‘ช่วงวัย’ แห่งความ ‘มหัศจรรย์’

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร

’ช่วงวัยแห่งความมหัศจรรย์“ …นี่เป็นการระบุถึง ’เด็กช่วงวัย 3 ขวบปีแรก“โดยผู้สันทัดกรณี คือ “ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร” ประธานคณะกรรมการสวนเด็กสุทธาเวช ซึ่งก็มีการขยายความไว้ว่า… ช่วงวัยของเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงอายุ 3 ขวบปีแรก เป็นช่วงชีวิตเริ่มต้นที่มีความสำคัญมากต่ออนาคตเด็กเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จึงเรียกว่าเป็น “ช่วงวัยมหัศจรรย์” โดยเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองเด็กมีการเจริญเติบโตสูง โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมอง… ’เด็ก ๆ จะมีจิตวิทยาพัฒนาการที่สำคัญคือการสร้างตัวตน ซึ่งจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ที่อายุประมาณ 3 ปี“ …ทาง “ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร” ระบุ และด้วยเหตุนี้นี่เองจึงมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กช่วงวัยนี้ด้วย “นมแม่” รวมถึงการสร้าง “กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม-มีคุณภาพ” โดยทาง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ กรมอนามัย แพทย์ พยาบาล มหาวิทยาลัย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กผ่านทาง “สถานพัฒนาเด็ก” หรือ “Day care” เพื่อ “เด็กเล็ก” อายุ 3 เดือนถึง 3 ขวบ ที่เป็นอีกเรื่องน่าสนใจและน่าติดตามความคืบหน้าการต่อยอด.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน