ซึ่งในกัญชานั้นมีสารที่เรียกว่า canabinoid มากกว่า 100 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ Tetrahydrocannabinol (THC) ที่เป็นสารกลุ่ม canabinoid ตัวที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทสูง และสารอีกชนิดที่สำคัญในกัญชาอีกตัว คือ cannabidiol (CBD)

สุนัขและแมวได้รับภาวะพิษได้อย่างไร?

สุนัขและแมวสามารถได้รับภาวะพิษของกัญชาได้หลายวิธี โดยวิธีที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือทางการกิน เช่น กินอาหารหรือขนมที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ หรือกินกัญชาเข้าไปโดยตรง อีกวิธีที่พบบ่อยคือการสูดดมควันเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจเช่น อยู่ในสถานที่ที่มีคนสูบกัญชา โดยสุนัขมีความไวต่อสารที่อยู่ในกัญชามากกว่ามนุษย์อย่างพวกเรา จึงทำให้ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากกว่า ดังนั้น แม้เพียงกัญชานิดเดียวก็ง่ายที่จะก่อให้เกิดภาวะพิษได้ในสุนัขและแมว

สัตว์เลี้ยงจะมีอาการอย่างไรหากได้รับพิษของกัญชา?

ส่วนมากอาการที่เกิดขึ้นมักจะเป็นอาการทางระบบประสาท สัตว์อาจมีภาวะเดินเซ ตื่นตัวมากผิดปกติ หรือซึมมากผิดปกติ งุนงงสับสน บางตัวร้องหรือเห่าไม่หยุด อาจพบว่ารูม่านตาขยาย น้ำลายไหลยืด หรืออาเจียน ในกรณีที่รุนแรงอาจพบภาวะชักหรืออยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้ ส่วนอาการทางกายภาพที่สามารถพบได้คือ หัวใจอาจเต้นเร็วขึ้นหรือช้าลงก็ได้ อัตราการหายใจช้าลง มีภาวะอ่อนแรง และอุณภูมิของร่างกายสูงหรือต่ำกว่าปกติ

วิธีการวินิจฉัยว่าสัตว์เลี้ยงได้รับพิษของกัญชาทำได้อย่างไร?

การวินิจฉัยมักทำได้โดยดูอาการของสุนัขและแมว และซักประวัติเพิ่มเติมจากเจ้าของเป็นหลัก แม้ว่าจะสามารถตรวจระดับของสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ที่พบในกัญชาจากปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงได้ หากแต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะทราบผล วิธีนี้จึงอาจไม่ใช่วิธีวินิจฉัยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนักในทางปฏิบัติ ดังนั้นการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็วจึงต้องอาศัยข้อมูลจากเจ้าของ ว่าสัตว์เลี้ยงมีประวัติสัมผัสมีโอกาสได้รับสารแปลกปลอมหรือมีการใช้กัญชาที่บ้านหรือไม่

วิธีการรักษาหากสุนัขและแมวได้รับภาวะพิษจากกัญชาทำได้อย่างไร?

เมื่อได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทางการกิน อย่างแรกที่ควรทำคือนำสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา เช่น การกระตุ้นอาเจียน แต่อย่างไรก็ตามการกระตุ้นอาเจียนต้องคำนึงด้วยว่าระยะเวลาตั้งแต่สุนัขและแมวได้กินกัญชาหรือสารที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไป จนกระทั่งมาพบสัตวแพทย์ สารนั้นอาจได้ถูกดูดซึมเข้าทางกระแสเลือดเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการกระตุ้นอาเจียนอาจไม่เกิดประโยชน์ และในขณะเดียวกันกัญชามีฤทธิ์ต้านการอาเจียน ดังนั้นการกระตุ้นอาเจียนอาจไม่เป็นผล จึงอาจต้องล้างท้องในกรณีที่การกระตุ้นอาเจียนทำไม่สำเร็จ ดังนั้นผงถ่านจึงถูกนำมาใช้เพื่อลดการดูดซึม และให้ซ้ำในทุก 6-8 ชั่วโมง แต่หากกัญชาได้ถูกดูดซึมเข้าทางกระแสเลือดแล้ว การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการของสัตว์เป็นหลัก เช่น สัตว์บางตัวอาจมีอาการอ่อนแรง ไม่อยากทานน้ำหรืออาหาร การให้สารน้ำเข้าทางเส้นเลือดก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้เพื่อลดภาวะแห้งน้ำ เพื่อรักษาความดันเลือด และเพื่อเพิ่มการขับสารออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังควรจัดสภาพแวดล้อมที่สัตว์อยู่ให้เหมาะสม เช่น เป็นพื้นที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันสุนัขหรือแมวที่มีอาการทางระบบประสาทภายใต้ฤทธิ์ของกัญชาจะวิ่งออกไปและสร้างความบาดเจ็บให้กับตัวเองได้ นอกจากนี้ยังควรเป็นสถานที่เงียบสงบ เพื่อลดสิ่งเร้าที่จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการทางระบบประสาทที่เกิดภายใต้ฤทธิ์กัญชาแย่ลงได้

สัตว์มีความไวต่อฤทธิ์ของกัญชามากกว่ามนุษย์ การใช้กัญชาในสัตว์ที่ป่วยจึงควรอยู่ภายใต้การแนะนำของสัตวแพทย์ เจ้าของไม่ควรใช้กัญชากับสัตว์เลี้ยงของตัวด้วยตัวเอง นอกจากนี้ต้องมีความระมัดระวังหากมีการใช้กัญชาในบ้าน โดยควรเก็บในที่ที่มิดชิดหรือใช้ในสถานที่ปิด เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าถึง เลีย กิน หรือสูดดมควันเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่หากสัตว์เลี้ยงได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกายเข้าไปแล้วไม่ว่าทางการกินหรือทางการสูดดม แนะนำให้เจ้าของรีบนำสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อประเมินอาการและรักษาต่อไปในอนาคต.

สพญ.พิชญา มโนชญากร
สัตวแพทย์ประจำแผนกฉุกเฉินและหออภิบาลสัตว์ป่วยวิกฤติ
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย