ตอนนี้ เชื่อว่า “หลายคนหัวร้อนเรื่องการเมือง” เนื่องจากกระบวนการตั้งนายกฯ ทำไมมันยุ่งยากยาวนาน พร่ำพูดเงื่อนไขเรื่องไม่เอาพรรคที่สนับสนุนแก้ไข ม.112 อยู่นั่นแหละ คือเบื้องต้นอยากขอเรียนให้ทราบว่า “เรื่องแก้ ม.112 ไม่ใช่เอ็มโอยูของ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล” เสนอไปลงมติในสภาฯ อาจไม่ผ่านก็ได้ จะเอามติวิปไปบังคับก็เห็นทีพรรคร่วมบางพรรคก็อาจไม่ยอม ..ซึ่งการเอาเรื่อง 112 มาอ้าง ลองคิดอีกมุมไหมว่า “เป็นการดึงสถาบันมาเป็นชนวนความขัดแย้ง” คือใช้อ้างเพื่อไม่ให้การโหวตนายกฯ เป็นไปได้

และถ้าดำเนินการแก้ไข ม.112 จริง ก้าวไกลห้าวจะแก้ ตอนนั้นใครเดือดร้อนก็ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญขัด ม.49 ก็ได้ แต่ไม่ใช่ถ่วงเวลาไปเรื่อย รัฐบาลรักษาการลากยาว ให้เขาได้มีโอกาสบริหารและปฏิรูปอะไรต่างๆ ตามความตั้งใจของเขาก่อน อย่ามาพูดแค่ว่าต้องปกป้อง ม.112 ยิ่งชีพจนกระทั่งไม่คิดถึงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน …อย่าให้ถึงกับต้องพูดกันว่าจะอดตายกันทั้งแผ่นดินเพราะห่วง ม.112 เลย ..ถ้ามีปัญหาเรื่อง ม.112 ก็ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างที่บอกแล้วว่ามันมีช่อง ๆๆ ไม่รู้จะต้องกรอกหูทั่นผู้ทรงเกียรติทั้งหลายกี่ครั้ง หรือเอาจริงอ้าง 112 แบบรักชาติน้ำลายสอ แต่จริงๆ ปกป้องผลประโยชน์ให้นายทุน แบบนั้นหรือไม่ ?

คนหัวร้อนกับการต้องได้รัฐบาลใหม่มาทำงานแล้ว โดยเฉพาะกองเชียร์ก้าวไกล ที่อ้าง 14 ล้านเสียงโหวตผ่านระบบปาร์ตี้ลิสต์  เขาอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารงาน และเห็นว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลผลงานดีในฐานะฝ่ายค้าน มีกฎหมายปฏิรูปแก้ไขปัญหาในกองทัพ แก้ปัญหาการผูกขาดทางธุรกิจ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม แต่กระบวนการขัดขวางมีมากเหลือเกิน อุณหภูมิหัวร้อนคนก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดา …ตอนนี้เรียกว่า ด้อมส้มนี่ปกป้องพรรคก้าวไกลสุดฤทธิ์แบบใครแตะไม่ได้ พร้อมพาทัวร์ไปลง เช่น ที่ประกาศโจมตีกิจการของ ส.ว. หรือประกาศว่า ถ้าเป็น ส.ว.หรือ กกต.( ในฐานะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็น ส.ส.ของนายพิธา ) มา จะไม่ให้บริการ

แล้วล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็รับวินิจฉัยเรื่องนายพิธาถือหุ้นไอทีวีจะขัดคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ และให้สั่งพักงาน ส.ส.ไว้ก่อน ..ซึ่งถ้าที่สุดแล้วมีมติว่า นายพิธาขาดคุณสมบัติ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3 ) ก็ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ ด้วย เพราะคุณสมบัติรัฐมนตรีมันล้อกับคุณสมบัติ ส.ส. ..ถึงแม้ว่าตอนนี้จะโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ได้ แต่ถ้าถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ก็คือจบ ต้องตั้ง ครม.ใหม่ จากแคนดิเดตของเพื่อไทย

เรื่องหุ้นไอทีวีนั้น นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 7 พรรคภูมิใจไทย ก็ถือหุ้นไอทีวี 40,000 หุ้น โดยนายจักกฤษณ์ให้สัมภาษณ์ว่าได้ยกหุ้นตัวนี้ออกไปให้กับลูกพี่ลูกน้อง ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว ก่อนที่จะ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ปี 2562 ส่วนที่เหตุใดยังมีอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งกับ ป.ป.ช. นั้น ต้องเข้าใจว่าหุ้นไอทีวีหยุดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ถูกยกเลิกสัมปทาน ปี 2561 จึงทำสัญญา ยกหุ้นให้ลูกพี่ลูกน้องก่อนการเลือกตั้ง เพราะเราไม่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้   จะเห็นชัดเจนว่าหุ้นไอทีวีจำนวน 40,000 หุ้นนั้นไม่มีมูลค่า เพราะไม่มีการซื้อขายและที่สำคัญที่สุด หุ้น ก็คือ สังหาริมทรัพย์  สามารถทำหนังสือยกให้ ซึ่งก็ถือว่ามีผลสมบูรณ์แล้ว หากมีใครไปร้องก็พร้อมชี้แจง

ตรงนี้ก็อาจมีการตีความเป็นคุณกับนายพิธา ว่า ไอทีวีมันไม่มีมูลค่า .. แต่ก็ไม่รู้ว่า ทางขั้วตรงข้ามเขาจะยอม “เสียเบี้ยเอาขุน” หรือไม่ คือถ้าใครยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็สอยนายจักรกฤษณ์ไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกับนายพิธา ไม่ให้องค์กรอิสระถูกครหา แต่ก็ไม่รู้ว่าถึงเวลาจริงของนายพิธาจะมีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษอีกหรือไม่

พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง ตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียที หลายคนเขามองว่า “เป็นกลไกที่บิดเบี้ยว”  แล้วพรรคเพื่อไทยก็ออกอาการ “มีพิรุธ”หลายอย่าง เช่น การแย่งชิงเก้าอี้ประธานรัฐสภา การที่โยนให้พรรคก้าวไกลไปหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 376 เอง .. ทำให้ด้อมส้มก็ไม่พอใจพรรคเพื่อไทยอยู่

แล้วก็เกิดเหตุการณ์นายแสนปิติ สิทธิพันธุ์ หรือแสนดี บุตรชายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ไอจีสตอรี่ในเชิงวิจารณ์พรรคก้าวไกลอย่าง..ค่อนข้างรุนแรง คราวนี้ทัวร์ด้อมส้มไปลงจนแสนดีต้องโพสต์คลิปขอโทษทั้งน้ำตา และเขียนขอโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่านายชัชชาติวางตัวดีที่บอกว่า “ลูกอายุ 23 แล้ว ไม่ใช่เด็กแล้ว พูดอะไรก็ต้องรับผลที่ตามมา”  ซึ่งแสนดีก็คงภูมิคุ้มกันไม่ดีเหมือนนางแบกเพื่อไทย เจอทัวร์ลงครั้งแรกก็คงเสียใจไปเลยเพราะโดนบูลลี่เรื่องความพิการ และบูลลี่ลามไปถึงพ่อว่า “ไอ้ลูกคิงคอง”

ด้วยภาษาที่แสนดีใช้ มันก็มีความแรงในระดับหนึ่งในการวิพากษ์พรรคก้าวไกลและด้อมส้ม แต่เอาจริง “การโจมตีทางการเมือง” เป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองมีส่วนผสมทั้งอุดมการณ์และผลประโยชน์ ปัญหาคือแสนดีพูดผิดเวลา ก่อนเลือกตั้ง เขาคงไม่โดนยำเละขนาดนี้

ประวัติ แสนดี แสนปิติ สิทธิพันธุ์ พร้อมเปิดวาร์ป IG

แต่เมื่อมาพูดตอนนี้ ที่ต่างก็อยากให้เพื่อไทยและก้าวไกลเป็นทีมเดียวกัน การโพสต์ลักษณะนั้นเรียกทัวร์ลงอย่างมาก แสนดีเหมือนจะเป็นผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย บ้างก็ตีความไปขนาดว่าเพื่อไทยพร้อมฉีก mou ..ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ค่อยๆ แบไต๋ว่า ถ้านายพิธาไปไม่รอด เพื่อไทยตั้งรัฐบาล อาจจะต้องแก้ mou โดยดึงพรรคที่ 9, 10 มาร่วมโหวต แม้ต่อมา นพ.ชลน่านบอกทำนองว่าเป็นการสื่อความที่ยังไม่ครบถ้วน จริงๆ แล้วเพื่อไทยก็ต้องฟังเสียง 8 พรรค แต่มันก็ทำให้หลายคนกลัวว่า จะผลักพรรคก้าวไกลออกจากสูตรรัฐบาล

แล้วพรรคที่เอามาแล้วปลอดภัย คือเสียงถึงแน่นอน คือพรรคภูมิใจไทย  เพราะเสียงถึง 70  กับพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) เพราะบารมีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ น่าจะดีลกับ ส.ว.ได้ ..แถมอย่างที่บอกคือเรื่องแก้ ม.112 มันไม่อยู่ในเอ็มโอยู เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลเสนอเอง   

อย่างไรก็ตาม จากกรณีแสนดี มันชี้ให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ความเป็นด้อม ( ว่ากันว่าย่อมาจาก fanclub kingdom ) มีการใช้อารมณ์เหนือเหตุผลและวุฒิภาวะอยู่พอสมควร จากการที่พอคิดไม่เหมือนแล้วเอาทัวร์ไปลง  ทั้งที่การแข่งขันทางการเมืองโดยด้อยค่าคู่แข่งนี้ขอย้ำว่า ธรรมดามากๆ  แสนดีก็มีสิทธิมีความเห็นมันเป็น freedom of speech  ..การใช้อารมณ์เหนือเหตุผลที่น่าจะเห็นได้ส่วนหนึ่ง คือ กรณีเด็กสิบขวบที่ขึ้นไปพูดบนเวทีก้าวไกลที่เซนทรัลเวิลด์แบบหยาบๆ ..แต่ด้อมกลับไม่คิดว่ามันแรง ควรห้ามปรามกว่าแสนดีอีก ..เผลอๆ เด็ก 10 ขวบที่ว่าผู้ปกครองยัดปากให้พูดไหมไม่รู้ ทั้งที่สิ่งที่ควร เด็กวัยขนาดนี้ ค่อยๆ สอนให้รู้จักและเล่นการเมืองสร้างสรรค์ มีคลาส มีอุดมการณ์ได้แบบไอติม นายพริษฐ วัชรสินธุ  ไม่ใช่ให้โตมานิยมความรุนแรงแบบม็อบทะลุอะไรต่างๆ ที่จะเอาหลักกูมาป่วนไปทั่ว แล้วอ้างถูกกดทับ

แต่คำว่า ถูกดทับ ก็เป็นสิ่งที่เมื่อเห็นสภาพการเมืองวันนี้แล้ว พอฟังได้ บางคนคือดูแล้วท่าจะพูดดีๆ ด้วยไม่ได้ก็ชวนให้ปรี๊ดแตกใส่อยู่ … ถ้าเราต้องการการเมืองแบบมีคลาส มีอุดมการณ์..เบื้องต้น “players ในแวดวงการเมืองต้องเคารพหลักการก่อน” ดังนั้น เมื่อก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ก็ให้นายเป็นนายกฯไป ให้เขาทำงานก่อนแล้วด่า ไม่ใช่ด่ารอไปก่อน ดักโน่นดักนี่จนกลายเป็นการกลั่นแกล้งแบบเห็นชัด ..ประชาชนเขาก็เห็นว่าไม่เคารพเสียงเขา

พอเกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงขึ้นมาสักที ก็จะตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาศึกษาเหตุแห่งความรุนแรง มีข้อเสนอปรองดองแบบขอไปที จบที่ทำรายงาน 1 เล่ม เสร็จโยนไว้ในลิ้นชัก ไม่มีการเอามาใช้ประโยชน์อะไร ประเทศนี้ชอบตั้งกรรมการศึกษาเรื่องปรองดองกันเหลือเกินเจ้าประคุณเอ๋ย อยากทราบจริงๆ ว่า ที่ผ่านมาเสียเบี้ยประชุมไปกี่ร้อยล้านแล้วสำหรับเอาพวกหน้าเดิมๆ มาศึกษาแผนปรองดอง ปฏิรูป  ทั้งที่จริงๆ “แค่เคารพหลักการ” ความรุนแรงมันก็ไม่ถูกจุดชนวนขึ้นมาให้มีปัญหา และทำให้ทุกอย่างชะงัก

สำหรับความเครียด หัวร้อนจากการเมือง พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เห็นว่า  ความสนใจการเมืองเป็นเรื่องดี สะท้อนสังคมไทยก้าวหน้าในเรื่องนี้ ประชาชนตื่นตัวให้ความสนใจ แต่หลายเรื่องไม่สามารถเป็นไปตามที่ใจคิด กรมสุขภาพจิตได้ติดตามรวมถึงการให้ความรู้ข้อแนะนำต่างๆ ในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างมีสติสามารถทำได้อย่างไร ยังมีข้อแนะนำในการประเมินตนเองว่าเมื่อไรควรจะถอยตัวเองออกจากการรับรู้ เมื่อไรถึงขั้นที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษา ซึ่งข้อมูลต่างๆ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ผ่านเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิตมีการติดตามต่อเนื่อง เมื่อไหร่ที่มีสัญญาณเขย่าบางอย่าง เช่น ต้องระวังมวลชนเคลื่อนไหวบ้างแล้ว ก็จะออกมาบอกเล่าตัวเลข ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ได้ลดอุณหภูมิลง ยังไต่ระดับขึ้นอย่างช้าๆ เรียกว่าอยู่ในระดับปริ่มๆ ที่ยังวางใจไม่ได้  สิ่งที่ต้องแนะนำคือ ข้อแรกที่สำคัญคือการมีสติ ต้องประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร หากยังรู้สึกสบายดี จะสะท้อนได้จากความสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ปกติ ทั้งกิจวัตรประจำวัน การทำงาน สัมพันธภาพกับคนครอบข้างยังไม่บกพร่อง ไม่ได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับใครไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพราะบางคนอาจจะไม่ได้ทะเลาะเรื่องการเมืองโดยตรง แต่อาจจะทะเลาะเรื่องอื่นๆ ก็ได้

และสำรวจตังเองด้วยว่ากินได้ไหม นอนหลับไหม อารมณ์เบิกบานไหม  หากไม่แน่ใจสามารถเข้าไปเช็กตัวเองผ่าน MENTAL HEALTH CHECK IN ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น ประเมินตัวเองว่ามีความเครียดที่เป็นความเสี่ยงสูงหรือไม่  อันดับแรกคือการมีสติ สองการจัดสรรเวลาการรับรู้ข่าวสารแต่พอสมควรกับตัวเอง หลายคนอาจจะมีดีกรีความแข็งแรงที่สามารถติดตามข่าวสารได้วันละ 4-5 ชม.แต่ก็ยังเดินหน้าทำงานต่อได้ แต่บางคนแค่ชั่วโมงเดียวก็ไม่ไหวแล้ว ถ้ารู้สึกว่าเราชักไม่ค่อยดีแล้ว รู้สึกหงุดหงิด ให้ปรึกษาคนใกล้ชิด แต่ต้องเลือกคนใกล้ชิดที่มีวุฒิภาวะพร้อมรับฟังและปรึกษาไปกันได้ ไม่ใช่รับฟังแล้วนำไปสู่การทะเลาะ ระวังความเครียดสามารถผลักดันไปสู่การใช้สารเสพติด หลายคนเครียดแล้วก็ไปดื่มสุรา สูบบุหรี่มากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะจะทำให้ปัญหาที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้นได้

การเมืองวันนี้มันเครียด ก็หวังได้แค่ว่าจะหาทางออกได้โดยดี คือ “ทุกคนหันมาเคารพหลักการ”

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”