ส่วนกับคนที่หวังจะรวยจากการลงทุนก็ต้องระวัง “ตัดสินใจผิด” จนต้อง “เป็นเหยื่อถูกหลอกลงทุน” ซึ่งอย่างหลังนี่ก็ยังระบาดมากทางออนไลน์โดยทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยไว้ถึงสถิติจากที่ได้รับแจ้งผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ว่า… ช่วง 1 มี.ค. 2565 – 30 มิ.ย. 2566 มีคดี “หลอกลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” ซึ่งมีการแจ้งความไว้ สูงถึง 23,616 คดี มีความเสียหายรวมกว่า 11,550 ล้านบาท และเฉพาะเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาก็มียอดแจ้งความถึง 876 คดี ยอดความเสียหายกว่า 600 ล้านบาท

“หลอกลงทุนผ่านออนไลน์” ถูกเตือนย้ำ

แนวโน้มปัญหายิ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ “ปัญหาหลอกลวงลงทุน” ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ที่มี“คีย์เวิร์ดหลอก” ที่สำคัญคือ “รวยเร็ว” นั้น นับวันจะยิ่งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย และก็ “มีคนรุ่นใหม่เกี่ยวโยง” กับปัญหาในเรื่องนี้มากขึ้น โดยมีทั้งคนรุ่นใหม่ที่ตก “เป็นเหยื่อ” และรวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ “เป็นผู้ก่อเหตุ” ซึ่งปัญหานี้ก็อาจจะมี“ปัจจัย” เกิดขึ้นมาจาก “ทัศนคติที่เปลี่ยนไป”…

เพราะ“ทัศนคติการออมที่เปลี่ยนไป” นี่ก็อาจเป็น“ปัจจัยกระตุ้น” ทำให้เกิด “เหยื่อถูกหลอกลงทุน” เยอะขึ้น…โดยเรื่องนี้ ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล นักวิชาการสาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เคยสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ โดยได้วิเคราะห์และระบุไว้ว่า… ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่เลือกออมแบบคนรุ่นเก่า ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงไม่สนใจการออม เพียงแต่“มีมุมมองเปลี่ยนไป” เรื่องการออมทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการออมด้วยวิธีแบบคนรุ่นเก่าอย่างเช่นการ ฝากเงินไว้ในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ย ที่เป็นทั้งการออมและการลงทุนที่คนรุ่นเก่านิยมเลือกมากกว่า

นี่สวนทางกับทัศนคติ “คนรุ่นใหม่”

ที่ “ไม่ค่อยสนใจ” วิธีการรูปแบบนี้…

ถามว่า…อะไรคือ “สาเหตุ?” ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจวิธีออมเงินแบบเก่า ทาง ศ.วิทวัส ได้สะท้อนไว้ว่า…“เพราะวิธีลงทุนแบบเก่าผ่านการออมเงินฝากในปัจจุบันได้ผลตอบแทนน้อย อีกทั้งไม่ตอบสนองความคาดหวังในชีวิตของคนรุ่นใหม่ จึงทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ถึงแม้จะตระหนักดีว่า…ผลตอบแทนที่มากขึ้นย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น!!” ก็ตาม…ซึ่งนี่ก็สะท้อนถึงความ กล้าเสี่ยง!!” ที่คนรุ่นใหม่มีมากกว่าคนรุ่นก่อน ที่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด!! เพราะพฤติกรรมกับมุมมองที่เกิดขึ้นนั้นย่อมจะแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมที่คนแต่ละรุ่นได้เติบโตมา

“คนรุ่นเบบี้บูม หรือเจเนอเรชัน X จะโตมาช่วงที่เศรษฐกิจไทยโตแบบก้าวกระโดด ตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากยังมีอัตราที่สูงกว่า 10% ทำให้คนรุ่นก่อนนิยมฝากเงินกินดอกเบี้ย ซึ่งไม่เหมือนปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเรี่ยดิน โดยต่อให้เป็นการฝากเงินแบบฝากประจำ ดอกเบี้ยก็จะได้ไม่สูง เช่นได้แค่ 1.25-1.5% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้วิธีออมด้วยการฝากเงินจึงไม่ตอบโจทย์กับชีวิตของคนรุ่นใหม่” …เป็นการฉายภาพเรื่องนี้จากทางนักวิชาการท่านนี้

และเมื่อผลตอบแทนไม่ตอบโจทย์ เหตุนี้วิธีออมแบบคนรุ่นเก่าจึงไม่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ ทำให้ คนเจเนอเรชัน Y และ Z เลือกที่จะ “หารูปแบบใหม่ ๆ” เช่นการเลือกที่จะออมในแบบ ลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว หรือลงทุนในสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น วงการบิตคอยน์ โดยถึงแม้จะรู้ว่า “ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามผลตอบแทนที่มากกว่า” แต่…

“คนรุ่นใหม่กล้าที่จะเสี่ยงลงทุน”…

จน “อาจเปิดช่องให้ถูกหลอก-ถูกตุ๋น”

ทาง ศ.วิทวัส ชี้ไว้อีกว่า… สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่กล้าเสี่ยง กล้าจะเสี่ยงกับการลงทุนในรูปแบบใหม่ แทนที่จะเลือกใช้วิธีลงทุนผ่านการออมแบบเดิมนั้น ก็เพราะคนรุ่นใหม่ “อยากเปลี่ยนชีวิตให้ได้เร็ว ๆ” อีกทั้งจากลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างจะ “มีความอดทนต่ำ-ใจร้อน” ก็เลยยิ่งทำให้วิธีสร้างเนื้อสร้างตัวแบบเก่าไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังในชีวิต

“ด้วยความที่มีฐานรายได้ไม่สูง ทำให้มีทุนในชีวิตน้อย ประกอบกับคนรุ่นใหม่มักจะใจร้อน อยากรวยเร็ว ๆ และมีความอดทนต่ำกว่าคนรุ่นก่อน ทำให้รูปแบบการออมแบบเก่าไม่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ จึงพยายามมองหาวิธีเพิ่มผลตอบแทนที่ได้มากกว่าวิธีฝากเงิน และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ๆ กล้าที่จะเสี่ยงเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง”

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแง่มุมกรณีนี้มานำเสนอก็ด้วยเหตุที่ทางตำรวจเตือนย้ำว่า “หลอกลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” ปัจจุบัน“ตัวเลขสูงลิ่วทั้งจำนวนเหยื่อและมูลค่าความเสียหาย” ซึ่งก็ “มีคนรุ่นใหม่เป็นเหยื่อมาก” โดยทาง ศ.วิทวัส ก็ได้เคย “เตือนคนรุ่นใหม่” ไว้ว่า… แม้ความล้มเหลวจะถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนชีวิตได้ แต่ขอย้ำเตือนว่า…“การตัดสินใจเลือกวิธีลงทุนใหม่ ๆ ในยุคนี้ยิ่งควรต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ดี” ว่ารูปแบบที่จะเลือกนั้นถูกต้องเหมาะสมกับตนเองหรือไม่?? และ ณ ที่นี้ก็ขอเน้นไว้ด้วยว่า…“ต้องดูให้ดี ๆ ว่าหลอกลวงหรือเปล่า??”

“พนันออนไลน์” นั้นก็ย้ำว่า “อย่าเสี่ยง!!”

“ถูกชวนลงทุนผ่านออนไลน์” นี่ “ก็ด้วย”

ดูดี ๆ อย่าเสี่ยง “อย่าใจเร็วด่วนเจ๊ง!!”.