สถานการณ์ร้อนทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สำเร็จลุล่วง แม้ว่าจะผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 2 เดือน แม้ว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวบรวมส.ส.ได้มากกว่า 300 เสียง เพราะไปติดอยู่ที่ด่านของส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แล้วจะต้องโหวตหานายกรัฐมนตรีกันกี่ครั้ง เป็นผลดีต่อประเทศหรือไม่อย่างไร

“นายกฯรักษาการ” อยู่นาน!ประเทศเสียหาย

วันนี้เรามาฟังมุมมองจาก นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต กล่าวกับทีมข่าว Special Report ว่าในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.นี้ ไม่รู้ว่าจะมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้ามาขอเสียงโหวตเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่

แต่โดยส่วนตัวในฐานะข้าราชการเก่า และติดตามเรื่องการเมืองมาพอสมควร นายพิธา ได้รับโอกาสเสนอชื่อ 1 ครั้ง ในรัฐสภา แต่ไม่ผ่าน! ก็ควรจะพอและถอยออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นนายกฯบ้าง

ถ้าคนของพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกฯทุกอย่างจะได้จบ เพื่อประเทศได้เดินไปข้างหน้าเสียที เพราะโดยหลักการแล้วการโหวตหานายกฯกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่สิ่งดีอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศต้องการผู้บริหาร ต้องการผู้นำเข้ามาตัดสินใจ ทั้งต่างประเทศและนักลงทุนเข้าไม่ฟัง “นายกฯรักษาการ” หรอก! ดังนั้นถ้าปล่อยคาราคาซังไปเรื่อยๆ ประเทศชาติจะเสียโอกาส ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะสูง ถ้าพรรคก้าวไกลจะดึงดันต่อไป ตนคิดว่าไม่แฟร์กับประชาชน

เนื่องจากพรรคอื่นๆ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกัน และประชาธิปไตยของไทยคือการเลือกนายกฯโดยอ้อม คือประชาชนเลือกส.ส.เข้ามาทำหน้าที่แทนเขา เพื่อให้ส.ส.เข้ามาเลือกนายกฯ ซึ่งในระบบรัฐสภาถือเป็นเรื่องปกติว่าฝั่งไหนรวบรวมเสียงส.ส.ได้มากกว่า ก็ได้เป็นนายกฯ ไม่จำเป็นที่พรรคอันดับ 1 ต้องได้เก้าอี้นายกฯไปครองเสมอไป

“ก่อนโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา คุณศิริกัญญา ตันสกุล แคนดิเดต รมว.คลังของพรรคก้าวไกล บอกว่าหาเสียงสนับสนุนจากส.ว.ได้ครบแล้ว แต่ทำไมโหวตผ่านให้นายพิธาแค่ 13 คน หลังจากนั้นบรรดากองเชียร์ก้าวไกลก็ตามไปบูลลี่ เอาทัวร์ไปลง ส.ว.และครอบครัว ผ่านทางสังคมออนไลน์ ส่วนพรรคก้าวไกลก็ไปยื่นเรื่องขอแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เมื่อเล่นกันแบบนี้แล้วจะได้เสียงของ ส.ว.เพิ่มขึ้นมาหรือ? ผมยังมองไม่ออกว่าส.ว.ที่เป็นทหารมากถึง 89 คน จากส.ว.ทั้งหมด 250 คน เขาจะโหวตเลือกนายพิธาไปเพื่ออะไร”

“พิธา” เป็นรองนายกฯ-รมว.ต่างประเทศก่อน!

นายรัศม์ กล่าวต่อไปว่า ตนอยากให้ตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว เพื่อข้าราชการจะได้ไม่เกียร์ว่าง โดยเฉพาะข้าราชการตามสถานทูตในต่างประเทศ ช่วงที่มีการรัฐประหาร และยังไม่มีการเลือกตั้งก็เกียร์ว่างอยู่แล้ว เพราะไม่มีประเทศไหนอยากคุยด้วย ดังนั้นนายพิธาและพรรคก้าวไกลต้องตั้งหลักให้ดี เพื่อประเทศไทยจะได้เดินไปข้างหน้า เพราะเราไม่มีนายกฯตัวจริงมาหลายเดือน และการเลือกตั้งผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว

ถ้าต้องการปิดสวิตช์ส.ว. ก็ต้องเอาพรรคภูมิใจไทยซึ่งมี 70 เสียงเข้ามาร่วมรัฐบาล ส่วนนายพิธาไปเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.ต่างประเทศ เอาหน้าตาหล่อๆ ใสๆ ออกไปเปิดตัวกับนานาประเทศ เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปก่อน ตนเชื่อว่านายพิธามี “sense” พอที่จะทำงานตรงนี้ได้ โดยเที่ยวหน้าไม่มีส.ว.ชุดนี้แล้ว ถ้าพรรคก้าวไกลยังมาแรง! นายพิธาก็ได้เป็นนายกฯ

โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าพรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในการบริหารประเทศตอนนี้เลย คุณคิดว่ามีบุคลากรพร้อมที่จะบริหารประเทศหรือ? คุณศิริกัญญาพร้อมเป็นรมว.คลัง แต่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เขาเชื่อมั่นหรือเปล่า?

คุณมีนโยบายอะไรที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามา 8 ปี แต่จะทำโครงการ “รัฐสวัสดิการ” โดยไม่ได้บอกว่าจะทำงานบริหารประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร เพื่อจะเก็บภาษีได้มากๆ แต่จะไปรีดภาษีจากคนรวย จะตัดงบประมาณของกรมนั้น จากกระทรวงนี้ หรือตัดงบทหาร เอามาทำรัฐสวัสดิการ ตนคิดว่าไม่ใช่นะ และในโลกของความจริง รัฐสวัสดิการทำได้อยู่ไม่กี่ประเทศ แม้แต่ญี่ปุ่นยังทำไม่ได้ แต่เขามีการช่วยเหลือประชาชนในช่องทางอื่นๆ

ถอยเรื่อง 112 อาจไม่ถูกยุบพรรค-โดนตัดสิทธิ!

วันนี้พรรคก้าวไกลควรถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ด้วย! คุณต้องยอมรับกับฐานเสียงไปตามตรงว่าการแก้ไขมาตรา 112 ในความความเป็นจริง ณ ปัจจุบันคือยังทำไม่ได้ เนื่องจากหลายพรรคการเมืองเขาคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งฉบับกันอยู่แล้ว ด้วยการตั้ง “ส.ส.ร.” ขึ้นมาเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ ยังไม่มีฝ่ายค้าน ยังไม่มีรัฐบาลเลย แล้วพรรคก้าวไกลจะเจาะจงไปแก้ไขมาตรา 112 ได้อย่างไร?

พรรคก้าวไกลจะแก้มาตรา 112 สำเร็จหรือ? ในเมื่อทุกวันนี้ทหาร-กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญแข็งแกร่งมาก และอีกหลายพรรคการเมืองที่ไม่เอาด้วยกับการแก้ไข 112 นี่คือโลกของความจริง ดังนั้นถ้าพรรคก้าวไกลประกาศถอยเรื่อง 112 เอาไว้รอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ก่อน นอกจากนี้ยังเอาประเด็นในการยอมถอยเรื่อง 112 ไปแก้ต่างกับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหลีกเลี่ยงกับการถูกยุบพรรค ทั้งนายพิธาและกรรมการบริหารพรรค จะได้ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง น่าจะดีกว่า

สำหรับในประเด็นของส.ว. ก็ต้องพูดกันตามตรงว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ให้อำนาจส.ว.มากขนาดนี้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีทั้งส.ว.จากการเลือกตั้ง และส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ส.ว.แต่งตั้งไม่มีอำนาจเลือกนายกฯเหมือนกับส.ว.ชุดปัจจุบัน

แต่ประเทศไทยเพิ่งมีอะไรแปลกๆ แหวกแนวจากสังคมโลกประชาธิปไตย หลังการรัฐประหารปี 57 แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร มีการแต่งตั้งส.ว. 250 คน โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งส.ว.ชุดนี้มีอำนาจในการแต่งตั้งตัวบุคคลในองค์กรอิสระด้วย

“วันนี้เราต้องหยุดตำหนิติเตียน ส.ว. เนื่องจากเขามาจากคณะรัฐประหาร และมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 60 แต่ควรไปโวยกันว่าใครออกไปเป่านกหวีดเรียกทหารเข้ามาทำรัฐประหาร ใครไปลงประชามติยอมรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 ฉบับสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ที่มีการสอดแทรกเนื้อหาให้ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภาได้ด้วย ผมคิดว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ออกไปเป่านกหวีด และลงประชามติยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันหันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกล ดังนั้นผู้คนกลุ่มนี้จึงไม่ต้องไปโทษ ส.ว.ที่ไม่ยอมโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ” นายรัศม์ กล่าว