แม้ส่วนใหญ่เหตุการณ์จะคลี่คลายลงอย่างสงบ แต่บางครั้งกลับแลกมาด้วยความสูญเสียของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เช่นเหตุสุดช็อกเมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจ สภ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ถูกคนร้ายคลั่งปาดคอเสียชีวิตขณะเข้าไประงับเหตุ นำมาสู่ข้อห่วงใยและทวงถามมาตรการ “ลด” ความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่

“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามความคืบหน้าการถอดบทเรียนป้องกันเหตุซ้ำรอยกับ พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. ซึ่งระบุว่า ตร. มีแนวทางปรับแก้ยุทธวิธี หรือเพิ่มการป้องกันให้ตำรวจที่มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ลักษณะนี้ โดยผู้บังคับบัญชาอาจต้องถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุด และจำเป็นต้องฝึกยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสถานการณ์สม่ำเสมอ โดยใช้สถานการณ์จริงเป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตาม ตำรวจได้รับการฝึกรับมือเหตุต่างๆทั้งลักษณะการรับแจ้ง และเหตุการณ์เฉพาะหน้าอยู่แล้ว

สำหรับรูปแบบที่ประสบเหตุจะมี 2 กรณี คือ การแจ้งเข้ามาที่โรงพักผ่านสายด่วน 191 จะมีการแจ้งวิทยุไปที่สายตรวจ หรือเวรที่เข้าอยู่ หลังรับแจ้ง จะตระเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงกำลังพลที่ต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“เมื่อเข้าไปถึงที่เกิดเหตุ จะมีหัวหน้าชุดที่จะต้องคอยดูเรื่องสถานที่ต่างๆ เราเข้าไปอันตรายอย่างไร ก่อนที่จะใช้ยุทธวิธีในการเข้า เฉพาะเหตุที่คนก่ออาจคลุ้มคลั่ง ต้องนำนักเจรจา หรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกฝนการเจรจาเข้าไปพูดคุยก่อน ต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร”

ทั้งนี้ หากเหตุการณ์มีแนวโน้มลุกลามใหญ่โต ต้องระดมกำลังยุทโธปกรณ์ หรือแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อเข้ามาบริหารเหตุการณ์ให้เหมาะสมขึ้น

หลังเหตุการณ์สูญเสียล่าสุด พล.ต.ท.อาชยน เผยว่า ผู้บังคับบัญชาโดยเฉพาะระดับกองบังคับการและหัวหน้าสถานี ต้องถอดบทเรียนทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีหากมีการสูญเสีย จะมีการปรับปรุงพัฒนาทั้งเรื่องกำลังพล ยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงอบรมเพิ่มเติมยุทธวิธีปัญหาเฉพาะหน้าในการแจ้งเหตุ ในตำรวจสายป้องกันปราบปรามต้องทบทวนสม่ำเสมอ เพื่อลดการสูญเสียครั้งต่อไป

“ตำรวจเป็นอาชีพที่เสี่ยง และสามารถเผชิญเหตุได้ทุกเวลา ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ฝั่งของผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องดูแลขวัญและกำลังใจ เพิ่มเติมติดอาวุธให้ โดยมีการฝึกยุทธวิธี และหาอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด” พล.ต.ท.อาชยน ระบุ

จากตัวอย่างความสูญเสียเพราะความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ตรวจสอบพบว่าแต่ละปี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งที่บาดเจ็บ เสียชีวิต ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ จำนวนไม่น้อย

เฉพาะปี 66 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66) พบกรณีบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่แล้ว 90 นาย เสียชีวิต 9 นาย แบ่งเป็น กรณีอุบัติเหตุ 4 นาย, ถูกทำร้าย 1 นาย, ซุ่มโจมตี 4 นาย

ขณะที่สถิติระหว่างปี 63-ปัจจุบัน มีตำรวจบาดเจ็บ เสียชีวิต จากการปฏิบัติหน้าที่ รวม 1,153 นาย แบ่งเป็น บาดเจ็บ 1,083 นาย เสียชีวิต 70 นาย ส่วนใหญ่เป็นกรณีอุบัติเหตุ รองมาคือถูกทำร้ายร่างกาย ซุ่มโจมตี และปะทะต่อสู้ แยกสถิติให้เห็นภาพรายปี ดังนี้

ปี 63 บาดเจ็บ 219 นาย เสียชีวิต 19 นาย

ปี 64 บาดเจ็บ 504 นาย เสียชีวิต 26 นาย

ปี 65 บาดเจ็บ 270 นาย เสียชีวิต 16 นาย

ปี 66 บาดเจ็บ 90 นาย เสียชีวิต 9 นาย

ในการปฏิบัติหน้าที่แม้จะมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ เพราะทุกเหตุร้ายล้วนมีความเสี่ยง แต่เป็นไปได้ ไม่ต้องสูญเสียใครจะดีที่สุด ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีแนวโน้มปัญหาคลุ้มคลั่งมากขึ้น โจทย์ปฏิบัติงานของผู้ควบคุมสถานการณ์จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเพิ่มความรัดกุมขึ้นด้วยเช่นกัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]