และนี่ก็นำสู่ โครงการ “เก้าเลี้ยวโมเดล” ระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการ ที่ทางคณะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมเมื่อเร็ว ๆ นี้… 

ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ยาเสพติด “น่ากังวล”

ปัญหานี้ “ในไทยต้องเร่งแก้ไข-ป้องกัน”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ “เก้าเลี้ยวโมเดล” และเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในพื้นที่ โดยมี ธิติกมล สุขเย็น นายอำเภอเก้าเลี้ยว, นพ.วศิน ทองทรงกฤษณ์ ผอ.โรงพยาบาลเก้าเลี้ยว และคณะ ให้การต้อนรับ และนำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยทาง ผู้ว่าฯ ชยันต์ ยังได้ระบุด้วยว่า… ในปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนมากขึ้น และแสดงออกถึงความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสำหรับจังหวัดนครสวรรค์ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับปัญหานี้ ดังที่มีการจัดทำโครงการ “เก้าเลี้ยวโมเดล”

“อำเภอเก้าเลี้ยวได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหานี้ในรูปแบบเก้าเลี้ยวโมเดล โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน นายอำเภอ ตำรวจ โรงพยาบาล-สาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเรียกว่า 5 กัลยาณมิตร เข้าดูแลผู้ป่วยหลังการรักษากลับมา ดูแลเรื่องการรับประทานยา พักผ่อน พูดคุย เพื่อช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วย การทำงานด้านจิตเวชเก้าเลี้ยวโมเดลเป็นการทำงานของทุกภาคส่วน ต้องทำงานโดยมีระบบข้อมูลร่วมกัน ทางจังหวัดนครสวรรค์จึงได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดทำ แอปพลิเคชันนครสวรรค์สุขใจ เก็บรวบรวมข้อมูล นำข้อมูลส่งต่อให้เจ้าหน้าที่แต่ละระดับเพื่อใช้ประโยชน์ในการคัดกรองผู้ป่วยและติดตามผลของการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น” …ผู้ว่าฯ นครสวรรค์ ระบุ

ขณะที่ทางนายอำเภอ ธิติกมล สุขเย็น เผยว่า… เก้าเลี้ยวโมเดลมีแนวคิดจากการถอดบทเรียนในสถานการณ์โควิด-19  มีแรงจูงใจจากเหตุการณ์จริงในพื้นที่ จึงมีการพูดคุยวางแผนร่วมกัน นำสู่การก่อตั้ง ระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการเริ่มปฏิบัติเมื่อ 1 มิ.ย. 2565 ปัจจุบันดูแลผู้ป่วย 217 ราย เป็นผู้ที่ดำรงชีวิตร่วมกับชุมชนได้ 100% จำนวน 214 ราย รักษาตัวในเรือนจำ 1 ราย และในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทับกวาง จ.สระบุรี 2 ราย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

“การแก้ไขปัญหาจิตเวชเรื้อรัง ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้โดยหน่วยงานเดียว ต้องใช้ความร่วมมือทั้งจากหน่วยราชการและภาคประชาชนในชุมชน” …นายอำเภอเก้าเลี้ยว ระบุ พร้อมทั้งบอกว่า… กลไกสำคัญประการหนึ่งที่นำสู่ความสำเร็จของ “เก้าเลี้ยวโมเดล” นั้นคือ “ทีม 5 กัลยาณมิตร” ที่ทำให้เกิด “ความยั่งยืน-ต่อเนื่อง” ของโครงการ

และเกี่ยวกับการดำเนินงานของ“เก้าเลี้ยวโมเดล” นี่ทาง วุฒิชัย พุกเนียม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.หัวดง อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ก็ได้เล่าไว้ว่า… การดูแลผู้ป่วยของทีม 5 กัลยาณมิตรนั้น จะมีฝ่ายต่าง ๆ ร่วมกัน มีทั้ง รพ.สต., ทีมหมอ-พยาบาล, อบต., ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงคนในชุมชนด้วย ซึ่งจะมีการดูแลในเรื่องการกินยา อาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ เป็นต้น

“ช่วงแรกจะใช้หลายวิธีกว่าผู้ป่วยจะยอมกินยา แต่ปัจจุบันไม่ต้องแล้ว และคนในชุมชนก็ยอมรับและมองว่าผู้ป่วยเป็นคนปกติ มีกิจกรรมอะไรก็จะเชิญชวนให้ร่วมตลอด ผู้ป่วยก็ปรับตัวเข้ารวมกลุ่มกับคนในชุมชนได้ดี”

ทั้งนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า… เรื่องจิตเวชเป็นนโยบายที่สำคัญ ในปี 2567 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำหนดเป็นปีของจิตเวชครบวงจร ซึ่ง เก้าเลี้ยวเป็นโมเดลหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดว่าจิตเวชครบวงจรสามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่การรู้ปัญหาในพื้นที่ ค้นหาผู้ป่วย ดูแล ส่งรักษา และกลับสู่ชุมชนได้

“สปสช. เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงบประมาณดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวชเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือระดับที่เรียกว่าสีแดง คือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่น”

นพ.จเด็จระบุอีกว่า… การจะแก้ไขให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติหรือเกือบปกติต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่ง “เก้าเลี้ยวโมเดล” นั้นต้องชื่นชมฝ่ายปกครอง ฝ่ายกฎหมาย-ตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมมือกับทีมสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง รวมถึงทีม 5 กัลยาณมิตร ในชุมชน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้การรักษาขอ

แพทย์เกิดผลสำเร็จ เฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำ และคอยตรวจตราเคสที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ ซึ่ง สปสช. จะนำรูปแบบเก้าเลี้ยวโมเดลนี้ไปพิจารณาในการปรับปรุงการจ่ายชดเชยค่าบริการจิตเวชเรื้อรัง ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานและวิถีชีวิตผู้ป่วยต่อไป

“การดูแลและบูรณาการในชุมชนเป็นคำตอบหนึ่งที่เชื่อว่าจะขยายผลนำร่องสู่พื้นที่ต่าง ๆ จะเห็นว่าผู้ป่วยสามารถอยู่ในชุมชนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจมีความกังวลว่าการมีผู้ป่วยอยู่ใกล้ ๆ เขาจะมาก่อความรุนแรงหรือไม่ จะปลอดภัยหรือไม่ แต่วันนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีกลไกของชุมชนเข้ามาดูแล ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย” …นพ.จเด็จระบุ

“ป่วยจิต” นี่ “ในไทยยอดพุ่งน่าเป็นห่วง”

“วิธีกันเหตุร้าย” นั้น “ที่เก้าเลี้ยวน่าสน”

“ปลอดภัย” ได้ “โดยชุมชนร่วมดูแล”.