ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ ทั้งนี้ พฤติกรรมที่ว่านี้หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องปกติ หากแต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนเด็กเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว อาจ “มีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ” ด้วยเหตุนี้ก็จึงได้มีการนำเรื่องของ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือระบบ “AI” มาใช้งาน…

หวังที่จะใช้ช่วย “สกัดกั้นคำหยาบคาย”

ที่เกลื่อน “ในโลกออนไลน์-สื่อโซเชียล”

ไม่ให้คำหยาบกลายเป็นเรื่องธรรมดา!!

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้งานเพื่อ “สกัดกั้นคำหยาบคาย” เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือเสพคำพูดหยาบคาย จนเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ติดตัวจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่นั้น เรื่องนี้เป็นการดำเนินการโดยนักวิจัยและนักศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.ศุภวงศ์ ทั่วรอบ และ ดร.ธนพล นรเสฏฐ์ ที่ได้มีการร่วมมือกันพัฒนา “ระบบ AI ตรวจจับคำหยาบ” หลังพบว่า…ยุคปัจจุบันนี้ เด็กที่เสพติดการใช้คำพูดหยาบคาย เมื่อโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วมักเกิดปัญหาทางบุคลิกภาพ มากขึ้น

จากการ “ใช้คำหยาบสื่อสารจนเคยชิน”

ทางนักวิจัยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… ข้อมูลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึง สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดหยาบคาย ว่า… ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อต่าง ๆ ซึ่งสื่อสารด้วยคำพูดหยาบคายกันจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ…การที่ปล่อยให้พฤติกรรมเชิงลบนี้ดำเนินไปเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนติดตัวเด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจก่อปัญหาต่อบุคลิกภาพ …ด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ร่วมกันคิดค้น อัลกอริทึม ชื่อ “FALCoN” ขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยลดปัญหานี้

“FALCoN ย่อมาจาก Foul and Abusive Language detection using Co-training in social Networks โดยระบบนี้จะทำหน้าที่ตรวจจับคำพูดหยาบภาษาไทยในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลกอย่าง Information Processing & Management แล้ว” …ทาง รศ.ดร.ศุภวงศ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ไว้

ได้รับการ “ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ”

“สะท้อนความน่าสนใจ” ของผลงานนี้

ทางด้าน ดร.ธนพล หนึ่งในนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ซึ่งได้เข้ามาร่วมให้การดูแลและให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบ “AI ตรวจจับคำหยาบคาย” ได้ให้ข้อมูลการทำงานของระบบดังกล่าวไว้ว่า… ชุดข้อมูลที่นำมาใช้ในช่วงการทดสอบอัลกอริทึม FALCoN นี้ จะเน้นใช้ชุดคำพูดที่ไม่เหมาะสม ในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง คำหยาบ, คำเปรียบเปรยเสียดสี, คำก้าวร้าวรุกราน, คำที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร โดยความท้าทายอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ AI สามารถตรวจจับคำพูดที่ไม่เหมาะสมได้ครอบคลุม เนื่องจากภาษาไทยบางคำเมื่อเป็นคำเดี่ยวจะไม่เป็นคำหยาบ ดังนั้น…

ต้อง “ตีความร่วมกับบริบทที่เกี่ยวข้อง”

นี่เป็น “จุดท้าทาย” ผู้พัฒนาอัลกอริทึม

อย่างไรก็ดี ดร.ธนพล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า…จากความท้าทายนี้นี่เอง ที่ทำให้ อัลกอริทึม FALCoN นำเทคนิค Co-Training มาใช้ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ให้เรียนรู้ลักษณะภาษาหยาบคาย ทั้งจากคำพูด และจากข้อสังเกตร่วมกับบริบท เช่น Re-action และข้อความที่อยู่รอบ ๆ คำที่เข้าข่ายเป็นภาษาที่หยายคาย โดยสาเหตุที่ต้องออกแบบเช่นนี้เนื่องจากภาษาและคำที่ใช้สื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นภาษาที่ดิ้นได้ หรือเป็นภาษาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจการใช้ภาษาเหล่านี้… นักศึกษา ในโครงการนี้จึงมีบทบาทสำคัญ ในฐานะ…

คนที่รู้จักและเข้าใจภาษาเหล่านี้ดีที่สุด

เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ร่วมพัฒนาระบบ

ทั้งนี้ กับการทดสอบ“AI ตรวจจับคำหยาบ” ชื่อ“FALCoN” นี้ ทางผู้พัฒนาระบบอัลกอริทึมดังกล่าว บอกไว้ว่า…ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาทดสอบ เนื่องจากการ “ติดฉลากข้อมูล” และ “เขียนโปรแกรม” ให้ครอบคลุม เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยการใช้วิจารณญาณและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งต้องใช้เวลาเพื่อ “รวบรวมคลังข้อความ” ให้ได้มากพอที่จะนำมาใช้ทดสอบ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพัฒนาสำเร็จ ระบบนี้จะเป็นโปรแกรมอัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบในการ คัดกรองภาษาไม่เหมาะสมในสื่อสังคมออนไลน์ …ซึ่ง “AI FALCoN ตรวจจับคำหยาบ” นี่ก็น่าตามดูสัมฤทธิ์ผล

“คำหยาบ-คำร้าย ๆ” นับวัน “ท่วมท้น”

ยุคนี้ “เด็ก ๆ ใช้กันเกร่อจนชวนอึ้ง”

“AI ช่วยสกัด” เรื่องนี้ “ก็ย่อมจะดี”.