มีความกังวลสถานการณ์ “เหยื่อ” เมาขับที่อาจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากปัจจัยเดิมที่ยังควบคุมไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับปัจจัยใหม่ ที่มีแนวโน้มถกเถียงกันมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะนโยบายก้าวหน้า เสรีสุรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ถึงข้อดีในแง่เศรษฐกิจปากท้อง แต่ก็ไม่อาจละทิ้งแง่มุมสังคม เนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังเป็นปัญหาที่ “แก้ไม่ตก” ของประเทศไทย

เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเหตุการณ์เมาขับที่ส่งผลกระทบรุนแรงเพราะมีผู้เสียชีวิตปรากฏแทบรายวัน และเวลาเช้าตรู่กลายเป็นห้วงอันตรายอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น จึงน่าขบคิดถึงการพัฒนาความปลอดภัยที่ควร “ก้าวหน้า” ควบคู่ไปกับทิศทางนี้ด้วย

“ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนสะท้อนภาพสถานการณ์เหยื่อเมาขับในปัจจุบันผ่านมุมมอง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ซึ่งแสดงความเป็นห่วงห้วงเวลาเกิดเหตุเช้าตรู่ว่า มี 3 กลุ่มหลักเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ คนออกกำลังกาย พนักงานกวาดถนน และพระที่บิณฑบาต

ผู้จัดการ ศวปถ. ระบุ ด้วยแนวโน้มและกระแสที่พูดถึงการขายสุราที่ไม่ควรจำกัดเวลา หรือสุราเสรี ในมุมของผู้ทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนเห็นว่า มาตรการลดความเสี่ยง สร้างความเชื่อมั่นกับสังคม เป็นสิ่งที่ควรเตรียมการรองรับล่วงหน้า หรือคิดคู่ขนานไปด้วย

พร้อมชี้ปัญหาอุบัติเหตุปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ยิ่งน่าวิตก เพราะหมายถึงโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากคนเมาขับมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่าง หลายครั้งที่คนเมาขับชนคนวิ่งออกกำลังกาย คนปั่นจักรยาน พนักงานกวาดถนน หรือพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตแต่เช้า

แม้จะอุปกรณ์เตือน เช่น การติดไฟกะพริบรถจักรยาน หรือการให้พนักงานกวาดใส่เสื้อสะท้อนแสง แต่ผู้จัดการ ศวปถ. มองว่ายังไม่สามารถเพิ่มความปลอดภัยได้เต็มที่ เพราะโจทย์ซ้อนของคนเมาขับคือสติสัมปชัญญะที่ลดลง ส่งผลต่อการตัดสินใจหลบ หรือชะลอรถ ซึ่งการเมาขับชนคน สังเกตว่ามักไม่ได้มาจากการเบรก แต่อยู่ระหว่างที่รถเคลื่อนตัว ทำให้เกิดความสูญเสียรุนแรง

ฉายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หากเปรียบเทียบการขับรถด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความรุนแรงจะเท่ากับการตกตึกสูง 6 ชั้น แต่หากขับมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความรุนแรงจะเท่ากับการตกตึก 8 ชั้น 

ทั้งนี้ ยอมรับการไม่จำกัดเวลาขาย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะบางประเทศก็เปิดเสรีจุดนี้ แต่ที่ต้องไม่ลืมคือการมีกฎหมายที่บังคับใช้เข้มงวด ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการพูดถึงการจัดการความเสี่ยงบนท้องถนน แม้กระทั่งการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังควบคุมไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือยังไม่สามารถสร้างหลักประกันความมั่นใจถึงการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มเมาขับ

“ตามหลักการองค์การอนามัยโลก (WHO) เชื่อว่าการสร้างสภาวะป้องปราม มีผลต่อผู้ขับขี่ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ขับขี่รู้สึกว่ามีโอกาสถูกเรียกตรวจอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อคันต่อปี จะมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น”

ตัวอย่างประเทศที่ใช้มาตรการเข้มข้นและเห็นผลคือ ประเทศออสเตรเลีย แต่จากการสำรวจก็พบว่าทำได้เพียง 75% ของผู้ขับขี่ เทียบกับประเทศไทย ยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีด่านจำนวนมากอย่าง จ.ฉะเชิงเทรา ปีที่ผ่านมาพบสถิติโอกาสถูกเรียกตรวจเพียง 10% เท่านั้น ยังไม่รวมเวลาเมาขับที่มักพบในช่วงตี 3-ตี 5 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีด่านตรวจแล้ว กลุ่มที่ออกมาใช้ชีวิตปกติช่วงนี้บนท้องถนนจึงเสี่ยงมากขึ้น

“ภาพรวมบ้านเรากำลังจะเดินหน้าไปในทิศทางเสรี 24 ชั่วโมง แต่ระบบที่จะให้หลักประกันสังคมยังไม่ถูกพัฒนาตาม ทำให้แนวโน้มความเสี่ยงนำไปแล้ว”

ผู้จัดการ ศวปถ. เสนอว่าระหว่างความเสี่ยงเดินหน้า รัฐควรสร้างหลักประกันความเชื่อมั่นในการไม่ปล่อยให้คนเมาขับออกมาสร้างความสูญเสีย สำหรับการจัดการความเสี่ยงในต่างประเทศที่เสรีแล้วเห็นผล เช่น การจัดโซนนิ่งพื้นที่ การมีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าไปรองรับไม่ให้คนเมาขับขี่ และที่สำคัญคือบรรทัดฐาน (Norm) ของคนในสังคมเรื่องการดื่มไม่ขับ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนและยังไม่เป็นที่ตระหนักของคนในสังคมมากนัก

โจทย์ความปลอดภัยที่มากขึ้นเหล่านี้ ย้ำว่าเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้ก้าวหน้า อย่าให้สังคมเสี่ยงเพิ่มโดยไร้หลักประกัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]