…เป็นการระบุจาก ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ หรือ “คุณหมอแนต” จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต ที่สะท้อนถึงปัญหา “นักเสพหน้าใหม่อายุน้อย”…

ที่ “มีแนวโน้มน่าห่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ”

สังคมไทยต้องร่วมกันตัด “วงจรร้าย”

เพราะ “นี่คือระเบิดทำลายสังคมไทย”

ทั้งนี้ ย้อนดูข้อมูลในตอนที่แล้วสักเล็กน้อย…ทาง คุณหมอแนต ได้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… การที่สิ่งเสพติด-ยาเสพติดแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชนอายุน้อย ๆ ได้ง่ายนั้น มีปัจจัยมาจากทั้งเรื่องของการที่ “เด็กเข้าถึงได้สะดวก” และจากการ “แห่ทำตาม ๆ กัน” โดยที่มีช่องทางสื่อโซเชียลที่เด็ก ๆ นิยมใช้งานเป็นช่องทางการรับรู้เรื่องนี้ รวมถึงยังอาจมีปัจจัยส่วนหนึ่งจากการที่โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลง ที่ยึดโยงถึง “ปัญหาปากท้อง” จากการที่หลาย ๆ ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวต่างจังหวัด จำเป็นจะต้อง ห่างบ้าน-ห่างลูกเพื่อทำงานในเขตเมือง เพื่อหาเงินใช้จ่ายในครอบครัว…

พ่อแม่จำต้อง “ทิ้งลูกไว้ห่างตัว-ห่างตา”

เกิด “ช่องว่าง” ให้ “สิ่งเสพติดเข้าถึงง่าย”

เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหานี้กรณีนี้…ทาง คุณหมอแนต สะท้อนว่า… การใช้สารเสพติดของเด็ก ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวไทยยุคนี้มีการแข่งขันสูง หลาย ๆ ครอบครัวต้องปากกัดตีนถีบ ซึ่งเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ต้องเข้าทำงนในกรุงเทพฯ หรือในเขตเมืองใหญ่ โดยต้องทิ้งลูก ๆ เอาไว้กับญาติผู้ใหญ่ที่อายุเยอะ หรือแม้แต่เด็กในเขตเมือง หรือเด็กในกรุงเทพฯ ที่พ่อแม่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ก็ทำให้ไม่มีเวลาจะดูแลสอดส่องเด็ก ๆ ได้มากเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เพียงครอบครัวที่ฐานะยากจน แต่ยังรวมถึงครอบครัวที่มีฐานะดีด้วย ที่ยุคนี้ก็มักพบปัญหา “ขาดเวลาให้ลูก”

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ แหล่งข่าวคนเดิมชี้ว่า… ช่องว่างนี้เองที่ทำให้ “วงจรสิ่งเสพติดทะลุเข้าหาเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น” เนื่องจากเด็กยิ่งหันเข้าสู่ “สังคมกลุ่มเพื่อน” ซึ่งหากเจอะเจอสังคมเพื่อนที่ไม่ดี มีการใช้ยาเสพติด ก็ยิ่งง่ายที่เด็กจะเสพยาตามเพื่อน เพราะคิดว่าจำเป็นจะต้อง “ทำตาม” เพื่อให้ “อยู่ในสังคมเพื่อน” ได้ …นี่เป็นภาพ “ช่องโหว่” ที่มีการสะท้อนไว้

นี่เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ “ดึงดูดเด็ก”

ที่ทำให้ “เข้าไปสู่วงจร-วังวนยาเสพติด”

ทางคุณหมอท่านเดิมระบุต่อไปว่า… การที่เด็ก ๆ จะหลุดเข้าสู่วงจรยาเสพติดนั้น จริง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะหลุดหรือกระโดดเข้าไปทันทีทันใด แต่จะ มี “ปัจจัย” ที่เรียกว่า “Gateway” คือมี“ตัวนำก่อนที่จะใช้ยาเสพติด” รวมถึงกรณีบางคนเริ่มจาก บุหรี่ กระท่อม กัญชา จากนั้นก็อาจจะยิ่งยกระดับ ไปสู่การใช้ยาเสพติดตัวที่ออกฤทธิ์รุนแรง เช่น ยาบ้า, ยาไอซ์, ยาเค เป็นต้น ซึ่งจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ถือเป็น “Gateway” หรือ “ประตูนำ” จะทำให้เด็ก ๆ ไปสู่ยาเสพติด และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ…

และนอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของ “ปัญหาส่วนตัว” อาทิ เด็กมีปัญหาของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เช่น มีปัญหาสุขภาพจิต, มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม, มีปัญหาการเรียน-สมาธิสั้น หรือแม้แต่ปัญหาครอบครัวที่มาจากพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือมีการใช้ความรุนแรงภายในบ้านให้เด็ก ๆ เห็นเป็นประจำ ซึ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เด็กตัดสินใจใช้สิ่งเสพติด-ยาเสพติด หวังจะให้ลืมภาพปัญหาที่เจ็บปวดในชีวิต และยิ่ง “ยาเสพติดเข้าถึงง่ายขึ้น” หรือ “หาซื้อได้สะดวกมาก”…

นี่ก็ “ยิ่งง่ายที่เด็กจะหลุดเข้าสู่วงจร” นี้

ทั้งนี้  คุณหมอแนต-ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ชี้ว่า… ถึงกระนั้นสังคมก็ยิ่งต้อ

ให้โอกาสกับเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาอยากกลับตัวกลับใจ เพราะต้องไม่ลืมว่า…เป้าหมายสำคัญคือทำให้ยาเสพติดหายไป ดังนั้นทุกคนต้องให้โอกาสและให้กำลังใจกับคนที่อยากจะเลิกยาเสพติด อย่างไรก็ตาม แม้การให้โอกาสจะเป็นแนวทางสำคัญ แต่ วิธีที่ดีสุดก็คือ…การตัดวงจรไม่ให้ยาเสพติดเข้าถึงตัวเด็ก เพราะต้องยอมรับว่า หากเสพยาแล้ว การทำให้กลับมาสมบูรณ์เต็ม 100 ก็จะเป็นเรื่องยาก!! เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถกลับมาสมบูรณ์เหมือนก่อนใช้ยาเสพติดได้ ยิ่งถ้าใช้ยาเสพติดมานาน ๆ…โอกาสก็ยิ่งน้อย…

“การเข้าสู่ระบบรักษาที่รวดเร็วจะลดผลข้างเคียงได้ดีขึ้น หากปล่อยให้มีการใช้ยาเสพติดไปนาน ๆ แม้จะเข้าบำบัด แต่ก็อาจฟื้นตัวได้ไม่สมบูรณ์ เพราะยาเสพติดไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง ไปทำลายระบบแล้ว ยกตัวอย่างเช่นบางคนหยุดใช้ยาไป 2-3 ปี แต่อาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ก็ยังอยู่ นี่เพราะสมองเปลี่ยนไป มันไม่ฟื้นฟูแล้ว โดยเฉพาะการใช้ยาเสพติดมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ” …นี่เป็นอีกส่วนจากข้อมูลเชิง “คำเตือน” ที่มีการสะท้อนไว้

ปัญหานี้ “จะต้องใส่ใจ” ไม่แพ้การเมือง

“ทาสยาวัยใส” นับวัน “ปัญหาใหญ่ขึ้น”

“ปิด Gateway” ต้อง “ใส่ใจทำด่วน!!!”.