นอกจากทีมงาน 1/4 Special Report จะได้พูดคุยมุมมองเรื่องนี้กับอดีตนายพลสีกากีไปแล้ว ยังได้สัมภาษณ์ ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เพื่อชี้ให้เห็นจุดมุ่งหมาย และตอบคำถามกับสังคมว่า ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือเพียงแค่ซื้อเวลาเท่านั้น
คณะกรรมการฯ ที่ไม่ค่อยสมดุล
ดร.อมร กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กระบวนการมีปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะถ้าไปดูเนื้อในของคณะกรรมการชุดนี้ ทำงานแทบจะไม่ได้ เพราะครึ่งหนึ่งเป็นตำรวจ ขณะอีกส่วนหนึ่งเป็นพลเรือน แต่ก็เป็นคนที่เคยรับราชการ สุดท้ายแล้วคณะกรรมการที่เป็นพลเรือนจริง ๆ มีไม่ถึง 10 คน เมื่อเป็นเช่นนี้ พอเสนออะไรไป ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมสูงมาก อาทิ เสนอเรื่องการตัดสิทธิประโยชน์ หรือกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่ให้คนอื่นมาก้าวก่ายหน้าที่ตำรวจ หรือลิดรอนสิทธิของตำรวจลง คณะกรรมการหลายคนก็คัดค้านหัวชนฝา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการที่เป็นตำรวจเขาปกป้องผลประโยชน์ของฝั่งตัวเองค่อนข้างมาก
“พอเริ่มต้นก็มีอุปสรรคหนัก ทั้งที่จริงการปฏิรูปตำรวจ ไม่จำเป็นจะต้องมาศึกษาแผนอะไรกันใหม่ เพราะการศึกษาวิจัยมีเยอะมาก เพราะอย่างผมศึกษาเรื่องโครงสร้างตำรวจที่ประเทศอังกฤษ ก็ใช้เวลากว่า 5 -6 ปี ในการเก็บข้อมูล โดยรายงานนี้จะบอกถึงส่วนที่เป็นปัญหาในการคอร์รัปชั่น สิ่งนี้ฝังรากลึกอยู่ในองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงยาก”
การทำงานของคณะทำงานใช้เงินค่อนข้างมากในการทำงานให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ซึ่งเราพบว่า ข้อเสนอที่เราเสนอไปไม่สามารถสร้างการปฏิรูปในองค์กรตำรวจได้ เพราะเสนอไปก็ไปจบอยู่ที่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หรือที่ ก.ตร. ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องแก้กฎหมาย เพราะถ้าไม่แก้ไขจะไม่สามารถทำตามสิ่งที่มีการเสนอได้ โดยหลายเรื่องต้องปรับโครงสร้างองค์กร หากไม่ออกกฤษฎีกา เพื่อมาแก้ไข ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้ หรือระบบการเลื่อนขั้น ที่จะสร้างความเป็นธรรม จำเป็นจะต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ
ตอนนี้สรุปได้ว่า เราปฏิรูปสำเร็จในการนำเสนอ การแก้ไขต่าง ๆ โดยการวางระบบให้พนักงานสอบสวน สามารถเคลื่อนตัวไปได้ในสายอาชีพของตัวเอง เช่น นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือรองสารวัตร สามารถไต่เต้าจากสายสอบสวน ที่ไม่ต้องไปแข่งกับสายงานอื่น แต่สามารถไหลลื่นในตำแหน่งไปถึงรอง ผบ.ตร.ได้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างไปหยุดตรงที่ว่า ถ้าเราไม่สามารถแก้กฎหมาย การบังคับใช้ต่าง ๆ ก็จะทำไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา
หนุนดึง “อัยการ” มีส่วนร่วมการสอบสวน
ดร.อมร ยังมีมุมมองด้วยว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของตำรวจที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ประมวลวิธีการพิจารณาความอาญา เช่น มีการนำเสนอให้ “อัยการ” มามีส่วนร่วมในการสอบสวน ซึ่งปัจจุบัน เราให้ตำรวจและพนักงานฝ่ายปกครองทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน แต่ไม่มีการกำหนดให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ แต่จะมีเฉพาะคดีที่มีการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ โดยสิ่งที่เราเสนอพยายามสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ที่มีการ กำหนดให้อัยการต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาทุกคดี
การนำเสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจ นอกจากนำเสนอการแก้ไขการทำงานแล้ว ยังมีการเสนอถึง กระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ตอนนี้มีอาจารย์หลายท่านมีตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่มาก แต่การที่เราต้องปฏิรูปการเรียนการสอน เนื่องจากในอดีตนายตำรวจบางคนเป็นเหมือน “นักบิน” คือบินมาเอาตำแหน่งอาจารย์ผู้สอน สิ่งนี้เป็นช่องว่างที่เราพยายามแก้ระบบ เพราะอย่างในอังกฤษ ต่อให้เรียนจบปริญญาเอก หรือโท ถ้าอยากเป็นตำรวจ ต้องมาเริ่มต้นรับ ตำแหน่งชั้นประทวน เหมือนกันหมด ซึ่งระบบเขาถือว่า นี่เป็นงานตำรวจที่ต้องเรียนรู้ และค่อย ๆ พัฒนาตัวเองเพื่อเลื่อนตำแหน่งด้วยผลงาน
“แต่หลายคนกลับไปมองว่า ผมเสนอการแก้ไขการเรียนการสอนเพื่อจะยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ซึ่งเราต้องการให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นที่ อบรมวิทยาการตำรวจชั้นสูง เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป และก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยว่า นักเรียนตำรวจจะต้องไปเริ่มเรียนร่วมกับเตรียมทหาร เพราะงานของตำรวจไม่ใช่การรักษาความมั่นคงของประเทศแบบทหาร ดังนั้นในยุคนี้ควรจะปรับเปลี่ยน ไม่ควรจะมีค่านิยมที่สร้างความสัมพันธ์กันแบบผิด ๆ”
จากประสบการณ์การทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องตำรวจ ภายในประเทศและต่างประเทศ ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการไปเก็บข้อมูลโรงพักทั้งขนาดเล็กและใหญ่พบว่า เมื่อ นักเรียนนายร้อยตำรวจ จบใหม่มาประจำโรงพัก ก็จะมีตำรวจชั้นประทวน ซึ่งอยู่ในพื้นที่มานานคอยสอนงาน รู้ดีว่าที่ไหนมีแหล่งอบายมุข ซึ่งจะเรียนรู้มีทั้งที่ถูกและผิดใกล้เคียงกรณีคดี ผู้กำกับโจ้ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวน การที่ไม่ให้ นายตำรวจใหม่ ๆ ไปเรียนรู้การทำงานที่ไม่ถูกต้อง
ตัด “อำนาจการเมือง” ออกจาก ก.ตร.
ดร.อมร กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการแต่งตั้งหรือโยกย้ายตำรวจ เราพบข้อมูลที่น่าละอายอย่างมาก เช่น เคยมีนายตำรวจบางคนมีชื่อไปอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เพื่อต้องการยศทวีคูณ แต่ไม่ได้ลงไปทำงานจริงเพราะเป็นเด็กของผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเรามีการนำเสนอแนวทางปฏิรูปว่า ถ้านายตำรวจคนนั้นไปช่วยงานนักการเมืองหรืองานอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ต้องมีการประเมิน ดังนั้นเราจึงมีการ กำหนดสัดส่วนการแต่งตั้ง ที่จะแบ่งสัดส่วนให้เป็นธรรมทั้งด้าน อาวุโส ขณะที่อีกส่วนจะเป็น ตั้งใจทำงาน และ มีความสามารถ ซึ่งสัดส่วนเหล่านี้มีการกำหนดตามความเหมาะสม
นอกจากนี้มีการพยายามเสนอไม่อยากให้ นายกรัฐมนตรี มานั่งเป็น “ประธาน ก.ตร.” เพื่อไม่ให้มีอำนาจการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบตำรวจ แต่ที่ผ่านมาฝั่งการเมืองก็มักมองว่าอำนาจผลัดกันชม ตราบที่วันนี้อำนาจการเมืองยังไม่ตัดขาดจากตำรวจ คนเหล่านี้ก็ยังขวนขวายหาผลประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจอยู่ จึงอยากให้มองว่า คนที่นั่งหัวโต๊ะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นตำรวจ เพราะตำรวจส่วนใหญ่อยู่ในระดับผู้ปฏิบัติงาน แต่คนที่มาบริหารองค์กร จะต้องเป็นนักวางแผนนโยบาย โดยจะต้องไปนั่งใน ก.ตร. โดยจะต้องมีสัดส่วนที่สามารถตัดสินใจ และเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้
แม้ทุกวันนี้ใน ก.ตร. จะมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก แต่ก็มีแค่ 3 คน มีจำนวนน้อยกว่าตำรวจที่มานั่งคณะกรรมการ จึงเป็นปัญหาที่ยังไม่มีความสมดุล เพราะถ้ามีเรื่องใหญ่ ๆ ภายในตำรวจ คนภายนอกก็ยกมือแพ้ตำรวจที่นั่งอยู่เป็นกรรมการ
เชื่อว่าการได้ “ตำรวจที่ดี” ไม่จำเป็นว่าต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นในความเป็นพี่น้องกันขนาดนั้น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะปกครองกันไม่ได้ เนื่องจากถ้ารุ่นน้องตัวเองทำผิดก็จะพยายามปกป้อง หากระบบอุปถัมภ์มีความเข้มแข็งเวลาเกิดปัญหาก็มักจะไม่ถูกแก้ไข.