วันที่ 30 พ.ค. 2566 คริสเฟอร์ คาเมรอน อดีตนายทหารและนักสมุทรศาสตร์ชาวอังกฤษเริ่มต้นทำตามแผนการที่จะพักอยู่บนเกาะ ‘ร็อคออล’ ให้ได้นาน 60 วัน เพื่อสร้างสถิติใหม่ ทำลายสถิติเดิมที่มีคนทำไว้ที่ 45 วัน และเป็นการจูงใจให้คนบริจาคเงินสำหรับโครงการการกุศลเพื่อกองทัพ

แต่แล้วเขาก็ต้องถอนตัวกลางคันเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 เพราะสภาพอากาศที่เลวร้ายเกินไป อีกทั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือของเขาก็พังไปเกือบหมดจากอิทธิฤทธิ์ของลมและคลื่นทะเลซัดสาด ขณะที่ตัวเขาเองก็เกือบจะโดนคลื่นซัดจนตกเกาะไปหลายครั้ง ทำให้การรั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งนี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

คริสโตเฟอร์ คาเมรอน ผู้หวังจะทำสถิติใหม่บนเกาะร็อคออล แต่ไม่สำเร็จ

คาเมรอน ได้รับการช่วยเหลือจากทีมหน่วยรักษาการณ์ชายฝั่งของอังกฤษ โดยนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัวเขาจากเกาะที่อยู่แสนไกลปืนเที่ยงเพื่อขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ ซึ่ง คาเมรอน ได้กล่าไว้ว่า “เป็นหนี้ชีวิต” ทีมช่วยเหลือในครั้งนี้ 

แม้ว่าแคมเปญของเขาต้องยกเลิกก่อนกำหนด แต่ คาเมรอน ก็ยังสามารถระดมทุนให้โครงการกุศลได้มากถึง 63,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.22 ล้านบาท)

ข่าวของ คาเมรอน ทำให้คนจำนวนมากที่ไม่รู้จักเกาะร็อคออล เกิดความสงสัยว่าทำไมเกาะที่ดูเล็กจิ๋วแห่งนี้ถึงอันตรายมากขนาดนั้น 

เกาะร็อคออลเป็นเกาะที่คนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ความจริงแล้วมันเป็นเพียงปลายยอดที่โผล่เหนือน้ำของเกาะแก่งและแหล่งปะการังเฮเลนส์ รีฟ มีความกว้าง 25 เมตร ยาว 31 เมตรที่บริเวณฐาน ตัวเกาะเป็นหินแกรนิต มีจุดสูงสุดราว 17.15 เมตร มีพื้นที่บนเกาะราว 784 ตารางเมตร อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่หลายร้อยกม. (ห่างจากสก็อตแลนด์ราว 300 กม. และห่างจากไอร์แลนด์ราว 420 กม.) 

มีหลักฐานบันทึกถึงเกาะร็อคออลเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 ต่อมาในปีค.ศ. 1955 สหราชอาณาจักรก็อ้างสิทธิครอบครองเหนือเกาะ โดยก่อนหน้านั้น ถือว่าร็อคออลเป็นเกาะที่ไม่อยู่ในความครอบครองของผู้ใด และในอีกหลายสิบปีให้หลัง การถือสิทธิเหนือเกาะแห่งนี้ก็กลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ที่ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิของฝ่ายแรก ระหว่างนั้น เกาะร็อคออลก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ นานา ตั้งแต่เป็นศูนย์สังเกตการณ์, จุดทดสอบมิสไซล์ ไปจนถึงจุดสำรวจทางทะเลและสภาพแวดล้อมเชิงชีวภาพในทะเล

ไม่ว่าจะมีประเด็นทางการเมืองอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เกาะร็อคออลกลายเป็นสถานที่ที่นักสำรวจและนักผจญภัยอยากจะมา “พิชิต” 

ตามบันทึกของโครงการร็อคออลเอ็กซ์พีดิชัน ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการหาเงินเพื่อโครงการการกุศลเพื่อทหารผ่านศึกและผู้ป่วยเด็ก ระบุว่า มีเพียง 5 คนเท่านั้น ที่อยู่รอดปลอดภัยบนเกาะแห่งนี้ได้มากกว่า 1 คืน

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกาะร็อคออลไม่เหมาะที่จะพักอาศัยและเป็นสถานที่ที่อันตรายอย่างมากก็คือคลื่นลมที่รุนแรง ตัวเกาะจะโดนคลื่นขนาดใหญ่ซัดสาดแทบจะตลอดเวลา หลายครั้งที่คลื่นมีขนาดใหญ่และสูงกว่าจุดสูงสุดของเกาะ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว 

ร็อคออลไม่มีพื้นที่หน้าตัดขนาดใหญ่ แต่ยังพอมีพื้นที่ราบขนาด 3.5 x 1.3 เมตรและเป็นที่แห่งเดียวที่นี่ที่พอจะพักได้ ถึงอย่างนั้นก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เมื่อเจอแรงลม แรงคลื่นที่รุนแรงและอุณหภูมิที่หนาวเหน็บ

แต่เมื่อมองในอีกแง่หนึ่ง อุปสรรคเหล่านี้เองที่กลายเป็นความท้าทายและดึงดูดให้กลุ่มนักผจญภัยเข้ามารับบททดสอบจากธรรมชาติบนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้อยู่เสมอ.

แหล่งข้อมูล : wikipedia.org, foxweather.com, irishexaminer.com

เครดิตภาพ : RockallExped.com