แทบทุกสายตาทั้งในและต่างประเทศ จับจ้องไปที่ปูติน และนายเยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำกลุ่มวากเนอร์ อย่างไรก็ตาม มีอีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทไม่น้อย กับการคลี่คลายช่วงเวลาวิกฤติที่สุดของสถานการณ์ นั่นคือ ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส
ลูคาเชนโกซึ่งมีสมญานามว่า “เผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป” จากการครองอำนาจสูงสุดทางการเมืองของเบลารุส นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และหลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกัน เมื่อปี 2563 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างหนักทั่วประเทศแบบนานข้ามปี ผู้นำเบลารุสใช้ “มาตรการขั้นเด็ดขาด” ในการปราบปรามผู้ประท้วง และบรรดานักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม
ดังนั้น บทบาทของลูคาเชนโกในฐานะ “ผู้สร้างสันติภาพ” ระหว่างรัสเซียกับวากเนอร์ จึงเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายสำหรับหลายฝ่าย ต่อให้ผู้นำเบลารุสกล่าวว่า เป็นเพราะ “มีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวนานกว่า 20 ปี” กับพริโกซิน นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในพันธมิตรคนสำคัญของผู้นำรัสเซีย
นั่นคือ การแสดงให้ผู้นำรัสเซียเห็นว่า ตนเองนั้น “ยังมีประโยชน์” ต่อทั้งรัสเซียและปูติน อีกทั้งการให้ที่ลี้ภัยแก่พริโกซินและกองกำลังนักรบวากเนอร์จำนวนมาก “ย่อมเป็นผลดีในระยะยาว” ให้แก่เบลารุส ซึ่งมีบริษัททหารรับจ้างแบบเดียวกับวากเนอร์ แม้ไม่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลเทียบเท่าก็ตาม ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นของเบลารุสรายงานไปในทางเดียวกัน ว่าลูคาเชนโกสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพื้นที่ป่าในภูมิภาคโมกิเลฟ ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ให้เป็น “ฐานที่มั่น” ของบรรดานักรบวากเนอร์
อย่างไรก็ตาม พื้นที่แห่งนั้นอยู่ห่างจากกรุงมินสก์ ออกไปทางตะวันตกประมาณ 100 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากภาคเหนือของยูเครนประมาณ 200 กิโลเมตร จึงไม่น่าแปลกใจ ที่รัฐบาลเคียฟและพันธมิตรตะวันตก เริ่มมีความสงสัยมากขึ้น เกี่ยวกับการดำเนินการของเบลารุสในเรื่องนี้
ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายหลายด้านของเบลารุส ไม่ต่างอะไรกับ “การสละอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” ให้แก่รัสเซีย โดยสิ่งที่ได้รับกลับมาคือ “สิทธิคุ้มกันทางการเมือง” ที่รัฐบาลมอสโกกางปีกปกป้องรัฐบาลมินสก์จากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ขณะเดียวกัน รัสเซียยังได้โอกาสเพิ่มเติม เข้ามาลงทุนด้านพลังงาน ในเวลาเดียวกับที่ขายพลังงานให้แก่เบลารุส “ในราคามิตรภาพ”
นอกจากนั้น ฐบาลมอสโกเริ่มส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ไปยังเบลารุสแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา และคาดว่า กระบวนการที่เหลือจะเสร็จสิ้นภายในฤดูร้อน หรืออย่างช้าที่สุด คือภายในสิ้นปีนี้ โดยนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางยุคทศวรรษที่ 1990 หรือก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่รัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ไปติดตั้งในประเทศอื่น
จนถึงตอนนี้ เนื้อหาและเงื่อนไขทั้งหมดในการเจรจาระหว่างรัฐบาลมอสโกกับวากเนอร์ ซึ่งมีลูคาเชนโกเป็นคนกลาง “ยังคงเป็นปริศนา” ว่าทั้งสามฝ่ายตกลงกันอย่างไร โดยความเคลื่อนไหวสืบเนื่องจากนั้นมีเพียง รัสเซียยุติการดำเนินคดีอาญากับพริโกซิน ซึ่งไปลี้ภัยในเบลารุสแล้วเท่านั้น
ลูคาเชนโกกล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างกระทรวงกลาโหมรัสเซียกับวากเนอร์ เกิดขึ้นมานานหลายเดือนแล้ว และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการประนีประนอม แต่ทุกฝ่ายกลับมองว่า “สถานการณ์จะดีขึ้นเอง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้นเลยแม้แต่น้อย และกล่าวว่า เขาขอโดยตรงกับปูติน ว่าแม้รัฐบาลมอสโกสามารถ “จัดการ” พริโกซิน “ได้อย่างง่ายดาย” แต่ “ไม่ควรทำ”
ผู้นำเบลารุสกล่าวด้วยว่า ได้สั่งให้กองทัพ “เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด” เช่นกัน ระหว่างที่รัสเซียเผชิญกับภาวะตึงเครียดอย่างหนัก และเชื่อว่า ตะวันตกกำลัง “จับจ้องเพื่อหาโอกาส” จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย แต่แน่นอนว่า สหรัฐยืนกรานปฏิเสธ ไม่มีส่วนรู้เห็น “ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม” ก่อนประกาศคว่ำบาตรบริษัทด้านเหมืองทองคำและเพชรของพริโกซิน ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ( ซีเออาร์ ) นัยว่าเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือการที่ปูตินกล่าวเองเป็นครั้งแรก ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้วากเนอร์ดำเนินการในฐานะ “บริษัทเอกชน” แต่ในความเป็นจริง งบประมาณสนับสนุนวากเนอร์ทั้งหมด มาจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางของรัสเซีย โดยนับตั้งแต่การสู้รบในยูเครนปะทุ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 รัฐบาลมอสโกจ่ายเงินให้แก่วากเนอร์ไปแล้วมากกว่า 86,262 ล้านรูเบิล ( ราว 35,800 ล้านบาท ) และเน้นย้ำว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับวากเนอร์ “ไม่มีผล” ต่อภารกิจทางทหารของรัสเซียในยูเครน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES