หากพูดถึง “ป่าช้า” ความรู้สึกแรกที่เข้ามาในหัว คือ “ความน่ากลัว-น่าขนลุก”

ด้วยเข้าใจมาโดยตลอดว่า “ป่าช้า” เป็นสถานที่ของการ “เก็บอัฐิ-ฝังศพ” คนตาย

แถมบรรยากาศที่เรามักคุ้นชิน นั่นคือ ภาพความรกร้าง สิ่งปรักหักพัง ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเต็ม

แค่คิดภาพตามก็ชวนขนหัวลุกแล้ว

เป็นไปได้ไม่มีใครหรอกอยากจะเข้าไปใน “ป่าช้า” อันน่าสะพรึง

แต่ไม่ใช่สำหรับคุณตาวัย 69 ปี ที่เปี่ยมล้นด้วยหัวใจจิตอาสา กล้าที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ป่าช้าให้สะอาดตา ลบล้างภาพความน่ากลัวออกไป

เรื่องราวของคุณตา จิตอาสา เป็นที่รับรู้ หลังจากผู้ใช้เฟชบุ๊กชื่อ “สิงหา สิทธิกุล” ได้โพสต์รูปคุณตาวัย 69 ปี ที่ได้มาพัฒนาบริเวณป่าช้า วัดเขาช่องพราน จ.ราชบุรี ลงในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความระบุว่า “คำที่ว่าขอปิดทองหลังพระ คงเอามาใช่กับบุคคลท่านนี้ได้ เพราะท่านพูดกับผมว่า ท่านมีความตั้งใจอยากเข้ามาทำความสะอาดภายในบริเวณวัด โดยเฉพาะบริเวณบริเวณป่าช้า แต่ท่านอายกลัว คนอื่นเห็นแล้วจะพูด (แซว) ผมจึงบอกว่าทิด…ไม่ต้องสน คำพูดคนอื่น เขาไม่ได้มาทำกับเรา ณ ตอนนี้ ท่านได้เข้ามาลงมือทำความสะอาดมา เดือนกว่าๆ จนชาววัดเขาช่องพราน เห็นผลงานที่ท่านทำ ณ ปัจุบันนี้ได้แต่พูดอย่างเดียวว่า สาธุๆๆๆ (ขออนุโมทนาบุญ) ด้วย น่ะ ท่านผู้นี้คือ คุณบุญลือ เย็นนะสา (ทิดจือ )อดีตเงาเสียงสายัณห์ สัญญา แห่งบ้านเตาปูน สาธุๆๆๆ ป.ล.ตอนนี้ทิดจือ ฝากบอกว่า กูจะทำจนกว่า จะหมดแรงทำครับ”

ภายหลังโพสต์ไปได้มีคนเข้ามากดถูกใจ พร้อมสรรเสริญคุณตา หัวใจจิตอาสากันเป็นจำนวนมาก

“เสือสมุทร” ไม่รอช้า เข้าไปพูดคุยกับ นายสิงหา สิทธิกุล ผู้โพสต์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.เตาปูน อ.โพธาราม บอกว่า คุณตาที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก คือ นายบุญลือ เย็นนะสา อายุ 69 ปี หรือ “ตาจือ” อยู่บ้านเลขที่ 112 หมู่ 2 ต.เตาปูน ซึ่งเป็นลูกบ้านของตน โดยตนได้เข้าไปที่วัดเขาช่องพราน แอบไปเจอตาจือ กำลังพัฒนาวัดบริเวณหลังป่าช้า ก็คิดว่าตาแกคงทำไม่จริงจัง พรุ่งนี้ก็คงไม่มาแล้ว สรุปแกมาทุกวันเลย ทำทุกวัน วันละ 4-5 ชั่วโมง จากพื้นที่ป่าช้าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ใบไม้ ขยะ แกทำจนสะอาดตา ตนเลยไปถ่ายรูปแกมาลงเฟซฯ

เมื่อทราบเรื่องราวของ “ตาจือ” จากปากผู้ใหญ่บ้าน “เสือสมุทร” ตรงดิ่งไปยังป่าช้าที่วัดเขาช่องพราน หมู่ 2 ต.เตาปูน พบกับคุณตาจือ กำลังเก็บกวาดใบไม้ พร้อมกับอุปกรณ์ที่นำมาทำความสะอาดบริเวณป่าช้า เช่น มีดอีโต้ จอบ มีดขอ เลื่อย ไม้ฟาด โดยบริเวณรอบๆ ที่เป็นป่าช้าหลังเมรุ ดูสะอาดตา ไม่มีขยะสักชิ้น ซึ่งแต่เดิมรถไม่สามารถเข้ามาจอดได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่รก แต่วันนี้รถสามารถเข้ามาจอดหลบร้อนได้แล้ว

“ตาจือ” เล่าว่า เดิมอาชีพทำนามาก่อน ต่อมาก็ไปฝึกเป็นช่างกลึงขึ้นมา แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้วมันหมดสภาพแล้ว ทำโรงเห็ดก็ขาดทุน ก็เผาทิ้งไปหมดแล้ว ทำรถเกี่ยวข้าวก็ขายเป็นราคาเศษเหล็กไป ในส่วนที่ตนมาถางป่าช้านั้น ตอนแรกทำอยู่ที่บ้าน ทำไปทำมาก็หมด พอดีตนมาที่วัด มาเผาศพก็เห็นสภาพหลังเมรุมันรกมาก เลยคิดว่า ถ้ามีเวลาก็จะมาทำความสะอาด ใหม่ๆ นี่รกมาก ใบไม้นี่หนามาก มีพวกขายของ มีซางข้าวโพด ไม้ลูกชิ้น เศษถุงเศษขยะ เต็มไปหมด ตอนแรกจะทำแค่ตรงโน้น แต่พอมาเจอด้านหลังเมรุ เห็นตอนเผาศพเอาผงกระดูก ผ้าขาวมาทิ้งกันไม่เรียบร้อย รวมถึงตะเกียงที่จุดหน้าศพ กระถางธูป เพราะลิงมันมาตะกุย ทำให้เลอะเทอะสกปรก ตนก็เลยมาทำวันละนิดวันละหน่อยตามกำลัง

เมื่อถามในส่วนเรื่องความกลัวที่มาทำในป่าช้านั้น “ตาจือ” บอกว่า “ไม่กลัวหรอกเป็นกลางวัน เพราะตัวเองเดี๋ยวก็ต้องตาย นับตั้งแต่ที่เริ่มทำมา ตอนนี้ก็ครบ 3 เดือนแล้ว ตอนนี้ทำในป่าช้าเกือบเสร็จหมดแล้ว มองไปก็ไม่น่ากลัวแล้ว เพราะสะอาดตา เวลาคนผ่านไปผ่านมา ถ้าเสร็จตรงนี้ก็ไม่ได้ทำที่ไหน ในส่วนที่จะดูแลพื้นที่ตรงนี้ตลอดไปนั้น ก็ยังไม่แน่ใจ เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยมา หรืออย่างไร แต่ถ้ามีเวลาก็จะมาดูแล ถ้าไม่เป็นอย่างอื่นไปก่อน ตอนนี้สายตาก็ไม่ค่อยดี ขับรถก็กลัวอุบัติเหตุ ยิ่งกลางคืนไม่กล้าไปไหนเลย พื้นที่ตรงนี้แต่เดิมเคยนำนักโทษมาทำความสะอาดกัน นักโทษมาทำกัน ก็ฟันต้นไม้ออกไม่หมด เหลือเป็นศอก เวลาเดินก็ไปสะดุด ยิ่งต้นกระดูกหลาเนี่ย มันเหนียว ที่ทำก็ให้พอดูได้ ความสามารถมีแค่นี้แหละ”

อีกเรื่องที่ “เสือสมุทร” ได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนบ้านของคุณตาจือ นั่นคือ เรื่องหน้าตาและน้ำเสียงที่ละม้ายคล้าย “สายัณห์ สัญญา” ซึ่งเรื่องนี้ “ตาจือ” บอกว่า ในสมัยหนุ่มมีคนทักว่าหน้าตาตนเหมือนสายัณห์ สัญญา และเป็นเงาเสียงของสายัณห์ ก็ไม่ได้จริงขนาดนั้นหรอก คือเราร้องเพลงที่ชอบไปเรื่อย ซึ่งสมัยหนุ่มๆ นั้นชอบร้องเพลง และเคยมีวงดนตรีตีกลอง ในสมัยนั้นจะไปเล่นช่วยงานคนในหมู่บ้าน ทุกวันนี้กลองก็ยังเก็บไว้อยู่

สุดท้ายของเรื่องราวการพูดคุย คุณตาจือ ก็ได้โชว์ลูกคอเพลงนักเพลงคนจนของสายัณ์ สัญญา ให้ฟังทิ้งท้าย

นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าชื่นชมยกย่องในความมีน้ำใจ ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน.
……………………………………..
คอลัมน์ “คนดีของสังคม”
โดย “เสือสมุทร”
ขอบคุณข้อมูล “ถวิล ลิ้มคุณธรรมโม” ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ จ.ราชบุรี
อ่านเรื่องราว “คนดีของสังคม” ได้ที่นี่..