“ฟ้องหย่า” “ฟ้องชู้” สถานการณ์ที่คงไม่มีใครอยากเผชิญ แต่บาง“คู่ชีวิต”อาจต้องใช้สิทธิตามกฎหมายเป็นทางออกของการยุติความสัมพันธ์

“ทีมข่าวอาชญากรรม”ตรวจสอบสถิติข้อหาความผิดเกี่ยวกับการฟ้องหย่าและการฟ้องชู้ ของศาลเยาวชนและครอบครัว ทั่วราชจักร ประจำปี 64-66 ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย.66พบว่า

ปี 64 มี 12,006 คดี เป็นการฟ้องหย่า 11,687 คดี การฟ้องชู้ 319 คดี

ปี 65 มี 14,443 คดี เป็นการฟ้องหย่า 13,890 คดี การฟ้องชู้ 553 คดี

ปี 66 (ม.ค.-พ.ค.) มี 3,179 คดี เป็นการฟ้องหย่า 3,065 คดี การฟ้องชู้ 114 คดี

ต้องยอมรับว่าจำนวนไม่น้อยของคู่สมรสมีจุดจบปลายทางด้วยการหย่าร้าง แบบจากกันด้วยดี  แต่บางส่วนต้องต่อสู้กันด้วยการฟ้องร้อง ซึ่งสาเหตุสำคัญมักมาจากปัญหาการ“นอกใจ”

ในเรื่องนี้ข้อกฎหมายไม่ว่าชายหรือหญิง มีช่องทางใช้สิทธิอย่างไรได้บ้าง นายศีรวิษ สุขชัย ในฐานะทนายความ เจ้าของเพจทนายเบียร์ศีขี้ฟ้อง ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า เมื่อสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ เรียกว่า “เหตุฟ้องหย่า” ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (1) การเรียกค่าทดแทนเมื่อมีชู้นั้น ไม่จำต้องหย่าจากกันก่อนก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องมีหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการแสดงออกโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว เช่น ภาพถ่ายการคบหากัน หลักฐานการแชทหรือสื่อออนไลน์ที่มีการแสดงออก พยานบุคคลที่รับทราบถึงการเปิดเผยความสัมพันธ์ โดยสามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

กรณีภริยาฟ้องหญิงชู้นั้น กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ว่า หญิงชู้นั้นจะต้องมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 ต้องมีพฤติการณ์เปิดตัวหรือแสดงตัวว่าตนเองเป็นคนรัก บุคคลทั่วไป ทราบว่าหญิงชู้มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามี ถึงแม้สามีกับหญิงชู้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน หรือไม่ได้มีหลักฐานถึงขั้นว่าทั้งสองคนมีเพศสัมพันธ์กัน

ยกตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2561 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงว่า หญิงอื่นแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับสามีตนในทำนองชู้สาว“โดยเปิดเผย” หน้าที่นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้นจึงตกแก่โจทก์

การที่โจทก์รู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ช. กับจำเลยเกิดจากคำบอกเล่าของสามีของโจทก์เองหาใช่การกระทำของทั้ง ช. และจำเลยที่มีการแสดงออกโดยเปิดเผยจนเป็นที่รับรู้และเข้าใจต่อบุคคลอื่นไม่

การฟ้องชู้ต้องฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รับรู้ว่าสามีหรือภริยามีชู้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้ หรือควรรู้ความจริง ซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง

สำหรับสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินสามีหรือภริยาไปในทางชู้สาว ย่อมมีขึ้นตั้งแต่ขณะที่ยังไม่มีการหย่า และแม้ภายหลังจดทะเบียนหย่ากันแล้ว สิทธิการฟ้องหาได้หมดสภาพ หรือถูกลบล้างตามไปด้วยไม่

ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2590/2561 มาตรา 1523 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ให้สามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทางชู้สาวได้ แม้ภริยาสมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว เพราะการฟ้องเรียกค่าทดแทนตามวรรคสองนี้เป็นสิทธิของสามีโดยเฉพาะ และสิทธิในการฟ้องของสามีย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่มีการล่วงเกินในทางชู้สาวกัน

จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ทางชู้สาว ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ สิทธิของโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่ขณะที่ยังไม่มีการหย่า แม้ภายหลังมีการจดทะเบียนหย่ากันแล้ว สิทธิในการฟ้องก็หาได้หมดสภาพหรือถูกลบล้างตามไปด้วยไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

ส่วนการฟ้องเรียกค่าทดแทนมากน้อยเพียงใด ศาลจะพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น พิจารณาถึงการเป็นคนที่มีชื่อเสียงทางสังคม ทำให้อับอายเสียหายต่อชื่อเสียง และผลกระทบกับบุตรและครอบครัว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยา และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น และวรรคสอง สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ทั้งนี้ แม้มีการจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศ ก็สามารถฟ้องชู้ในประเทศไทยได้ เพราะถือเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6051/2540 เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์และ ส. ผู้ตายเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐเนววาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และชอบด้วยป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง แล้ว

ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับ ส. สามีโจทก์ตามกฎหมายไทยอีก จึงเป็นการจดทะเบียน ในขณะที่ ส. มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว เป็นการฝ่าฝืนป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1496 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส.              

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

crimedn@dailynews.co.th