ตอนนี้อะไรที่ไม่ควรจะร้อนก็ดันจะร้อน กับเรื่องชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ..ซึ่งไม่รู้ว่า คือแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยยะสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยแตกคอกับก้าวไกลหรือไม่ แม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะนั่งยัน ยืนยัน นอนยัน ว่า “เป้าหมายของเราคือการตั้งรัฐบาลที่มีนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ให้ได้” แต่การเมือง..อย่างว่า มันเรื่องของผลประโยชน์ของคนในสภา ถ้าผลประโยชน์ไม่ลงตัวเขาก็ฉีกเอ็มโอยูกันได้ แล้วจากนั้นก็หาข้ออ้างพันหมื่นเหตุผลเอา
หลังผลเลือกตั้งออก ก็คงช็อคชาวเพื่อไทยไปพอสมควร หลังจากประกาศแลนด์สไลด์จะเอาตั้ง 310 เสียง แถมเหมือนกับว่าทำโพลมาแล้วก็มั่นใจว่า 250 บวกลบไม่น่าจะเกินสิบ ..ซึ่งเอาจริงก็ไม่รู้ว่า เพื่อไทยเขาแฮปปี้จะร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลแค่ไหน แต่ปัญหาคือ พอรู้ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ คืนนั้นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศเชิญขั้วฝ่ายค้านเดิมเข้าร่วมรัฐบาล แล้วก็มีคำว่า “ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย” ค้ำคออยู่
ต่อมา ก็รัดคอ ( หรือโอบกอดก็ได้ ) กันให้แน่นขึ้น โดยในวันที่ 22 พ.ค. 66 8 พรรค เซ็น MOU จัดตั้ง “รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน” ซึ่งระหว่างการตอบคำถามผู้สื่อข่าว ปรากฏว่า น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ( ทสท.ป ไปนั่งอยู่ในกลุ่มสื่อมวลชนด้วยได้ลุกขึ้นถามคำถาม พุ่งไปที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า “บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ใน 5 ปี ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน ผิดเพี้ยนไป จนมองได้ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของเผด็จการที่ยึดอำนาจการบริหารประเทศ เวลานี้เรากำลังโดนดึงไปเล่นในเกมนั้น คือเอา ส.ว. มาโหวต แม้จะรวมเสียงข้างมากได้ 313 เสียงแล้วก็ตาม
คิดว่า สิ่งที่อยู่ในใจประชาชนอยากจะมี MOU ก้าวหน้า คือการยกระดับประชาธิปไตยให้เข้มข้น ในอนาคตอันใกล้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลง MOU ร่วมกันไม่จำกัดเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ว่า จะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ทั้ง 2 พรรคจะอยู่ด้วยกัน รวมถึงพรรคอื่นๆ ด้วย” ดูคำถามยาวๆ งงๆ แต่จับใจความได้ว่า ..ถ้าประกาศเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกันทั้งคู่ เป็นไปได้ไหมที่จะไม่กัดกันแย่งตำแหน่งกันเอง แล้วสุดท้ายก็เหวี่ยงใส่กัน … พอมาเห็นว่ามีปัญหาแย่งเก้าอี้ประธานสภาวันนี้ ก็กลายเป็นว่า น.ต.ศิธาดันมาก่อนกาลซะนี่ …
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นั้นออกอาการไม่พอใจ น.ต.ศิธาจนเห็นได้ชัดว่า “ในวงประชุมเอ็มโอยูก็อยู่ แล้วลงไปทำตัวเป็นสื่อทำไม” จบด้วยวาทะที่น่าจะเป็นวาทะแห่งปี “ต่อยได้ผมต่อยแล้ว” จน น.ต.ศิธาต้องออกมาขอโทษและบอกว่าพร้อมจะลาออกถ้าตัวเองเป็นเงื่อนไขให้จัดรัฐบาลไม่ได้
ข่าวว่า เดิมก็จะแฮปปี้เอนดิ้งอยู่แล้ว ว่าใช้สูตร 14+1 ในส่วนของเพื่อไทยและก้าวไกล คือ ก้าวไกลเอารัฐมนตรี 14 เก้าอี้ บวกเก้าอี้นายกฯ และเพื่อไทยเอารัฐมนตรี 14 เก้าอี้บวกประธานสภา ..แต่ต่อมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็โพสต์ในช่วงราวๆ วันที่ 24 พ.ค. ทำนองว่าพรรคก้าวไกลจะเสียเก้าอี้ประธานสภาไม่ได้ ต้องรักษาหลักการที่พรรคลำดับหนึ่งต้องดูแลทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ..ก็ไม่รู้ว่าตรงนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้พรรคก้าวไกลจะเอาเก้าอี้ประธานสภาด้วยหรือไม่ และล่าสุด ก็เห็นว่าจะส่ง “หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา” เป็นประธานสภา
เจ้าตัวก็แสดงวิสัยทัศน์อะไรเรียบร้อยหน้าเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกลทำนองว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เวลาประชุม พิจารณากฎหมาย ข้อร้องเรียนของประชาชนอย่างรวดเร็ว ไม่ให้สภาล่มบ่อย ส่งเสริมให้ ส.ส. เสนอร่างกฎหมายมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงรับรองกฎหมายของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การเรียกรัฐมนตรีเข้าตอบกระทู้ และใช้กลไกกรรมาธิการ ( กมธ.) อย่างเข้มแข็ง โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ เช่น งบเลี้ยงรับรอง งบดูงานต่างประเทศ เพิ่มงบดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ลูกจ้าง แม่บ้าน ตำรวจสภา ลดงบโครงสร้างพื้นฐานของสภา ไปเพิ่มงบพัฒนาการทำงานวิชาการของสภา ติดตามตรวจสอบการก่อสร้างสภาที่ล่าช้า
โปร่งใส คือ จัดทำระบบเปิดข้อมูลการอภิปราย การทำงาน การเข้าประชุม การลงมติของ ส.ส. ให้ประชาชนทั่วไปตรวจสอบได้ง่าย จัดทำระบบติดตามสถานะของร่างกฎหมาย จัดทำระบบแสดงตนที่โปร่งใส ไร้การเสียบบัตรแทนกัน ให้ประชาชนใช้บริการสภาได้โดยง่าย เข้าถึงทุกบริการอย่างสะดวก เช่นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องให้นม ห้องเลี้ยงเด็ก สนามหญ้ารอบสภา จะเป็นที่แสดงออกของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน จัดทำสภาเยาวชน เพื่อสะท้อนเสียงและความต้องการของเยาวชนไปถึงผู้บริหารประเทศ จัดสภาสัญจรไปยังกลุ่มประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการและทรัพยากรรัฐ
ซึ่งก็ดูเป็นอะไรที่อุดมคติดี แต่เวลาทำงานมันยังมีตัวแปรอีกเยอะในการคุม ส.ส.ให้อยู่ในร่องในรอย พรรคร่วมรัฐบาลมีสิทธิไม่พอใจกันได้และไม่แสดงตนเป็นองค์ทำสภาล่มก็ได้ ใครจะรู้ เหมือนกรณี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่มันไม่ผ่านง่ายๆ เป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจาก ส.ส.ขั้วรัฐบาลเองบางคนนี่แหละที่ออกมาคัดค้าน ..ในทางเดียวกัน พรรคก้าวไกลก็จะกินรวบกฎหมายเอาแต่ที่ตัวเองจะนำเสนอไม่ได้ การเมืองมันเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ให้ลงตัว
น่าสนใจคือการเรียกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ ถ้าถึงเวลาจริงรัฐมนตรีหาเรื่องงอแงไม่มาตอบเอง ส่งตัวแทนมา ประธานสภาก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ให้คนตั้งกระทู้นั่นแหละจิกกัดเอาเอง และก็ไม่รู้ว่า ถึงเวลาจริง หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ก็จะมาตอบกระทู้เอง “เป็นแบบอย่าง” กับรัฐมนตรีอื่นๆ หรือไม่ ..คือ อยากทำอะไรน่ะมันทำได้ แต่พอถึงเวลาตัวแปรเยอะไปหมด ..และข้ออ้างที่ว่าเพื่อเป็นการเสนอกฎหมายที่พรรคก้าวไกลกำหนดเป็นวาระสำคัญ มันก็ฟัง..ไม่ค่อยจะขึ้นอีกล่ะ..เพราะวาระของกฎหมายไม่ใช่ให้ก้าวไกลกำหนด มันมีขั้นตอนต้องพิจารณาตามลำดับที่ถูกส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระ เว้นแต่เรื่องที่รัฐบาลขอว่าเป็นกฎหมายมีความจำเป็นเร่งด่วน ..และจะเสนอกฎหมายอะไรก็ต้องผ่านวิปก่อน ประธานสภาต้องมีความเป็นกลางในการบรรจุระเบียบวาระ
ขณะเดียวกัน ก็ไม่รู้เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยต้องการตำแหน่งประธานสภาแน่ชัดนัก ก็พูดกันไปต่างๆ นานา แต่เขาให้เหตุผลแค่ว่า “เมื่อเสียงต่างกันแค่ 10 เสียง ก็ควรแบ่งประมุขมาสักฝ่าย” อะไรทำนองนี้ ..ถึงไม่ได้ประธานสภา นพ.ชลน่านจะกล้ากลืนเลือดอ้างเสียสิทธิ์เพื่อชาติ ที่จะให้พรรคเพื่อไทยไม่โหวตให้นายพิธาหรือ ? ในเมื่อบอกตลอดว่า เป้าหมายของเราคือการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายพิธาเป็นนายกฯ ..ดังนั้น ฝ่ายไหนเป็นประธานสภา ก็ต้องประชุมให้โหวตนายพิธาให้เป็นนายกฯ ให้ได้ เสียง ส.ว.ไม่สนับสนุนก็ต้องไปดีลกับเสียงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน อาจใช้เหตุผลแบบอุดมคติว่า “ในเมื่อเรามีเป้าหมายในการปิดสวิตช์ ส.ว.ร่วมกัน ทำไมไม่ทำกันแต่ตอนนี้ล่ะ ดีต่อคะแนนนิยม”
หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุ แบบว่านายพิธาเป็นนายกฯ ไปสักพัก แล้วดันโดนสอยขึ้นมาด้วยคดีอะไรสักอย่าง ถ้าตอนนั้นพ้นบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.โหวตนายกฯ ได้แล้ว ( ส.ว.ชุดนี้หมดวาระ พ.ค.67 ) ก็ให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัญหาคือพรรคก้าวไกลมีแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ทีนี้ส้มก็หล่นไปพรรคเพื่อไทยได้แบบไม่น่าเกลียด เว้นแต่จะมีความพยายามเสนอให้ใช้นายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง แล้วก้าวไกลเสนอคนใหม่ที่เป็นคนของพรรค ตอนนั้นประธานสภาจะคุมวงประชุมอย่างไร ? แต่ปัญหาของประธานสภาคือต้องเป็นกลาง ดังนั้นประธานสภาเป็นคนของพรรคไหนก็ตาม แกนนำพรรคเขาวิ่งคุยกันเองตั้งแต่จะให้ใช้คนนอกบัญชีหรือไม่ ก่อนเสนอชื่อ ประธานสภามีหน้าที่แค่คุมองค์ประชุม
ตอนนี้กระแสเริ่มเบื่อๆ ว่าเพื่อไทยยึกยักเหลือเกิน ( ก็ด้อมส้มเขาแรงขนาดนั้น ) สรุปว่าไม่มีเหตุผลดีๆ ฟังได้มากกว่า “กูจะเอา”ใช่หรือไม่ มันทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลดูเป็นอะไรที่อกสั่นขวัญแขวนไปหมด ว่า จะเสนอชื่อประธานสภาประกบหรือไม่ เสนอชื่อนายกฯ ประกบหรือไม่ ยิ่งทาง ส.ว.บางคนอย่างนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ออกมาพูดทำนองตั้งข้อสังเกตหรือส่งสัญญาณก็ไม่รู้ว่า “น่าจะมีแคนดิเดตนายกฯ มากกว่าคนเดียว” ยิ่งทำให้เพิ่มความไม่ไว้วางใจ และไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การนำม็อบลงถนนหรือไม่
ล่าสุด แหล่งข่าวพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภา อาจจะต้องมีการปรับสูตรพรรคก้าวไกลเป็น 15+1 ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็น 13+1 แต่พรรคเพื่อไทยจะต้องพิจารณาว่า คุ้มค่าหรือไม่ที่จะเสียเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง เพื่อแลกกับเก้าอี้ประธานสภาฯ 1 ตำแหน่ง หากเป็นสูตรปรับตำแหน่ง 15+1 และ 13+1 นั้น มองว่าจะทำให้ทั้งสองพรรคไม่เสียหน้า หากยังตกลงกันไม่ได้และ ส.ส. เพื่อไทยยังยืนกรานที่จะกอดตำแหน่งประธานสภาไว้ให้ได้ ก็อาจจะต้องปล่อยฟรีโหวต ซึ่งไม่อยากให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น
ก่อนเลือกประธานสภา วันที่ 4 ก.ค. คุยกันให้เรียบร้อยแล้วกัน อย่าให้ถึงกับมีการเสนอชื่อแข่งให้ลงคะแนนลับ
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”