อีก 10 ปีต่อมา นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี และนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของจีน ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา พยายามรื้อฟื้นการประชุมดังกล่าว ซึ่งหยุดชะงักไปนาน 3 ปี เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การกลับมาพบหารือกันอีกครั้งของทั้งสองประเทศ เพื่อสานต่อกลไกความร่วมมือให้เดินหน้าต่อ จะเป็นไปด้วยความราบรื่น หากไม่มีปัจจัยสำคัญ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภูมิศาสตร์การเมือง และห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ นั่นคือ การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565
หลี่กล่าวระหว่างการเยือนกรุงเบอร์ลิน ในเดือนนี้ ว่ารัฐบาลปักกิ่งมุ่งมั่นเสริมสร้าง “ความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น” กับเยอรมนี ไม่ใช่ “การลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน” พร้อมทั้งย้ำว่า การมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง “สำคัญกว่า” เพื่อฝ่าฟันภาวะวิกฤติที่ดำเนินอยู่ พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของเยอรมนี ไม่ได้มองจีน “เป็นความเสี่ยง”
ด้านโชลซ์ยืนยันว่า เยอรมนีไม่เคยต้องการ ให้มีการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจแบบ “แบ่งฝักแบ่งฝ่าย” อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เยอรมนีจำเป็นต้องมีคู่ค้า “ที่หลากหลายมากขึ้น” โดยขยายความว่า “ทั้งในเอเชียและนอกเหนือจากนั้น”
การแถลงที่เกิดขึ้นแปลความได้ว่า เยอรมนีไม่คิดตัดขาดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจากจีน “แต่ขอลดความเสี่ยง” เฉพาะในด้านที่มีการพึ่งพาจีน “ในระดับที่มากเกินไป” ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งมีความวิตกแฝงอยู่ว่า เยอรมนีซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ในบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป ( อียู ) จะขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐ
กระนั้น เพียงไม่กี่วันก่อนการเยือนเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีจีน รัฐบาลของโชลซ์ผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงฉบับแรก มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับจีน ว่า “กำลังพยายามโดยใช้วิธีการหลากหลาย” เพื่อ “เปลี่ยนแปลงระเบียบโลกปัจจุบัน” ส่งผลให้เสถียรภาพและความปลอดภัย ทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติ “เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น” ในการรักษาคุณค่าและผลประโยชน์ด้านประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ทั้งนั้น เยอรมนียืนยันว่า จีนยังคงถือเป็น “หุ้นส่วนสำคัญ” หากปราศจากบทบาทและอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่ง วิกฤติการณ์และความขัดแย้งมากมายบนโลกอาจไม่สามารถคลี่คลายได้ นอกจากนี้ การรักษาและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งกำลังมีการบูรณาการเข้าสู่การค้าโลก และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศมากขึ้น ตลอดจนบทบาทของจีนในด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกลไกสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องเดินหน้า และประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย
นอกจากนั้น เนื้อหาในแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้กล่าวถึงรัสเซีย “กำลังเป็นภัยคุกคามด้ายความมั่นคงอย่างร้ายแรงที่สุด ต่อภูมิภาคยูโร-แอตแลนติก” สืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ซึ่งการที่รัสเซียและจีนมีความเป็นพันธมิตรกันอย่างแน่นแฟ้น เยอรมนีจึงต้องแสวงหา “โอกาสและทางเลือก” เพื่อ “ลดการพึ่งพิงฝ่ายเดียว” ต่อจีน
รูปแบบของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นเรื่องของการรักษาสมดุล และการบริหารความเสี่ยง ระหว่าง “จีนกับเยอรมนี “เยอรมนีกับสหรัฐ” และ “สหรัฐกับจีน” ประเด็นด้านความมั่นคงกำลังเข้ามามีความเกี่ยวโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเยอรมนี จนแทบกลายเป็นเรื่องเดียวกันในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตะวันตก ว่าสภาพแวดล้อมทางการลงทุนจะได้รับการปรับปรุง และบริษัททุกแห่ง “จะได้รับความดูและอย่างเท่าเทียมจากภาครัฐ” ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการด้านใดก็ตาม และยอมรับ การที่จีนยังคงต้องเผชิญกับ “ความท้าทายนานัปการ”
ปัจจุบัน เยอรมนีคือประเทศยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ขณะที่แรงงานชาวเยอรมันมากกว่า 1 ล้านคน อยู่ในสายงานการผลิต “ที่พึ่งพิงจีนโดยตรง” ในเวลาเดียวกัน เกือบครึ่งของมูลค่าการลงทุนจากยุโรปในจน ณ เวลานี้ มาจากเยอรมนี และเกือบครึ่งของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเยอรมนี ยังคงต้องอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทิศทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไรต่อไป หนึ่งในตัวแปรสำคัญ คือการที่แต่ละฝ่ายตีความ “การลดความเสี่ยง” ว่าอย่างไร.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES