โดยเฉพาะประเด็นในกระแสความสนใจของสังคม เช่น ราคายาเสพติดลดทำผู้เสพเพิ่มหรือไม่, เทรนการใช้ยาเสพติดแบบสูตรผสม หรือที่เรียกว่า Happy water ไปจนถึงผลพวงเศรษฐกิจตกต่ำ

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) วิเคราะห์สถานการณ์ผ่าน “ทีมข่าวอาชญากรรม” เริ่มจากภาพรวมจับกุม ชี้ให้เห็นแนวโน้มคดีความและการจับกุมผู้ต้องหาที่ลดลง แต่ปริมาณของกลางยาเสพติดแต่ละคดีกลับเพิ่มสูงขึ้น

“ยกตัวอย่าง ปี 62-ปัจจุบัน ปี 62 มีคดีเกือบ 400,000 คดี แต่ปี 65 เหลือเพียง 280,000 คดี แต่จำนวนยาเสพติดสูงขึ้นมาก”

ขณะที่สถานการณ์ราคายาเสพติด เช่น ยาบ้า หลายสิบปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 55 สตางค์/เม็ด การลอบขนส่งจากภาคเหนือลงมาภาคกลางในอดีต คิดราคาเม็ดละ 2 บาท/การขนส่ง แต่ปัจจุบันมีการขนส่งผ่านพัสดุกับบริษัทเอกชน ต้นทุนจึงถูกมาก เหลือเม็ดละ 2 บาท 1 กิโลกรัม เท่ากับ 10,000 เม็ด

ทุกวันนี้การขนส่งยาเสพติด 1 กิโลกรัมผ่านขนส่งเอกชน เสียค่าส่งเพียง 90 บาท จากเคยเสียราคาส่ง 20,000 บาท ลดลงเหลือหลักสิบ แถมใช้เวลาขนส่งไวขึ้น คนรับจ้างขน 1 กิโลกรัม ได้ค่าจ้าง 3,000 บาท ผู้ว่าจ้างจึงเหลือกำไรอู้ฟู่

ข้อมูล ป.ป.ส. เกี่ยวกับอัตราราคายาเสพติดปัจจุบันพบ ยาบ้า เม็ดละ 50 บาท, ไอซ์ กรัมละ 1,000 บาท, ยาอี เม็ดละ 500 บาท, โคเคน กรัมละ 2,000-3,000 บาท และ Happy Water ซองละ 2,000-2,500 บาท

สำหรับ Happy water ไม่ใช่ยาเสพติดประเภทใหม่ แต่เป็นการผสมยาเสพติดหลายประเภท อาทิ เมทแอมเฟตามีน ไอซ์ เคตามีน ฯลฯ เนื่องจากราคายาเสพติดไม่เท่ากัน บางชนิดราคาสูง บางชนิดราคาต่ำ เมื่อนำมาแบ่งและผสมกัน จึงทำให้คนขายได้กำไร ขณะที่การออกฤทธิ์แต่ละประเภทที่แตกต่าง จึงเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้เสพมากขึ้น เช่น เคตามีนออกฤทธิ์กดประสาท เมทแอมเฟตามีนออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท สิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาผสมตามสูตรของนักเล่นยา ในทางการแพทย์ชี้ชัดอันตรายมาก เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังสะท้อนถึงผลพวงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน อาจไม่มีผลทำให้ปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หรือกระทบโดยตรง แต่ยอมรับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากการว่างงาน หรือปัญหาปากท้อง ทำให้บางส่วนหลงผิดเข้าสู่วงจรยาเสพติด

ทั้งลักษณะผู้เสพ เพราะความเครียด การสมัครใจรับลำเลียงยาเสพติดแลกค่าจ้าง ไปจนถึงการตัดสินใจเข้าสู่วงจรผู้ค้ารายย่อย เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง คิดว่าทำง่าย ผลตอบแทนสูง สามารถมีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีนักค้า “หน้าใหม่” เพิ่มขึ้น

“ตนอาจจะมองแตกต่าง ไม่ได้มองว่ายาเสพติดเข้าถึงง่าย เพราะไม่มีการนำออกมาโชว์ตามที่สาธารณะ แต่เป็นการบอกปากต่อปากภายในชุมชนว่าใครคือผู้ค้ารายย่อย หากเป็นการขายในโซเชียล มักใช้อีโมจิ หรืออักขระพิเศษ เพื่อเลี่ยงการถูกจับได้ ดังนั้น ต้องเป็นคนที่ใฝ่เรื่องยาเสพติดเท่านั้น ถึงจะเจอต้นทางผู้ค้า”

สำหรับการปราบปรามยาเสพติดขณะนี้ ไม่ได้เน้นแค่ผู้ค้ารายใหญ่ รายสำคัญ แต่ ป.ป.ส. และตำรวจท้องที่เน้นขยายการจับกุมแบบ “เส้นเลือดฝอย” ไปที่กลุ่มผู้ค้ารายย่อยตามชุมชน เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้สามารถแตกแขนงไปยังผู้เสพ-ผู้ค้ารายเล็กอีกจำนวนมาก โดยจะนำโมเดลชุมชนยั่งยืน ค่อยๆ ปราบปรามจากพื้นที่เล็กไล่ไปพื้นที่ใหญ่

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายข้อกังวลที่ ป.ป.ส. เล็งเห็นขณะนี้คือ การมีกลุ่มคนหัวใส พยายามผสมยาเสพติดประเภทใหม่ๆ ใช้ความหลากหลายของชนิดสารเสพติดมาผสมกัน เพื่อคิดค้นสูตรให้ออกฤทธิ์ฉับไว หรือออกฤทธิ์แรง โดยห่วงผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้ที่ไม่รู้ “อิโหน่อิเหน่” และวงจรอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นตามมา.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]