ทั้งนี้ เรื่องนี้ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ก็สำคัญอย่างมากกับผู้คนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ “กลุ่มเด็กและเยาวชน” ที่อาจมี “ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าผู้ใหญ่” ซึ่งนับวันความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัย ยิ่งมีสูงเพิ่มขึ้นในพื้นที่โลกออนไลน์ และเพื่อจะช่วย “เพิ่มเกราะป้องกัน” ให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้แบบมีความสุข ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม…

สังคมไทยต้องร่วมมือกันช่วยเสริมสร้าง

ร่วมกัน “สร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล”

ให้ “มีทักษะเอาตัวรอดในโลกออนไลน์”

เกี่ยวกับ “แนวทาง” การ “สร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล” นั้น ก็มีการเผยแพร่ไว้ผ่าน เฟซบุ๊ค MUSEF Conference (ศูนย์วิจัยด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยได้มีการแนะนำถึงเรื่องของ “ภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล” หรือ“Digital Resilience” เอาไว้ว่า… เป็นทักษะที่เด็กและเยาวชนไทยยุคใหม่จำเป็นต้องมี ซึ่งชุดข้อมูลในเรื่องนี้จัดทำขึ้นโดยคณะที่ประกอบด้วย รศ.ดร.โธมัส กวาดามูซ, ณัฐรัชต์ สาเมาะ, วรวลัญช์ วรัชวรวัลย์ นักวิชาการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเนื้อหาน่าสนใจ

ในชุดข้อมูลนี้ได้ระบุถึง “ปัญหาความไม่ปลอดภัย” จาก “การใช้สื่อออนไลน์” ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยไว้ว่า…มีปัญหาในหลายประเด็น เช่น ข่าวปลอม (Fake news), ถูกขโมยอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์, เสพติดเกมและพนันออนไลน์, ใช้ประทุษวาจา (Hate speech) และรังแกกันบนพื้นที่ไซเบอร์ (Cyberbullying) โดยประเด็นปัญหาเหล่านี้พบเพิ่มขึ้นในพื้นที่ไซเบอร์-สังคมออนไลน์ ซึ่ง “ก่อให้เกิดผลกระทบ” กับ “เด็กที่ถูกกระทำ” อาทิ เด็กที่ถูกรังแกมีแนวโน้มเกรดการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่ไม่ถูกรังแก และยังมีแนวโน้มขาดเรียน กับเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูงกว่า รวมถึงส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายด้วย

จากผลกระทบดังกล่าว…ไม่เพียง สร้างบาดแผลทางจิตใจ แต่ยัง ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาว ด้วย ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากการ “ใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่ระวัง” ในขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับ “Cyberbullying” หรือ“รังแกบนพื้นที่ไซเบอร์” ประเด็นนี้ข้อมูลจากการศึกษาก็พบตัวเลขที่น่าตกใจว่า…มีเยาวชนไทยถึง 61.6% ระบุว่าเคยเป็นผู้กระทำ Cyberbullying ต่อเพื่อน ๆ และมีเยาวชนไทยราว 58.8% ระบุว่าเคยถูกกระทำ เคยเป็นเหยื่อการรังแกบนพื้นที่ไซเบอร์

ตัวเลขนี้สะท้อนภาพปัญหาโลกดิจิทัล

ที่สังคมต้องเร่งเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ

ทั้งนี้ สำหรับการ “สร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล” นั้นในบทความในแหล่งดังกล่าวข้างต้นได้อธิบายไว้ว่า… หมายถึง กระบวนการด้านการปรับตัวทางบวกและลดผลกระทบทางลบต่อชีวิตตนเอง เมื่อต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ โดยเป็นกระบวนการที่ทําให้บุคคลสามารถผ่านพ้นปัญหาบนโลกออนไลน์ และดําเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

 นอกจากนั้น “การสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล” ยังถือเป็น “ทักษะสำคัญที่เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีในการใช้ชีวิตในยุคนี้” โดยที่การเพิ่มพูนทักษะนี้เปรียบเสมือนฉีดวัคซีนให้เด็กและเยาวชนมีความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูจิตใจตนเอง โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลเพื่อให้เด็กและเยาวชนใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัย องค์ประกอบ 3 อย่างร่วมกัน ดังนี้คือ…

1.ทักษะดิจิทัลของเยาวชน (The Youth Digital Skill) ที่เป็นความสามารถในการใช้เทคโนโลยีให้ได้รับประโยชน์และผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยลดอันตรายจากความไม่ปลอดภัยในโลกดิจิทัล 2.การมีภูมิคุ้มกันทางใจ (Resilience) โดยขึ้นกับสภาพจิตใจเด็กแต่ละคน ที่เมื่อเผชิญปัญหาแล้วจะสามารถฟื้นฟูจิตใจตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ร่วม เช่น มีจิตใจเข้มแข็งเป็นทุนเดิม มีการสนับสนุนจากครอบครัว มีสภาพแวดล้อมที่ดี และอีกองค์ประกอบคือ 3.การปกป้องการใช้สื่อดิจิทัล (Digital Protective Factor) ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถที่จะมีพัฒนาการเกี่ยวกับกระบวนการปรับตัวทางบวก และลดผลกระทบทางลบ เมื่อต้องเผชิญความไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ …นี่เป็น“3 องค์ประกอบ” ในการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่ง “ภูมิคุ้มกันโลกดิจิทัล” นั้นในยุคดิจิทัล“จำเป็นจะต้องมี”

ในชุดข้อมูลโดยนักวิชาการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มีการระบุถึง “คุณลักษณะ” ของ “คนที่มีภูมิกันโลกดิจิทัล” ไว้ด้วยว่า…มักจะประกอบด้วย “4 ลักษณะสำคัญ” นั่นคือ… 1.รู้ตัวว่าเมื่อใดที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ถัดมา…2.รู้ตัวว่าต้องทําอย่างไรเพื่อขอความช่วยเหลือ หากเจอภัยออนไลน์ 3.รู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และ 4.รู้จักวิธีกอบกู้สถานการณ์ เมื่อเกิดปัญหา …เหล่านี้นี่เป็นข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจผ่านบทความทางวิชาการ ว่าด้วยเรื่องของ“ภูมิคุ้มกันในโลกดิจัล”

สังคมต้องร่วมกัน “ฉีดภูมิคุ้มกันให้เด็ก”

ให้เด็ก “มีเกราะป้องกันโรคภัยดิจิทัล”

โดยที่เรื่องนี้ “นับวันก็จะยิ่งสำคัญ!!”.