ตอนนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมาก เกี่ยวกับการกระทำของ “หยก ธนลภย์” เยาวชนที่ต้องคดี ม.112 ซึ่งได้ไปรายงานตัวเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยอ้างบุคคลอื่นในกลุ่มทะลุวังที่ไม่ใช่บิดามารดาเป็นผู้ปกครอง ปรากฏว่า เด็กหญิงทำผมสีชมพู ไม่แต่งเครื่องแบบไปเรียน และมีข่าวระบุว่า หยกจะเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่อยากเรียน ซึ่งวิชาที่หยกไม่เข้าเรียนคือจริยธรรม ทำนองว่า “มาสอนกันทำไมเรื่องใครเป็นคนดี”
ดูจากโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เรียกว่า กระแสหยก“คาบ้าน”พอสมควร ที่มีคนไม่เห็นด้วยกับการกระทำลักษณะนี้ โดยเหตุผลคือ “ถ้าเลือกไปอยู่ในที่ๆ มีกฎ คุณก็ต้องเคารพกฎของเขา ไม่อยากใส่ชุดนักเรียน ไม่อยากเรียนวิชาที่ไม่อยากเรียน ก็ไปเรียนทางเลือกแบบโฮมสกูลหรือการศึกษานอกโรงเรียน ( กศน.) เอาเถอะ” ขณะเดียวกัน ฝั่งที่สนับสนุนเขาก็บอกว่า “ไม่ควรมีเด็กถูกผลักออกนอกระบบการศึกษาเพียงเพราะไม่ชอบใจระเบียบบางอย่าง ควรมีการเจรจาพูดคุยหาจุดลงตัวแบบประชาธิปไตย และเรื่องเครื่องแบบ ทรงผม เป็นสิ่งที่กดทับเด็กนักเรียน”
เรื่องเครื่องแบบนี่ก็เถียงกันจัง บ้างก็ว่า เครื่องแบบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นชุดบังคับซื้อ อาจมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่มีกำลังซื้อในขณะที่ร่างกายอยู่ในวัยเจริญเติบโตต้องเปลี่ยนเครื่องแบบทุกปี บ้างก็ว่ามันไม่เหลื่อมล้ำ เพราะมันแต่งตัวแบบเดียวกันหมดทั้งโรงเรียน … ก็มีเสียงเถียงจากฝ่ายสนับสนุนเครื่องแบบอีก ว่า แต่งไปรเวทก็เหลื่อมล้ำแล้ว เด็กบางคนบ้านรวยก็ใช้เสื้อผ้า ใช้กระเป๋า ใช้รองเท้าผ้าใบแพงๆ ได้ เด็กที่ไม่มีเงินก็มองตาปริบๆ จนกระทั่งถึงวันหนึ่งเขาทนความอยากได้ของเหล่านั้น“เพื่อให้ทัดเทียมเพื่อน” ไม่ได้ .. ก็อาจเลือกวิธีทางหาเงินแบบที่ไม่เหมาะสม ซึ่งภัยสังคมพร้อมล่อเด็กอยู่ตลอดเวลา อย่างที่เราเห็นข่าวหลอกให้เยาวชนค้าประเวณี หรือถ่ายคลิป
แล้วการใส่ของแพง บางทีกลายเป็นความไม่ปลอดภัยต่อเด็กหรือไม่ อย่างสมมุติว่า อนุญาตให้แต่งไปรเวทและมีเครื่องประดับได้ ก็จะมีพวกเด็กเหลือขอทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนข่มขู่เอาของแพงๆ เหล่านั้น
เรื่องสองคนยลตามช่อง... คือมองไม่เหมือนกัน ฝ่ายไม่สนับสนุนเครื่องแบบบอกว่า อย่างไรมันก็เหลื่อมล้ำ เพราะ “ฐานะทางสังคมของโรงเรียน” อย่างเช่น ที่ชอบพูดๆ กันคือ นักเรียนชาย กางเกงสีกากีเป็นโรงเรียนแบบน่าจะดูจน แต่ถ้ากางเกงดำมันดูไฮโซ ..ฝ่ายสนับสนุนเครื่องแบบว่า ก็เอาเวลาไปตั้งใจเรียนมากกว่ามานั่งโวยวายว่าเครื่องแบบเป็นสิ่งกดทับ จะได้เข้าเรียนโรงเรียนที่มันดูดีๆ ได้สิ ..และบอกว่า พอเข้าทำงานองค์กรที่มีเครื่องแบบ คุณจะต่อต้านว่ามันกดทับเหรอ เพราะเครื่องแบบเป็นการ“แบ่งหน้าที่”กลายๆ ในสายงาน อย่างเป็นพนักงานซ่อมรถ แต่อยากขบถเรื่องเครื่องแบบ จะไปแต่งเป็นท่านประธานเพราะรู้สึกว่า การใส่เครื่องแบบพนักงานซ่อมรถมันไม่ถูกจริตก็ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มีเด็กบางคนที่มีความคิดไม่ได้ใยดีอะไรเรื่องเครื่องแบบ เขาบอก “โรงเรียนอยากให้ใส่อะไรก็ใส่ ไม่ได้สนใจ เพราะเขาเอาเวลาไปโฟกัสกับการเรียน หวังจะเข้าอุดมศึกษาที่ดีๆ ได้หรือกระทั่งไปต่อมหาวิทยาลัยระดับโลก อ่านหนังสือจนบางทีเผลอหลับคาชุดนักเรียนนั่นแหละ” นั่นก็คือความเห็นอีกมุมหนึ่ง ที่เขาไม่ได้เห็นว่าการประท้วงเรื่องนี้สลักสำคัญอะไร เพียงแค่ใครอยากร่วมอุดมการณ์ก็ร่วม ..พอถามเรื่องทรงผมล่ะ เขาก็บอกว่า โรงเรียนให้ตัดอะไรก็ตัด บอกแล้วว่า สนใจแต่เป้าหมายว่า จะเข้าสถาบันอุดมศึกษาดีๆ เพื่อได้มีอาชีพดีๆ อย่างไร
เรื่องทรงผมนี่ก็น่าคิด เพราะโรงเรียนหลายที่ ( ปัจจุบันน่าจะยังมีอยู่ประปราย ) ที่หัวกบาลเด็กกลายเป็นสนามอารมณ์ของครู ประเภทไม่พอใจเจ้าหนี้ตามล่า ทะเลาะกับผัวฯลฯ เอากรรไกรมาลงกับหัวเด็กแบบเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล บางทีตัดแหว่งจนกลายเป็นการตัดให้อาย ซึ่งนักเรียนหลายคนอยากให้มีกฎ“ธำรงวินัย”ครูประเภทนี้ คือ ถ้าตัดผมเด็กเมื่อไรครูก็จะต้องโดนตัดคืนบ้าง เพราะการตัดผมมันคือการละเมิดสิทธิจริงๆ ..ควรให้กระทรวงศึกษาธิการออกกฎแบบเข้มข้นไปเลยว่าถ้ามีเรื่องนี้ เด็กมีช่องทางร้องเรียนอย่างไร และต้องตัดผมครูประจานแบบประจานเด็กหน้าเสาธงบ้าง …กรณีนี้ถ้าเด็กกลัวจะมีปัญหา ผู้ปกครองก็ต้องลุกขึ้นสู้ให้เด็ก
อย่างไรก็ตาม เรื่องเครื่องแบบและทรงผม มันเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ เมื่อมีความมั่นใจก็มีความสุขตามมา ถ้าหาจุดลงตัวได้ มันก็น่าจะเป็นเรื่องดี .. มีเด็กหรือกระทั่งครูที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ ต้องการความมั่นใจในเรื่องนี้ที่จะ“แต่งกายและไว้ผมตามเพศวิถี”ของตัวเองได้ …อย่าคิดว่าเด็กเรื่องมาก เพราะความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ของเราไม่เหมือนกัน ยิ่งกับเยาวชนวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่าน อารมณ์ยิ่งอ่อนไหวง่าย มีข่าวเด็กที่ถูกบังคับตัดผมฆ่าตัวตายมาแล้ว เพราะเขารู้สึกว่า ทุกอย่างพยายามกดทับจนไม่ยอมทำความเข้าใจกับความเป็นตัวเขาจริงๆ
แต่พัฒนาการของเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่คืบหน้า เพราะบางโรงเรียน ก็เห็นมีข่าวว่า ปล่อยให้ครูและนักเรียนแต่งกายไว้ผมตามเพศวิถีของตัวเองได้แล้ว คือ ไม่จำเป็นต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด และต่อไปก็คงจะมีโรงเรียนที่ปล่อยเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นโรงเรียนที่ค่อนข้างเคร่งเพราะเป็นโรงเรียนที่ใช้จารีตศาสนากำกับ อย่างโรงเรียนมุสลิมในภาคใต้ เครื่องแบบนักเรียนหญิงจะไปแก้เขาไม่ได้ เพราะอิสลามยึดศาสนาเป็นกฎหมาย หรือกระทั่งโรงเรียนคริสต์เคร่งๆ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีหยกจะแต่งตัวทำผมอย่างไรไปเรียน ก็ถือเป็นการประท้วงส่วนตัวของเขา ซึ่งสื่อไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจมาก เป็นเรื่องที่โรงเรียนกับผู้ปกครองตัวจริงคือพ่อแม่ต้องมาคุยกันกับเด็ก ใครจะเลียนแบบก็เรื่องของเขา ..สื่อไม่จำเป็นต้องสนใจมากเพราะระวังมันจะกลายเป็นเรื่อง “น้ำผึ้งหยดเดียว” คือถูกขยายความออกไปจนกู่ไม่กลับ เดี๋ยวฝ่ายไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเห็นด้วยจะปะทะกัน .. เพราะตอนนี้ก็มีการเล่าเรื่องจากอีกมุมหนึ่งว่าพวกม็อบทะลุวังไปคอยตามดู หรือไลฟ์ตอนที่หยกเดินทางไปเรียน และมีคลิปปรากฏว่ามีการโวยวายด่า รปภ.มาแล้ว ..ก็มีคนมีสิทธิ์คิดได้ว่า เป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพื่อเอาภาพไปฟ้องโลกว่า “เยาวชนถูกกระทำ”หรือไม่ ?
กลุ่มทะลุวังนี่ก็มีข่าวว่า ฝ่ายเคลื่อนไหวแนวๆ ร่วมเดียวกันก็ไม่ค่อยชอบเพราะแนวทางสุดโต่งไป ..เคยมีกรณีว่า เยาวชนคนหนึ่งในทะลุวังถูกทำร้ายเพราะไปป่วนกลุ่มชุมนุมแนวคิดตรงข้ามที่สนามหลวง คนก็เข้ามาเห็นอกเห็นใจด่ากันใหญ่ ปรากฏพอมีคลิปออกคดีพลิก ..คือไปป่วนเขาก่อน เลยเนียนเป็นว่าทำเงียบๆ เรื่องนี้ไป
ส่วนกรณีหยกไม่อยากเรียนวิชาจริยธรรม ด้วยเหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องสอนว่าใครเป็นคนดีนั้น…เอาจริงวิชานี้มันควรมีในหลักสูตร เพราะการมีมารยาท การเคารพกฎกติกาของสังคม การโอบรับความแตกต่างด้วยหลักธรรมะ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ก็อยู่ในหมวดเดียวกับจริยธรรมนั่นแหละ แต่ถ้าสอนแบบยกตัวอย่างว่าใครเป็นคนดีก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะบางคนมันเป็นประวัติประเภท “ฟอกขาว”
เอาจริง เด็กวัย ม.ปลาย วิชาจริยธรรมนี่ควรจะเรียนจะสอนแบบวิชาสัมมนา คือ ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ต้องมีการตัดสินใจทางจริยธรรมเกิดขึ้น และให้พูดคุยถกเถียงแสดงความเห็นกัน คือไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด …การตัดสินใจทางจริยธรรมต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง ในแต่ละสถานการณ์มันมีความแตกต่างกันเรื่องแนวทางที่คนเราใช้ตัดสินใจ แต่ต้องให้เหตุผลให้ได้ว่า “ทำไมเราเลือกตัวเองหรือสังคม”
ข้อถกเถียงทางสังคมมันเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อคนเรารื้อถอนความคิดเดิมๆ มากขึ้น แต่กรณีนี้ขอให้จบที่เด็กกับโรงเรียน สื่อไม่จำเป็นต้องไปขยายความ
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”