ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ จากที่ได้มีการรวบรวม “พฤติกรรมทางดิจิทัลของคนไทย” ที่พบตัวเลขว่า คนไทยใช้เวลาออนไลน์กว่า 1 ใน 3 ของทุกวัน และในคนไทยกว่า 71.75 ล้านคน มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 61.21 ล้านคน หรือราว 85.3% ของประชากร ที่สำคัญ…เฉลี่ยแล้ว ใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตถึง 8 ชั่วโมง 6 นาที โดยเป็นการใช้ผ่านทางมือถือ 5 ชั่วโมง 5 นาที ต่อวัน…

จากตัวเลขนี้ “ไทยติดอันดับ 4 ของโลก”

ติดโผ “ชาติที่เล่นอินเทอร์เน็ตมือถือสูง”

ทั้งนี้ จากตัวเลขผลสำรวจดังกล่าวข้างต้น ก็จึงไม่แปลกที่ในยุคปัจจุบันจะมีคนไทยส่วนหนึ่งเริ่มประสบปัญหาจากการใช้งานเทคโนโลยีเป็นเวลาติดต่อกันนาน ๆ ซึ่งมี “สาเหตุ” จาก พฤติกรรมใช้งาน-ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าหากบางคน “ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” หรือ “ขาดภูมิคุ้มกันต่อโลกดิจิทัล” แล้วล่ะก็…ก็ “น่าเป็นห่วง” ว่าอาจ สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต!! โดยอาจทำให้เกิด “ภาวะเครียดจากเทคโนโลยี” หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะ Technostress” โดยถือเป็น “โรคภัยในยุคดิจิทัล” ที่ต้องให้ความสนใจเนื่องจากคนไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงจากภาวะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ…

เพระพฤติกรรมใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้น

จึงเสี่ยงมีปัญหาจากภาวะ Technostress

สำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับ “Technostress” หรือ “ภาวะเครียดจากเทคโนโลยี” ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ จากการที่ผู้คนในปัจจุบันนี้มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเล่นโซเชียลมีเดียตลอดเวลานั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจเอาไว้ผ่านบทความใน จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 43 ฉบับที่ 5 ที่จัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีชื่อบทความว่า “มีใครเครียดจากเทคโนโลยีบ้าง?” ซึ่งผู้เขียนคือ มนสิการ กาญจนะจิตรา โดยได้มีการย้ำเตือนให้ระวังเกิด “ภาวะเครียดจากการใช้เทคโนโลยี” ไว้ด้วย โดยสังเขปมีดังนี้…

ทาง มนสิการ ได้มีการระบุไว้ว่า…ยิ่งปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตออนไลน์ตลอดเวลา กรณีนี้ยิ่งสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น โดยหลายคนมีพฤติกรรมที่เมื่อตื่นนอนขึ้นมา สิ่งที่ทำเป็นอันดับแรกคือ…คว้าโทรศัพท์มือถือเพื่อมาดู-มาเล่น ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะสร้างความเครียดให้ตั้งแต่เช้า หรือหลายคนมักจะตั้งค่าการแจ้งเตือนเมื่อมีข้อความหรืออีเมลล์ใหม่เข้าผ่านโทรศัพท์มือถือ กรณีนี้ก็ยิ่งทำให้หลายคนจึงต้อง “ออนไลน์ตลอดเวลา” ซึ่งชีวิตที่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียตลอดเวลาแบบนี้ ทำให้สมองไม่ได้หยุดพักผ่อน หรือ ไม่มีเวลาที่จะทำให้สมองได้ผ่อนคลาย ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้…

พฤติกรรม “ใช้ชีวิตออนไลน์ตลอด”…

ทำให้ “เกิดภาวะความเครียดโดยไม่รู้ตัว”

นอกจากนั้น ทาง มนสิการ ยังระบุถึง “ผลเสีย” ที่ตามมาจากการ “ใช้ชีวิตออนไลน์แบบไม่พัก” ไว้ว่า… ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อชีวิต ได้แก่ ทำให้ “ชีวิตส่วนตัวหายไป” โดยการที่ใช้ชีวิตออนไลน์ตลอดเวลาจะลดทอนเส้นแบ่งชีวิต ในบางคนการที่ต้องออนไลน์ตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถแบ่งแยกชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ชัดเจน โดยเฉพาะในยุคที่คนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้โลกการทำงานค่อย ๆ แทรกเข้ามาในโลกส่วนตัวเพิ่มขึ้น …นี่ประการแรก

ผลเสียประการต่อมาคือ… “เครียดจากข้อมูลที่เยอะเกินไป” โดยในยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถหลั่งไหลเข้ามาได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเช่นยุคนี้ ก็ยิ่งกระตุ้นทำให้บางคนเกิดความเครียดได้โดยง่าย เนื่องจากต้องรับข้อมูลที่เยอะมากเกินไป และยิ่งถ้าหากข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่รับมานั้นขัดแย้งกันเอง มีความสับสน มีความไม่ชัดเจน กรณีนี้ยิ่งทำให้บางคนอาจเกิดความรู้สึกกังวล จนนำไปสู่การเกิดภาวะเครียดขึ้นได้ …นี่เป็นผลเสียอีกประการจากการที่ใช้ชีวิตออนไลน์ตลอดเวลา

ส่วนอีกหนึ่งพฤติกรรมที่สำคัญ ที่ทำให้เกิด“ภาวะเครียดจากการใช้เทคโนโลยี” หรือ “Technostress” แบบไม่รู้ตัวได้ ก็คือ… การที่บางคน “กลัวพลาดเหตุการณ์สำคัญ” เช่น กลัวตกเทรนด์ กลัวตกกระแส จนส่งผลทำให้ต้องติดตามและต้องใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือเชื่อมต่อกับโซเชียล-โลกออนไลน์ตลอดเวลา …กรณีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้เกิดภาวะนี้ได้

ทั้งนี้ “คำแนะนำ” เพื่อ “ป้องกันภาวะ Technostress”  นั้น ทาง มนสิการ กาญจนะจิตรา ได้ให้แนวทางไว้ว่า…ถึงแม้การอยู่ในยุคดิจิทัลจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานเทคโนโลยีได้ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ก็คือการ “ควบคุมตัวเอง” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ต้องกำหนดเวลาออนไลน์และออฟไลน์ให้ชัดเจน, วางโทรศัพท์มือถือให้ห่างจากเตียงนอน เพื่อจะได้ไม่หยิบโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า, เพิ่มเวลาคุณภาพกับครอบครัว, ลดหรือปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมการเคารพช่วงเวลาส่วนตัว …นี่เป็นคำแนะนำที่มีการให้ไว้ เพื่อ ลดภาวะเครียดจากการใช้เทคโนโลยี”

“คนไทยก็เสี่ยง” ภาวะ “Technostress”

อีก “โรคภัยยุคดิจิทัล” ที่ก็ “ต้องระวัง” 

“ออนไลน์ไม่พัก” ต้อง “ระวังจะแย่!!”.