นี่เป็น “ปัญหาที่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ” ที่ส่งผลต่อสุขภาพ-คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย จนเป็นที่มาในการพัฒนาจัดทำ “หนังสือเมนูอาหารฝึกกลืนเล่มแรกของไทย” ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยหลายหน่วยงาน ที่ได้ร่วมกันพัฒนาคู่มือนี้…

เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการให้กับผู้สูงวัย

รวมไปถึงเพื่อจะช่วยเหลือผู้ป่วยบางโรค

ที่มี “ภาวะเคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก”

ทั้งนี้ “เมนูฝึกกลืน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีความเป็นมาคือ อ.วรัญญา เตชะสุขถาวร ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทาง สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย พัฒนาเครื่องมือทดสอบความเหมาะสมของอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึง “หนังสือ 46 เมนูอาหารฝึกกลืนตามมาตรฐานสากล IDDSI” ซึ่งเป็นตำรับอาหารเล่มแรกของไทยเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะเคี้ยวกลืนลำบาก ซึ่งได้มีการให้ข้อมูลหนังสือเล่มนี้ผ่านทางบทความใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ว่า…

“ภาวะเคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก” ใน กลุ่มผู้สูงอายุ นั้น เป็นปัญหาสำคัญที่มีแนวโน้มส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ที่มีปัญหาการเคี้ยวและกลืนนั้น จะมีความสามารถในการเคี้ยวและกลืนลดลง โดยจะเคี้ยวได้ไม่ละเอียด จนไม่อยากอาหารหรือรับประทานได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เกิดปัญหาสุขภาพตามมา นอกจากนี้ กลุ่มผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทและสมอง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ที่มีอาการข้างเคียงจากการรักษา ก็เป็นอีกกลุ่มที่ทานอาหารได้เฉพาะอาหารที่บดละเอียดและมีความนิ่มเท่านั้น …ทาง อ.วรัญญา ระบุไว้

ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจุฬาฯ จึงร่วมกับสมาคมนักกำหนดอาหารฯ พัฒนานวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะเคี้ยวและกลืนลำบาก ตลอดจนเครื่องมือที่ทดสอบ รวมถึง “46 เมนูอาหารฝึกกลืนตามมาตรฐานสากล IDDSI” ขึ้น เพื่อดูแลผู้ที่มีปัญหาจากภาวะนี้ โดยคาดหวังที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยและผู้ป่วยทานได้ง่ายขึ้น ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมครบตามหลักโภชนาการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหาจากภาวะนี้ …นี่เป็นเป้าหมาย

ภาวะเคี้ยวและกลืนลำบากอันตรายอย่างไร?? เรื่องนี้ อ.วรัญญา ให้ข้อมูลขยายความไว้ว่า… ถ้ากลืนได้ไม่ดี หรือกลืนอาหารเข้าผิดช่องทาง แทนที่อาหารจะลงไปที่หลอดอาหาร ก็อาจลงไปที่หลอดลมจนทำให้สำลัก หรือทำให้ปอดอักเสบได้ หรือถ้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ กรณีนี้ก็ อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้!! นอกจากนั้น การเคี้ยวและกลืนลำบากยังส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว ซึ่งเมื่อกลืนอาหารลำบากบ่อย ๆ เข้าจะทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร ส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ จนส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวม …นี่เป็นอันตรายของผู้ที่เกิดภาวะนี้

สำหรับ “วิธีประเมิน” ผู้ที่มีปัญหานี้ มีการให้ข้อมูลไว้ว่า…เป็นหน้าที่ของนักฝึกกลืนและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยปัจจุบันมี 2 แนวทางหลัก คือ 1.ประเมินการกลืนจากข้างเตียง (Bedside Swallowing Assessment) ที่เป็นวิธีการพื้นฐาน โดยนำอาหารและน้ำมาทดสอบว่าผู้ป่วยสำลักหรือมีลักษณะการกลืนอย่างไร และ 2.ตรวจการกลืนผ่านภาพทางรังสี (Viseofluoroscopic Swallow Study) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดในการประเมินภาวะนี้ โดยต้องกลืนอาหารที่ใช้ทดสอบที่ผสมกับแบเรียมซึ่งเป็นสารทึบแสง เพื่อดูการเคลื่อนที่ของอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความหนืดแต่ละระดับไปที่หลอดอาหาร

ขณะที่หนังสือ “ตำรับอาหาร 46 เมนูฝึกกลืนตามมาตรฐาน IDDSI”นั้น ทาง อ.วรัญญา เตชะสุขถาวร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… หลังการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทดสอบอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานอาหารฝึกกลืน สมาคมนักกำหนดอาหารฯ จึงจัดทำคู่มือเล่มนี้ขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า… อาหารฝึกกลืนยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับไทย และที่ผ่านมายังไม่มีมาตรฐานอาหารฝึกกลืนมาก่อน ดังนั้นหนังสือนี้จึงเป็นเมนูอาหารเล่มแรกที่ทำขึ้นมา โดยเมนูอาหารในหนังสือเกิดจากแนวคิดและคำแนะนำจากบุคลากรการแพทย์ และผู้ป่วย…ว่าอยากได้เมนูอะไร

“ผลสำรวจพบว่าเมนู Top 5 คือ ไข่พะโล้ ข้าวมันไก่ ผัดกะเพรา ต้มยำกุ้ง ฟักทองผัดไข่ โดยเมื่อได้เมนูแล้ว ก็เอาเมนูมาพัฒนาเป็นอาหารฝึกกลืนที่มีเนื้อสัมผัสและความข้นหนืดที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหานี้ อีกทั้งยังพัฒนารูปลักษณ์อาหารให้มีหน้าตาเหมือนกับอาหารที่กินในชีวิตประจำวันเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารของผู้ป่วยอีกด้วย”

ทั้งนี้ ขณะนี้ทีมวิจัยฯ ได้นำ “เมนูอาหารฝึกกลืน” เล่มนี้มอบให้นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักกิจกรรมบำบัด นำไปทดสอบกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลแล้วหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ได้ที่เว็บไซต์สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย www.thaidietetics.org และในอนาคตคาดว่าจะมีการต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งด้วย …ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีที่ช่วย “เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย”…

ช่วยให้ผู้มีภาวะนี้ “กินง่าย-ปลอดภัยขึ้น”

ที่จะช่วย “ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะที่ดี”…

“นวัตกรรมเพื่อสังคมนี้น่าสนับสนุน”.