ทั้งนี้ นอกจากขยะพิษต่าง ๆ ขยะพลาสติก และขยะทั่ว ๆ ไปแล้ว…กับ “ขยะอาหาร” นี่ก็กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่นับวันยิ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ จากการที่มีนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความกังวล และก็มีคำแนะนำ…

“หยุดยั้งวงจรขยะอาหาร” ของไทย…

เพื่อ “ไม่ให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ”

โดย “เปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดขยะ”

เกี่ยวกับ “ข้อกังวล” เรื่อง “ขยะอาหาร (Food Waste)” ที่หากไม่มีแนวทางรับมือกับสถานการณ์นี้ ก็อาจจะทำให้ไทยเผชิญกับ “ผลกระทบรุนแรง” จาก “ปัญหาขยะอาหาร” ในอนาคตอันใกล้ กับเรื่องนี้ทาง ดร.รชา เทพษร นักวิชาการ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยถึง สถานการณ์ขยะอาหารในประเทศไทย ไว้ว่า… มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น!! ซึ่งจากเดิมที่มีรายงานตัวเลขขยะอาหารต่อปีในปี 2565 อยู่ที่ 17 ล้านตัน แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงตอนนี้ตัวเลขก็อาจจะขยับสูงขึ้นไปมากกว่าเดิมแล้ว

สาเหตุที่ทำให้ปริมาณขยะอาหารในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ดร.รชา ระบุไว้ว่า…มีปัจจัยส่วนหนึ่ง จากการผลิตอาหารที่ไม่ได้ตามที่มาตรฐานกำหนด (Food Loss) จนทำให้เกิดขยะอาหารจากกระบวนการผลิตประมาณ 30% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับกรณีประชากรกลุ่มที่ขาดแคลนอาหารบริโภค ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขยะอาหารเพิ่มขึ้น คือเกิดขึ้น จากพฤติกรรมการบริโภค ที่มีสาเหตุทั้งจากการ บริโภคไม่หมด หรือ บริโภคไม่ทัน จนทำให้ต้องทิ้ง และกลายเป็นขยะอาหาร …นี่เป็น “2 ปัจจัยสำคัญ” ที่อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ระบุไว้

ขณะเดียวกัน ความนิยมอาหารไทยที่เพิ่มขึ้น ที่สะท้อนจากการจัดอันดับอาหารอร่อยจากหลายเวที แม้จะส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจอาหารให้เติบโตทั้งห่วงโซ่ แต่ปัญหาที่ตามมาด้วยก็คือ ปริมาณขยะอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งหากไทยยังไม่มีแผนจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ ปัญหาอาจทวีความรุนแรง อาจส่งผลเสียรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเพื่อจะกำหนดแนวทางจัดการขยะอาหาร ก็ ต้องมีการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดขยะชนิดนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้…

ปัจจัยที่ 1 ผู้ผลิตที่ผลิตหรือเตรียมอาหารแบบมากจนเกินไป (Over Prepare) หรือการทำอาหารเกินกว่าการบริโภคจริง จนทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก โดยผู้ผลิตต้องมีการบันทึกรวบรวมข้อมูลกระบวนการผลิตอาหารหรือแปรรูปอาหารว่า…ขั้นตอนไหนที่ทำให้เกิด Over Prepare หรือ Food Loss ซึ่งควรหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดการสูญเสียในเรื่องนี้ เช่น สร้างระบบการผลิตที่ดี-มีคุณภาพ เพื่อช่วยลดการสูญเสียอาหาร ในขณะที่ปัจจัยที่ 2 คือ ผู้บริโภคไม่มีการวางแผนในการบริโภค อาทิ พฤติกรรมนำอาหารมากักตุนไว้จำนวนมาก ๆจนอาหารที่ตุนไว้เหลือในตู้เย็นและหมดอายุจนต้องนำไปทิ้งเป็นขยะ และก็ซื้ออาหารใหม่เข้ามากักตุนไว้อีก โดยแนวทางลดปัญหานี้ก็ทำได้โดยการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ดังกล่าว

นี่เป็นคำแนะนำ “ตัดวงจรขยะอาหาร”

“ที่เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก” ที่ว่านี้

ส่วนอีกเรื่องที่ก็มองข้ามไม่ได้คือ “ขยะอาหารที่เกิดจากธุรกิจอาหารบุฟเฟ่ต์” ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้เกิดขยะอาหารมากเช่นกัน เนื่องจากจุดขายธุรกิจอาหารแบบบุฟเฟ่ต์นั้นคือการมีอาหารหลายเมนู ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมอาหารเอาไว้เพื่อดึงดูดลูกค้าในปริมาณที่อาจมากเกินความต้องการ ขณะที่ผู้บริโภคก็รู้สึกว่าเมื่อรับประทานแบบบุฟเฟ่ต์ต้องได้ความคุ้มค่า ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ขยะอาหารเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ร่วมกัน …ทาง ดร.รชา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มธ. ชี้ไว้

ทั้งนี้ แนวทางลดขยะอาหาร”นั้น เรื่องนี้ทางนักวิชาการท่านเดิมยังได้ให้คำแนะนำไว้ว่า… มี 4 กระบวนการสำคัญ ที่ช่วยจัดการปัญหาได้ เริ่มจาก “ลดความยาวห่วงโซ่อาหาร” เพื่อลดระยะเวลาให้อาหารอยู่ในห่วงโซ่ที่สั้นลง, “เพิ่มคุณประโยชน์ให้อาหารที่ใกล้จะเป็นของเสีย” โดยการแปรรูปเพื่อยืดอายุอาหาร, “นำขยะอาหารไปใช้ให้เกิดคุณค่าหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น” เช่น ทำก๊าซชีวภาพ เพื่อจะไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม และ “กำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี” ด้วยการผ่านกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งแนวทาง-กระบวนการเหล่านี้น่าจะช่วยลดการเกิดขยะอาหาร และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้ ดร.รชา เทพษร ยังชี้ไว้ว่า… การนำ “มาตรการทางกฎหมาย” มาใช้ควบคุมก็เป็นอีกแนวทาง ซึ่งในต่างประเทศมีการออกกฎหมายลดการสูญเสียอาหาร เช่น ฝรั่งเศส มีกฎหมายการจัดการอาหารส่วนเกินจากกระบวนการค้าปลีก และมีการสร้างแรงจูงใจทางภาษี หรือ สิงคโปร์ ก็ใช้แนวคิดอาหารป้ายเหลือง นำอาหารที่เหลือจากการผลิตไปแจกในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งลดภาระของรัฐในการจัดการกับขยะอาหาร …นี่เป็น “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” ที่ประเทศไทยก็น่าจะสนใจ

“ขาดแคลนอาหาร” นั้น “ไทยก็มีปัญหา”

แล้วก็ยัง “มีปัญหาขยะอาหารอีกด้วย”…

ก็ “ต้องช่วย ๆ กันหยุดปัญหาอาหาร”.