“นาโตเอเชีย” หรือ “เอเชียนาโต” คือแนวคิดที่เริ่มได้ยินและเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลญี่ปุ่นสมัยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ แต่ญี่ปุ่นยืนกรานมาตลอด ว่าไม่ใช่การแสวงหาโอกาสรวมกลุ่มกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นสหภาพทางการทหารและความมั่นคงระหว่างประเทศ แบบเดียวกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 31 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือสหรัฐ และมีพื้นฐานนโยบายคือการต่อต้านสหภาพโซเวียต หรือรัสเซีย ในปัจจุบัน

จนกระทั่งถึงรัฐบาลโตเกียวชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ นายโยชิมาสะ ฮายาชิ รมว.การต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลโตเกียวอยู่ระหว่างการหารือกับนาโต ในการเปิดสำนักงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย

จริงอยู่ที่การหารือต้องใช้เวลาอีกนาน และยังไม่มีการกำหนดแนวทางใดร่วมกัน อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า การเปิดสำนักงานของนาโตในญี่ปุ่น อาจเป็นการปูทางไปสู่การเปิดสำนักงานของนาโตเพิ่มเติม ในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้าพบนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของญี่ปุ่น เปิดเผยเหตุผลเกี่ยวกับการเตรียมให้นาโตเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศ ว่ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกอย่างร้ายแรง และเป็นสัญญาณชัดเจนว่า การสู้รบที่เกิดขึ้น “ไม่ใช่เรื่องภายในยุโรปเท่านั้น” แต่เอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่ได้รับแรงกระเพื่อมด้วย ความเคลื่อนไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นของญี่ปุ่น เป็นการส่งสัญญาณไปถึงทุกประเทศร่วมภูมิภาคว่า “ควรมีความร่วมมือที่มั่นคง” กับนาโต

ด้าน พล.อ.หลี่ ซ่างฝู รมว.กลาโหมจีน กล่าวว่า ความพยายามจัดตั้ง “พันธมิตรทางทหารแบบนาโต” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ถือเป็น “การลักพาตัว” ประเทศในภูมิภาค และเป็นการกระตุ้นความรุนแรง ตลอดจนการเผชิญหน้า ซึ่งมีแต่จะทำให้เอเชีย-แปซิฟิก เข้าสู่วังวนของความขัดแย้งเท่านั้น

พล.อ.หลี่ กล่าวต่อไปว่า เอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่จำเป็นต้องมีความร่วมมือ ซึ่งเปิดกว้างและครอบคลุม ไม่ใช่การจับคู่หรือจับกลุ่มกันเอง และเรียกร้องทุกภาคส่วนต้องไม่ลืม “หายนะที่เกิดขึ้นจากมหาอำนาจสองขั้ว” จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องปรามไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

เรือบรรทุกเครื่องบิน “ซานตง” ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ลอยลำอยู่ในเขตน่านน้ำสากล ใกล้กับเกาะโอกินาวา ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566

แผนยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของสหรัฐ กำลังยกระดับบรรยากาศตึงเครียดด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รัฐบาลวอชิงตันแสดงออกอย่างไม่ปิดบัง ว่าต้องการช่วงชิงความมีอิทธิพลเหนือจีน ในภูมิภาคแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือด้านการทหาร

ส่วนนาโตกล่าวว่า จีนถือเป็น “ความท้าทาย” และยิ่งทำให้นาโตร่วมด้วยพันธมิตร “ทั้งในและนอกภูมิภาค” ต้องเพิ่มการปกป้อง “คุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย” และยกระดับความร่วมมือในมิติทางการเมืองและความมั่นคง ที่รวมถึง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล และการบรรเทาความรุนแรงของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

สหรัฐซึ่งถือเป็น “สมาชิกระดับหัวหอก” ของนาโต มีนโยบายกำหนดประเทศและดินแดนให้เป็นพันธมิตรหลักนอกสหภาพทางทหารแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ปัจจุบัน ประเทศและดินแดนที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีอย่างน้อย 20 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย อียิปต์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จอร์แดน นิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา บาห์เรน ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน คูเวต โมร็อกโก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ตูนิเซีย บราซิล กาตาร์ และโคลอมเบีย

แม้สหรัฐเดินเกมรุกด้านความมั่นคงมากขึ้นอย่างชัดเจนในภูมิภาคแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ทั้งแตกต่างและซับซ้อน และรัฐบาลวอชิงตันเคยมีบทเรียนมาแล้ว จากการเป็นแกนนำก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต) ในสมัยสงครามเย็น ร่วมด้วยสมาชิกอีก 7 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย แต่ดำเนินการได้เพียง 23 ปี และยุบไป เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาค “ไม่เป็นไปตามที่สหรัฐหวังไว้”

ท่ามกลางยุคสมัยที่การเจรจาต่อรองทางการเมือง แน่นอนว่าต้องยึดผลประโยชน์เป็นหลัก “ภัยคุกคาม” เป็นวาทกรรมในทางทฤษฎี มากกว่ามีผลเชิงปฏิบัติ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต้องพึ่งพิงและมีความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงกับจีน ในระดับมากน้อยแตกต่างกันไป ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐ

เช่นเดียวกัน ทุกประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในนั้น ยังคงต้องมีความสัมพันธ์กับสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่ว่าด้วยปัจจัยใด ย่อมไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดทั้งสิ้นในระยะยาว.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP