กำลังเป็นที่จับตามองจากคนไทยทั้งประเทศว่า “พรรคก้าวไกล” จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค จะได้นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่?

เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าหากทุกอย่างเดินไปตามที่ควรจะเป็น “พรรคก้าวไกล” จะได้เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะมีผลต่อกระทบต่อทุกคน และทุกภาคส่วน รวมถึง “วงการกีฬา”

ต่อให้ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า พรรคก้าวไกล จะดูแลกระทรวงกีฬาหรือไม่ แต่ในฐานะ “แกนนำ” เชื่อว่ายังไงก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน และการตัดสินใจเรื่องต่างๆไม่มากก็น้อย

 วันนี้ เราจึงจะไปวิเคราะห์กันว่า ถ้าหากพรรคก้าวไกล เข้ามาเป็นรัฐบาล จะเกิดอะไรขึ้นในวงการกีฬา ใครจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และจะดีหรือแย่ลงอย่างไร?

“ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์” ลองไล่เช็กลิสต์ นโยบายด้านกีฬาของพรรคก้าวไกล ที่เขียนโดย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ปรากฏว่า แบ่งออกเป็น 5 มิติ ดังนี้

    1) กีฬาเพื่อสุขภาพ

    2) กีฬาเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

    3) กีฬาเพื่อเส้นทางอาชีพ

    4) กีฬาเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

    5) กีฬาเพื่อความเป็นเลิศในเวทีนานาชาติ

จาก 5 มิติดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า กีฬาเพื่อความเป็นเลิศที่เป็นเหมือน เส้นชัยของคนในวงการกีฬา เป็นเพียงมิติ 1 ใน 5 มิติเท่านั้น อีก 4 มิติ เน้นเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานมากกว่า

ว่าง่ายๆก็คือไม่ได้เน้นเรื่อง “ผลงาน” ที่จับต้องได้ เช่นบอลไทยไปบอลโลกหรือโกยเหรียญในโอลิมปิก แต่เน้นใช้กีฬาไปต่อยอดด้านต่างๆ ทั้งคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

ไล่ตั้งแต่มิติแรก กีฬาเพื่อสุขภาพที่พูดง่ายๆก็คือสนับสนุนให้คนออกกำลังกาย ด้วยการอำนวยความสะดวก สร้างแรงบันดาลใจ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเล่น และการเก็บ ภาษีสุขภาพเช่น ภาษีความหวาน และภาษีความเค็ม ที่ทำให้รัฐมีรายได้อีกทาง

มิติที่ 2 สอดคล้องกับมิติแรก นั่นก็คือ กีฬาเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม คือการใช้กีฬามานำสังคม ก่อให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งในครอบครัว และสังคม สนับสนุนให้เกิดการรวมตัว สร้างพื้นที่สีเขียวให้คนหันมาออกมาเจอกัน เล่นกีฬากัน และมีปฏิสัมพันธ์กัน

เป็น 2 ข้อที่เน้นให้คนออกกำลังกาย ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องปกติที่ควรจะทำมานานแล้ว และเป็นนโยบาย “เบสิก” ที่ทุกพรรคต้องมี ทีนี้ก็ต้องมาดูความแตกต่างต่างว่าก้าวไกลจะกระตุ้นให้คนหันมาออกกำลังกายได้มากขึ้แค่ไหน และใช้ประโยชน์จากจุดนี้ไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง

มิติต่อมาเริ่มเข้าโหมดเงินๆทองๆ นำกีฬามาต่อยอดไปสู่รายได้ นั่นคือ กีฬาเพื่อเส้นทางอาชีพซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสนับสนุนให้เป็นนักกีฬาอาชีพ ทั้งหลักสูตรในการเรียน, เรียนฟรีในโรงเรียนกีฬา, คูปองเปิดโลก เพิ่มโอกาสการเล่นกีฬา หรือการจัดทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชน

รวมถึงหลักสูตรอาชีพอื่นเกี่ยวกับกีฬาเช่น โค้ช, กรรมการ, ผู้จัดอีเวนท์, แพทย์-นักกายภาพ, นักโภชนาการ, นักจิตวิทยา และอื่นๆอีกมากมาย

อีกมิติในโหมดเศรษฐกิจก็คือ กีฬาเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใช้กีฬาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดอีเวนท์ กระตุ้นให้ทุกจัดหวัดจัดการแข่งขัน ดึงคนจากที่อื่นเข้าไปมีส่วนร่วม ได้ประโยชน์ต่อทั้งกีฬา และท่องเที่ยว

2 มิตินี้ ถือว่าเป็นไอเดียที่ดี แต่ก็ไม่ได้แปลกใหม่กว่านโยบายของหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้ เพราะรู้กันอยู่ว่า กีฬา สามารถนำมาต่อยอดได้มากมาย ในหลายประเทศใช้กีฬาเป็น วาระแห่งชาติหรือ ธงนำสู่การพัฒนาคนในประเทศเอง และการปรับภาพลักษณ์ของประเทศเลยด้วยซ้ำ

ถ้าหากทำได้ทั้ง 2 อย่างก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวอยู่แล้ว ดังนั้นก็อยู่ที่ว่า ก้าวไกล จะใช้กีฬาให้เป็นประโยชน์ได้มากแค่ไหน แต่เท่าที่เทียบน้ำหนักดูเมื่อเทียบกับนโยบายด้านอื่นๆ ต้องยอมรับว่านโยบายกีฬายังน้อย และไม่ได้ลงรายละเอียดให้เห็นเป็นรูปธรรมได้มากนัก

มิติสุดท้ายถือว่า ต้องมีนั่นคือ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เป้าหมายก็คือความสำเร็จระดับนานาชาติ ทั้งบอลไทยไปบอลโลก, วอลเลย์ไทยไปโอลิมปิก, กวาดเหรียญในโอลิมปิก และอีกมากมาย

วิธีการก็คือ วางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการทำอะไร, กำหนดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรลุเป้าหมาย เช่นเรื่องเงินทุน และกำหนดยุทธศาสตร์ให้เป็น Thailand Way เดินแนวทางเดียวกันในทุกระดับ ไล่ตั้งแต่เยาวชน, สโมสร จนถึงทีมชาติ  

ข้อนี้จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเหมือนกับอีกทุกมิติที่ว่ามาก็คือต้องดูผลลัพธ์ที่ออกมา แต่ข้อสังเกตก็คือ ก้าวไกลไม่ได้ยกข้อนี้มาหาเสียง เหมือนกับที่หลายพรรคทำ เช่น ถ้าเลือกพรรคเราบอลไทยจะได้ไปบอลโลก มวยไทยจะได้เหรียญทองโอลิมปิก เป็นต้น

มองแง่ดีก็คือ ก้าวไกล ไม่ได้ขายฝัน เอาเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาจูงใจให้คนเลือก แต่มองอีกแง่ ก็น่าห่วงว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้่มากแค่ไหน จะผลักดันให้เกิดขึ้นเต็มตัวหรือไม่ในเมื่อไม่ใช่นโยบายหลัก แฟนกีฬาจึงต้องรอกันต่อไป

อีกอย่างที่ไม่เห็น แต่อยากให้ทำ ถ้าหากได้เข้ามาก็คือ การตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ทั้งเกี่ยวกับงบประมาณ และการแต่งตั้งบุคลากรในหน่วยงานด้านกีฬา เพราะในช่วงที่ผ่านมา วงการกีฬาโดนมรสุมหลายลูก โดยเฉพาะเรื่องที่โดนกล่าวหาว่าเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง

ถ้าหากสามารถเข้ามาตรวจสอบ และทำให้วงการกีฬาโปร่งใสได้จริง ไม่ว่านโยบายอะไรก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น.