พอเกิดคดีผู้กำกับโจ้ มีประเด็นใหญ่ที่ผู้คนยังเฝ้าติดตาม ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2557 คือเรื่องของ “การปฏิรูปตำรวจ” ที่ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ ยังอยู่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา วาระที่ 2

เร่งแก้ “ระบบการแต่งตั้งหัวใจสำคัญ

ทีมข่าว 1/4 Special Report พูดคุยกับ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) ให้สัมภาษณ์ว่า การกระทำผิดของผู้กำกับโจ้ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นตำแหน่งที่สำคัญในระดับผู้บริหารสถานีตำรวจ ซึ่งเกี่ยวโยงกับ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังแก้ไขอยู่ตอนนี้ โดยมีอยู่มาตราหนึ่งจะแบ่ง “สถานีตำรวจ” แยกเป็นขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่ง 1,484 สถานี ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรจะแต่งตั้งบุคลากรที่ดูแลประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาในพื้นที่ทำเลทอง มักมีการแต่งตั้งนายตำรวจที่มีเส้นสายมาดูแล ส่วนนายตำรวจที่ตั้งใจทำงานมักได้อยู่พื้นที่วิกฤติห่างไกล ต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาทำผลงานเพื่อไต่ระดับขั้น

สิ่งนี้สะท้อนถึงการแต่งตั้งตามอำเภอใจ โดยคำนึงถึงพวกพ้องและผลประโยชน์ ซึ่งไม่คำนึงถึงการแต่งตั้งที่เป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้จึงทำให้มีการแก้ไข “ระบบการแต่งตั้ง” ที่ถือเป็นหัวใจของ พ.ร.บ. ตำรวจฯ ที่กำลังพิจารณากันอยู่

แต่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่พิจารณาอยู่ตอนนี้มีความล่าช้า เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ง  (4) มีเจตนาที่จะปฏิรูปโครงสร้าง การแต่งตั้ง และค่าตอบแทน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญา แต่มุ่งแก้ไขผู้มีอำนาจที่อยู่บนหอคอยงาช้าง โดยเฉพาะกฎหมายฉบับนี้ ปีนึงก็ยังร่างไม่เสร็จตามที่กำหนดไว้ จนสุดท้ายก็ส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขใหม่ แล้วก็ส่งกลับเข้ามาให้รัฐบาลเมื่อ 3–4 เดือนก่อน ซึ่งร่างเข้ามาในชั้นรับหลักการของสภา โดยขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ ที่กำลังพิจารณา เพื่อปรับปรุงแก้ไขทั้ง 172 มาตรา

การปรับเปลี่ยนโดยกำหนดลงในกฎหมายถือเป็นข้อดี จากเดิมที่มีการกำหนดในหลักเกณฑ์และวิธีการในเงื่อนไขของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนดมา ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะโดยหลักการ ก.ตร. รูปแบบยังคงเหมือนอำนาจเดิม ที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเรื่องการมาร่วมเป็นกรรมาธิการ หรือที่มาของประธานมีนายกฯ มานั่งเป็นประธาน ก.ตร. จะยึดโยงกับระบบการเมือง เพราะจริง ๆ แล้วนายกฯ ควรนั่งเป็นประธานเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อกำหนดนโยบายในภาพรวมเท่านั้น

หนุนดึงภาคประชาชนมีส่วนร่วมถ่วงดุล

อดีต ผบก.ป. กล่าวต่อว่า การบริหารจัด การภายในองค์กรตำรวจ ควรมีประธานคณะกรรมการ ก.ตร. ที่จะต้องเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือรองผู้บัญชา การตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่จะต้องมีการเว้นระยะเพื่อมารับตำแหน่งประมาณ 2 ปี โดยต้องเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจ และต้องมีคณะกรรมการ ก.ตร. ประกอบด้วย ข้าราชการประจำ อดีตข้าราชการ หรือบุคคลที่มีคุณวุฒิ ที่มาจาก “ภาคประชาสังคม” ในจำนวนครึ่งหนึ่งของบอร์ด เพื่อสร้างสมดุลในการกำหนดนโยบายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงโดยต่างจากรูปแบบเดิม ที่จะส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐมานั่ง ทำให้การทำงานขาดความสมดุลในเรื่องการปรับแก้กฎระเบียบต่าง ๆ ระเบียบเหล่านี้อยู่ใน มาตรา 14 ที่ยังค้างและอยู่ในขั้นตอนแต่งตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณามาตรา 14–24

ส่วน มาตรา 25 จะเกี่ยวกับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) จะเป็นองค์กรใหม่ ที่นำแนวคิดนี้มาจากกระทรวงอื่น ๆ ที่มีการจัดการระบบนี้มานานแล้ว โดยต้องรับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่แล้วมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา หรือมีปัญหาจากคำสั่งตามปกครอง โดยมีหน้าที่ดูแลข้าราชการในองค์กร และมีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่จะเป็นการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำหรับเรื่องของรายได้จะมีการปรับเปลี่ยนการพิจารณาอันเกี่ยวกับเงินเดือน และมีการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ., อบต. ทั้งในเรื่องงบประมาณ และการปรับปรุงหน่วยงานภายในที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานตำรวจโดยตรงออกไป เช่น ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจรถไฟ และตำรวจป่าไม้ ที่มีกระทรวงของเขาดูแลอยู่แล้ว หรือตำรวจจราจร อาจจะโอนย้ายไปอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่นโดยตรง เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้ทำหน้าที่ของตัวเองจริง ๆ และให้ประชาชนได้มามีส่วนร่วมกับการทำงาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตำรวจจะมีการทำงานที่ขึ้นตรงกับทางจังหวัดมากที่สุด และจะห้ามโยกย้ายข้าราชการตำรวจออกนอกจังหวัด ยกเว้นหากมีความสมัครใจ แต่ถ้ามีการกระทำผิด ต้องมีการนำชื่อไปแขวนไว้แล้วพิจารณา เพื่อให้พิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งหากไม่มีความผิดก็จะกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมได้  แนวคิดเหล่านี้จะเป็นการสร้างระบบที่ตำรวจจะยึดโยงกับการทำงานกับประชาชนในท้องถิ่นให้มากกว่าเดิม แต่แนวคิดนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

รื้อระบบอำนาจเก่า “หอคอยงาช้าง

พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องการสอบสวน ที่หลายคนเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยน เนื่องจากมีความไม่เป็นธรรมก็จะมี พ.ร.บ.การสอบสวนอีกเล่มหนึ่ง ตอนนี้รัฐบาลกำลังร่างเพื่อส่งเข้ามาพิจารณาในสภาอยู่ ซึ่งจะมุ่งเน้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่จะรวมถึงการทำงานของศาล โดยส่วนนี้ฝ่ายสืบสวนของตำรวจควรมีการทำงานที่เป็นอิสระให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน

ประเด็นที่น่าหนักใจและทำยากมากที่สุดของ ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจฯ คือ ทำลายทิ้งระบบ “หอคอยงาช้าง” เนื่องจากมี “นายพลตำรวจ” เยอะมากเกินไป ขณะเดียวกันบุคลากรที่ทำงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่ได้มียศ เช่น  นายแพทย์, นักบัญชี, ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐาน ฯลฯ เมื่อไม่มียศให้ในระบบก็ทำให้บุคลากรเหล่านี้ลาออกไปทำงานที่อื่นจำนวนมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงตั้ง “สำนักงาน” ขึ้นมาเทียบเท่ากองบัญชาการซึ่งไม่เหมาะสม ทั้งที่ควรอยู่ในส่วนของ “กองบังคับการ” ไม่เช่นนั้นระบบหอคอยงาช้างของตำรวจจะมีขนาดที่ใหญ่มากดังเช่นปัจจุบัน มีนายพลเยอะไปหมด

การแต่งตั้งจะมีข้อยกเว้น ต้องนำ ’หลักอาวุโส“ มาแต่งตั้ง ไม่ใช่กระโดดข้ามเยอะเป็น  10 รุ่น เพราะถ้ามากสุดก็ข้ามมาแค่ 5 รุ่น ทำให้ที่ผ่านมาจึงเกิดภาพลักษณ์การวิ่งเต้นขอตำแหน่ง ที่ส่งผลเสียต่อองค์กรตำรวจมาถึงปัจจุบัน ผมยังเชื่อว่า เปิดสภาคราวหน้า ราว ๆ เดือนพฤศจิกายน จะนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เข้ามาพิจารณาได้เร็วที่สุด แต่หากผ่านการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ก็อาจจะไม่สมบูรณ์ทั้งหมด เพราะรัฐบาลก็อาศัยเสียงข้างมากเป็นหลัก สุดท้ายผลเสียตกมาอยู่ที่ประชาชน

อนาคตอยากจะฝากอีกสิ่งสำคัญในการพัฒนา คือ “สถานีตำรวจ” ต้องนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้งาน เพื่อให้สถานีตำรวจมีการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น เช่น ควรมีโปรแกรมที่รับแจ้งความ โดยสามารถรับแจ้งความได้ทุกพื้นที่-ทุกเวลา เมื่อประชาชนกดแจ้งความ และส่งรูปที่เกิดเหตุมา ร้อยเวรหรือฝ่ายสืบสวนในพื้นที่สามารถเช็คจุดเกิดเหตุได้ทันที โดยฝ่ายสืบสวนก็สามารถตามคดีในพื้นที่นั้นได้อย่างรวดเร็ว.