หลังจากการเลือกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) และนายกเทศมนตรีไปแล้ว ล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือเสนอ ครม. เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา พร้อมกำหนดไทม์ไลน์กำหนดให้มีการเลือกตั้งช่วงวันที่ 28 พ.ย. – 12 ธ.ค. 64 

ซึ่งการเลือกตั้งก็อาจอยู่ในช่วงภาวะโควิด..จะซาหรือไม่ซาลง ตัวแปรหนึ่งขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจะต้องจัดหามาให้ได้ในเดือน ต.ค.หรือไตรมาสสุดท้ายของปีให้ครอบคลุมประชากร พวกที่ฉีดซิโนแวคไปสองเข็มก็ต้องได้รับการเพิ่มภูมิด้วยเข็มสาม แม้ว่าจะต้องใช้ชีวิตแบบระวังรักษาระยะห่างหรือนิวนอร์มัลไปอีกสักระยะ ( อย่างว่า เชื้อมันกลายพันธุ์ได้ง่าย ) แต่การได้วัคซีนคุณภาพก็สร้างความอุ่นใจ และเอื้อต่อการหาเสียงเลือกตั้ง โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยจะใช้ระบบควบคุมการรักษาระยะเช่นเดียวกับการเลือก อบจ.

รัฐบาลจะเตรียมให้จัดการเลือกตั้ง อบต.ในช่วงปลายปีนี้  เมื่อเสร็จสิ้นกรณีของ อบต.แล้ว ให้เว้นช่วง 120 วัน จึงจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร  (ส.ก.) และผู้ว่าฯ กทม.  ซึ่งคาดจะอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.2565

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวว่า  หากมีการเลือกตั้ง อบต. ผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา เบื้องต้นคาดว่า เศรษฐกิจไทย จะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่า หากการเมืองมีการแข่งขันที่ดุ ทำให้มีเงินสะพัดเป็นพิเศษ ทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเดินตาม ทำป้ายหาเสียง และทำกิจกรรมอื่น ๆ คาดว่าจะมีเงินสะพัดสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เป็นตัวกำหนดทิศทาง เหมือนเป็นการ หยั่งท่าทีรัฐบาลใหม่

สำหรับผู้บริหารเมืองพัทยานั้น นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา น่าจะมั่นใจในการสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะฐานเสียงตระกูลคุณปลื้มก็ครองเมืองพัทยามายาวนาน แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เพราะจากการเลือก ส.ส. ชลบุรีครั้งที่ผ่านมา เครือข่ายตระกูลคุณปลื้มหรือพรรคพลังชลเก่าก็ถูกเจาะยางไปได้ในเขต อ.บางละมุง ผู้ชนะเลือกตั้งเขต 7 เป็น ส.ส.อนาคตใหม่คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ที่ย้ายไปอยู่พลังท้องถิ่นไท เขต 6 คือนายจรัส คุ้มไข่น้ำ ซึ่งเที่ยวนี้ ศึกชิงเก้าอี้นายกเมืองพัทยา จะถูกส่งในนามคณะก้าวหน้าที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำ

พรรคที่จะส่งผู้สมัครระดับท้องถิ่นนั้น พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ออกมาปฏิเสธจะไม่ส่ง เพียงแต่เปิดกว้างหาก ส.ส.หรือสมาชิกพรรคคนไหนจะไปหนุนก็ได้ ส่วนพรรคก้าวไกล จะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร ( สก.) ขณะที่ส่วนของ อบต.กับเมืองพัทยานั้น คณะก้าวหน้าจะส่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็หงายไพ่แล้วว่าจะชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แน่นอน และพรรคน้องใหม่อย่างพรรคกล้ากับไทยสร้างไทยนั้นยังไม่ชัดเจน ส่วนพรรคเพื่อไทย จะขอให้เป็นมติของที่ประชุมพรรคหลังจาก ครม.มีมติออกมาเสียก่อน

ส่วภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา คาดว่าน่าจะรักษาฐานเสียงท้องถิ่นในพื้นที่ตัวเอง อย่างภูมิใจไทยก็อีสานล่าง และต้องจับตาภาคใต้ที่มีแม่ทัพอย่างนางนาที รัชกิจประการ เจาะยางประชาธิปัตย์อยู่  ชาติไทยพัฒนาก็สุพรรณบุรี อ่างทอง หรือนครปฐม หลังจากกลุ่มสะสมทรัพย์เข้ามาร่วมพรรค ชาติพัฒนาก็ชิง อบต.ในพื้นที่โคราช  

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดว่า “การเลือกตั้งเป็นการหยั่งท่าทีรัฐบาลใหม่” สนามย่อยอย่าง อบต.ก็คงเก็บ “ฐานเสียง”ในแต่ละท้องถิ่น ส่วนพื้นที่ที่คนจับตามากที่สุดคือ กทม. ว่าพรรคไหนจะยึดเมืองหลวงได้ ดูเป็นสีสันที่สุด และเคยมีการทำโพลออกมาว่าชาวกรุงเทพ อยากเลือกผู้ว่าฯ กทม. เต็มแก่แล้ว ซึ่งแคนดิเดตที่เปิดหน้าออกมาชัดเจนแล้วคือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันที่ว่าจะลงอีกสมัย นอกนั้นก็มีข่าวการทาบคนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล

ผลโพล ณ ขณะนี้ค่อนข้างนอนมาว่าคะแนนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นำ เพราะเป็น “ขวัญใจชาวเน็ต” จากรูปใส่เสื้อกล้ามถือถุงไปใส่บาตรจนเขาแซวกันใหญ่ว่าเป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และภาพลักษณ์ออกจะเป็นคนรุ่นใหม่ กระแสในอินเทอร์เนตเชียร์เยอะ ว่า ถ้ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ถูกยึดอำนาจไปเสียก่อน นายชัชชาติอาจพัฒนาคมนาคมระบบรางในประเทศไทยได้ไฮเทคทันสมัยกว่านี้ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ชาวกรุงเทพประสาทเสียสุดคือการจราจรนี่แหละ เอาอดีต รมว.คมนาคมมาอาจเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไขได้

ในส่วนนายชัชชาติ คะแนนสนับสนุนที่สำคัญ ก็ไม่รู้ว่าจะ “เสียงแตก” หรือไม่ เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็ลาออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยเสียแล้ว เพื่อไทยจึงยังยึกยักอยู่ว่าจะส่งใครลงผู้ว่าฯ กทม. หรือจะ “เทเสียง”สนับสนุนใครดี ซึ่งนายชัชชาติก็คงเป็นตัวเลือกหนึ่ง ..แต่ก็ไม่รู้ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ออกมาจากพรรคเพื่อไทย “ด้วยดี”หรือเปล่า ถ้าพอคุยกันได้ก็สองพรรคช่วยกันเทคะแนนสนับสนุนนายชัชชาติได้ เพราะอย่างไร คุณหญิงสุดารัตน์ก็คือคนดูพื้นที่ กทม.ของพรรคเพื่อไทยมาก่อน

ส่วนของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.นั้น ขณะนี้เคลื่อนไหวทำงานทุกวัน ออกเพจ “จักรทิพย์คนทำงาน” ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดมากมาย ทั้งทำเตียงสนาม แจกถุงยังชีพ โชว์ความเป็น “คนทำงาน” แต่ยังไม่ค่อยเห็นในเรื่องเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนากรุงเทพเท่าไรนัก แล้วความเป็นข้าราชการเกษียณ ทำให้หลายคนยังติดภาพ“ไม่ใช่นักบริหาร” ในขณะที่กระแสยุคใหม่กำลังเรียกหาคนมีภาพลักษณ์แบบนักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรง

ข้างฝ่ายคะแนนเสียงของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็น่าสงสัยว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ จากความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ที่เกิดขึ้น ตามที่มีรายงานข่าวว่า กลุ่ม 3 ช. นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค พปชร. ไปคุยกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่ค่อยดูแล ส.ส.เท่าที่ควร ซึ่งมีการประเมินว่า เป็นการ “แบะท่า” ให้โหวตคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อเลือกนายกฯ ใหม่ แล้วตั้ง ครม.ใหม่ เพื่อกลุ่ม 3 ช. ได้ขึ้นนั่งว่าการ โดยเฉพาะเก้าอี้มหาดไทย แต่ที่สุดแล้ว พล.อ.ประวิตร เลือกน้องๆ 3 ป. และให้โหวตไว้วางใจไปในทางเดียวกัน

หลังจากนี้ไม่รู้ว่าเกิด “ธรรมนัสเอฟเฟค” อะไรหรือไม่ ที่จะส่งผลต่อคะแนนเสียงของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เพราะแม้จะลงในนามอิสระ แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ก็ถูกมองว่า “มีพรรค พปชร.หนุนหลังอยู่” ซึ่งหัวหน้าทีมของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ก็คือ “เสธ.หิ” หิมาลัย ผิวพรรณ เพื่อนของ ร.อ.ธรรมนัสนั่นเอง ไม่รู้ว่าความขัดแย้งในพรรคจะส่งผลถึงคะแนนโหวตของ พล.ต.อ.จักรทิพย์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า “ใครถือฐานเสียงใน กทม.อย่างมีนัยยะสำคัญ” พอที่จะหนุนอดีต ผบ.ตร.ได้   

ข้างฝ่าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง “ลูกพี่เก่าบิ๊กแป๊ะ”นั้น ยังไม่ชัดว่าจะใช้ฐานเสียงจากไหน คาดว่าน่าจะเป็น ส.ก.บางส่วน แต่ที่ถูกวิจารณ์อย่างมากคือ ในช่วงการทำงานของ พล.ต.อ.อัศวินยังไม่ค่อยมีผลงานเด่นชัดมากนัก จนเป็นที่จิกกัดของชาวเน็ตว่า “ผลงานมีแต่คลองโอ่งอ่าง” หากจะกลับมาในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวินคงหืดขึ้นคอหน่อยในการไล่บี้กับนายชัชชาติและ พล.ต.อ.จักรทิพย์ และจะใช้ฐานเสียงประชาธิปัตย์ก็ยาก ( พล.ต.อ.อัศวิน เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ฝ่ายการเมืองจากโควตาพรรคประชาธิปัตย์)  เพราะพรรคนั้นข่าวว่าเขาก็เตรียมส่งนายสุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังลงแข่ง ฐานเสียงจาก กปปส. ก็ไม่รู้จะเทให้ พปชร.หรือไม่

ศึกเลือกตั้ง กทม. เที่ยวนี้น่าจะสนุกกว่าที่คิด เพราะพรรคใหญ่แตกคอ รอจับตาไว้เลย.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”