เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารกลางของลาวประกาศตั้งหน่วยงานแห่งใหม่ในสังกัด มีชื่อว่า “กรมควบคุมเงินตราต่างประเทศ” เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจและการค้า ณ ปัจจุบัน ซึ่งลาวต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ และแนวโน้มความต้องการใช้สกุลเงินต่างประเทศเพื่อการนำเข้าสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บทบาทสำคัญของกรมควบคุมเงินตราต่างประเทศ คือ การควบคุมกระแสเงินตราต่างประเทศให้แข็งแกร่งและครอบคลุม และ “การรณรงค์” ให้มีการใช้เงินกีบมากขึ้นภายในลาว การประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินหยวนของจีนในตลาดของลาว พุ่งทะยานขึ้นทันที เท่ากับว่า ค่าเงินกีบยิ่งทรุด
ทั้งนี้ สภาแห่งชาติลาวมีมติเมื่อช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. 2565 เลือกนาย สอนไซ สีพันดอน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายพันคํา วิพาวัน ซึ่งดำรงตำแหน่งได้ประมาณ 1 ปีเศษ โดย นายสอนไซ วัย 57 ปี สำเร็จการศึกษาจากสหภาพโซเวียต เป็นบุตรชายของ พล.อ.คำไต สีพันดอน วัย 92 ปี อดีตประธานประเทศลาว ระหว่างปี 2541-2549
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในลาว เกิดขึ้นหลังรายงานโดยบริษัทมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ของสหรัฐ ระบุว่า ลาวกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ ภาระหนี้สาธารณะที่พอกพูน แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศกลับมีไม่เพียงพอ ที่จะใช้จัดการกับภาระหนี้ได้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่ปี 2518
แม้เศรษฐกิจของลาวขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตเกือบถึง 8% ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าในประเทศ จนกระทั่งเผชิญกับการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของลาวอยู่ในระดับติดลบนานระยะหนึ่ง ก่อนกระเตื้องกลับขึ้นมาเป็นตัวเลขบวกอีกครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของลาวทะยานขึ้นสู่ระดับ 30% เมื่อปี 2565 เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ และยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่เกือบ 40% เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
ในภาพรวมยังถือว่า เศรษฐกิจของลาวอ่อนแออย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทุกแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) ระบุว่า อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงถึง 107.1% เมื่อปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 93.1% เมื่อปี 2564 โดยเกือบครึ่งของหนี้ทั้งหมดเป็นการค้างชำระต่อจีน ซึ่งตอนนี้มีบทบาทสำคัญต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลาว
ด้านข้อมูลจากธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) ระบุว่า ลาวจัดอยู่ใน “ระดับล่าง” ของการเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง” ทั้งที่ 18.33% ของประชากร คุณภาพชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) สัดส่วนการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำในเขตเมืองขยายวงกว้าง รัฐบาลลาวแทบไม่เคยเปิดเผยสถิติการว่างงานของประชากร ขณะที่รายงานล่าสุดของเวิลด์แบงก์ในเรื่องนี้ อยู่ที่ปี 2564 ระบุว่า อัตราว่างงานของลาวอยู่ที่ประมาณ 3.6% แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ไอแอลโอ ) คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานของลาว “อยู่ในกลุ่มสูงสุดเป็นอันดับต้นของโลก”
นายอเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้แทนเวิลด์แบงก์ประจำลาว กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจของลาวเป็นพวงชัดเจนของการบริหารจัดการหนี้ และการสร้างรายได้เข้าประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลลาวควรทบทวนแนวทางเพิ่มรายได้สาธารณะ ที่รวมถึงการปรับแก้มาตรการยกเว้นภาษี
รายงานโดยไอเอ็มเอฟ ระบุว่า สถิติล่าสุดถึงเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศของลาว อยู่ที่ประมาณ 1,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 51,415.20 ล้านบาท ) แต่มูลค่าหนี้ต่างประเทศซึ่งต้องชำระคืนในแต่ละปี กลับจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกันนี้ไปจนถึงปี 2568 “เป็นอย่างน้อย” ซึ่งเป็นมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพีลาว
หนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของลาว และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับทุกประเทศในภูมิภาค นั่นคือ “กระแสไฟฟ้า” ในฐานะ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” อย่างไรก็ตาม การที่กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกมาแทบทั้งหมด มีไทย กัมพูชาและเวียดนามเป็นลูกค้าหลัก ยังไม่ถือว่าเพียงพอ ส่วนโครงการรถไฟขนส่งสินค้ากับจีน ยังคงเป็นระบบที่ต้องจับตาในระยะยาว เนื่องจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาตลอดเวลา
จริงอยู่ที่รัฐบาลลาวของนายสอนไซแสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจน ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวลาวจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคเดียวและพรรคเดิมมาตลอด หากผู้มีอำนาจที่อยู่บนยอดพีระมิด “ยังไม่คิดเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาว “ยังอยู่ในขีดอันตราย”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP