“ภาษากายเป็นความจริงที่ปกปิดยาก และหลอกกันไม่ได้!!…นี่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผมหลงใหล“ เป็นเหตุผลและที่มาซึ่ง “หมอมด-ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์” ระบุไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” เป็น “แรงบันดาลใจ” ที่ทำให้เขาคนนี้หันมาสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้แบบจริงจัง จนทำให้คุณหมอหนุ่มคนนี้พลิกผันกลายมาเป็น “นักวิเคราะห์ภาษากาย-นักถอดรหัสภาษากาย” ชื่อดัง ซึ่งวันนี้คอลัมน์นี้มีเรื่องราวและเส้นทางชีวิตของคุณหมอหนุ่มคนนี้มาฝากกัน…

ปัจจุบัน ศาสตร์ภาษากาย (Body Language) และ การวิเคราะห์สีหน้า (Facial Expression) นั้นกำลังเป็นที่รู้จักและได้รับความสนอกสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับศาสตร์นี้กันมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว และหนึ่งใน นักถอดรหัสภาษากายซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีจากผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องนี้นั้น หนึ่งในนั้นก็คือ หมอมดทพ.อภิชาติ ทันตแพทย์หนุ่มคนนี้ โดยคุณหมอเล่าประวัติตัวเองโดยสังเขปให้ ทีมวิถีชีวิต ฟังว่า เกิดและโตที่ จ.เชียงใหม่ โดยหลังจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ (PRC) ก็ได้ศึกษาต่อที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาระดับปริญญาโท สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ซึ่งตัวของคุณหมอนั้นได้บอกเล่าว่า จริง ๆ แล้วเขาอยากเรียนด้านจิตวิทยา เพราะอยากรู้และเข้าใจจิตใจของคน โดยมองว่าจิตใจคนเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แถมยังมีความซับซ้อน ทำให้เขาอยากรู้คำตอบว่าคนที่รู้จักหรือพูดคุยด้วยนั้นเป็นคนอย่างไร และกำลังคิดอะไรอยู่ ประกอบกับชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องเชอร์ล็อคโฮล์มส์ ที่ตัวเอกของภาพยนตร์นั้นแค่ดูลักษณะคนก็สามารถทำนายได้เลยว่าบุคคลนั้นเป็นคนเช่นไร ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นอะไรที่เจ๋งมาก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เขาสนใจจิตวิทยา

ชอบด้านจิตวิทยามาก แต่คุณพ่อไม่ยอมให้เรียน เพราะอยากให้ผมเป็นหมอฟันมากกว่า เราเองก็ไม่อยากขัดใจคุณพ่อ ก็เลยเลือกเรียนทางด้านทันตกรรมแทน ซึ่งพอได้มาเรียนก็รู้สึกโอเค เพราะผมเองเป็นคนที่ชอบงานฝีมือ งานประดิดประดอยอยู่แล้ว ซึ่งหมอฟันก็เป็นอาชีพที่ต้องใช้ฝีมือประดิดประดอยทำฟันให้คนไข้ ก็เลยปรับตัวได้ไม่ยาก คุณหมอหนุ่มเล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาในการมาเป็น “ทันตแพทย์” ของเขา

บทบาทหน้าที่ “หมอรักษาฟัน”

ขณะที่ จุดเริ่มต้นของการ ศึกษาศาสตร์ภาษากาย นั้น คุณหมอก็เล่าย้อนให้ฟังว่า ช่วงเรียนหมอฟันอยู่ปี 4 ตอนนั้นเรียนหนัก อีกทั้งต้องทำรายงานส่งอาจารย์อยู่ตลอด จึงทำให้ต้องค้นคว้าวารสารรายงานต่างประเทศ เพื่อมาใช้สำหรับงานวิจัยที่ต้องทำส่งอาจารย์ จึงทำให้มีโอกาสได้อ่านรายงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของ จิตวิทยาด้านภาษากาย ซึ่งด้วยความที่มีความสนใจจิตวิทยาอยู่แล้ว เขาจึงลองอ่านดู ซึ่งแรก ๆ นั้นก็ยังอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็เริ่มค่อย ๆ เข้าใจ จากนั้นจึงหาหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านเพิ่มเติม เช่น หนังสือของนักวิเคราะห์ภาษากายชื่อดังอย่าง อลัน พีช (Allan Pease) และ พอล เอคแมน (Paul Ekman) ซึ่งยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกสนใจเกี่ยวกับศาสตร์นี้ จึงศึกษาเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการเรียนทันตแพทย์

ช่วงนั้นงานวิจัยเรื่องภาษากายของไทยยังไม่มีเลยสักเล่ม โดยของไทยจะเน้นพูดเกี่ยวกับเรื่องการดูโหงวเฮ้ง เรื่องการทำนายทายทักเป็นส่วนใหญ่ เราก็ศึกษาด้วยตัวเองเป็นหลัก ก็มีทั้งหยิบยืมหนังสือจากห้องสมุด และสั่งซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ Amazon มาอ่าน มาทำความเข้าใจเอง จนมายุคออนไลน์ ก็มีโอกาสได้ดาวน์โหลดงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านมากขึ้น เพราะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น และเมื่ออินเทอร์เน็ต โลกออนไลน์ สะดวกมากขึ้น ผมก็ไปลงเรียนคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ ของต่างประเทศที่เขาเปิดสอนด้านนี้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ ผมก็ยังต้องหมั่นอัปเดตอยู่เสมอเช่นกัน เพราะความรู้มันเปลี่ยนไป มันพัฒนาไปไวมาก ทพ.อภิชาติ ระบุ

บรรยาย “ถอดรหัสภาษากาย”

“ความหลงใหล” ใน “ศาสตร์ภาษากาย” นี้ คุณหมอหนุ่มคนเดิมระบุว่า ภาษากายคือรูปแบบหนึ่งของภาษาพูด ที่คนนั้นไม่ได้พูด แต่แสดงออกมาผ่านทางร่างกาย ท่าทาง สีหน้า และอารมณ์ ซึ่งจะแปรผันตรงกับอารมณ์ความรู้สึกในวินาทีนั้น ซึ่งมนุษย์นั้นจะแสดงความรู้สึกกับอารมณ์ออกมาได้หลากหลาย เช่น เสียใจ โกรธ เกลียด กลัว ตกใจ ประหม่า ซึ่งคนเราอาจสามารถควบคุมอารมณ์ได้ด้วยสติ แต่สุดท้ายความรู้สึกก็จะออกมาตามสัญชาตญาณอยู่ดี โดยจะแสดงออกมาผ่านทางภาษากาย ซึ่งมีทั้งแสดงออกมาโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ อาทิ การกะพริบตา การนั่ง การแสดงท่าทางผ่านทางมือและเท้า และการเคลื่อนไหว ซึ่งภาษากายฝืนไม่ได้…ถึงฝืนยังไงก็จะหลุดออกมาอยู่ดี จึงทำให้ภาษากายมีความซื่อสัตย์ และไม่สามารถโกหกได้ ไม่เหมือนคำพูดที่คนเราจะโกหกยังไงก็ได้ เป็น “จุดเด่น” ของ “ภาษากาย”

นอกจากนั้น ทพ.อภิชาติ นักวิเคราะห์ภาษากายชื่อดัง ยังบอกอีกว่า หากย้อนกลับไปเมื่อสัก 5 ปีก่อน คนไทยยังไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องของภาษากายกันมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าภาษากายที่แสดงออกมานั้นมีความหมายหรือแปลว่าอะไร  หรือสามารถที่จะสะท้อนถึงตัวตนของคน ๆ นั้นได้อย่างไร โดยส่วนใหญ่จะสนใจแต่ภาษาพูดอย่างเดียว และเพื่อต้องการให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ในด้านนี้เพิ่มขึ้น เขาจึงเริ่มทำบทความเกี่ยวกับศาสตร์ของภาษากายและเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ของเขาเอง โดยเว็บไซต์ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า www.bodylanguageclassroom.com เพื่อให้เว็บไซต์นี้เป็นห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้ ให้คนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ โดยจะเน้นการวิเคราะห์พร้อมกับสอดแทรกความรู้เข้าไป

บทวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์

ส่วนการหยิบยกคลิปวิดีโอนำมาเป็นกรณีศึกษานั้น เรื่องนี้ก็สำคัญ โดยคุณหมอหนุ่มกล่าวว่า ก็เพราะจุดประสงค์ที่ทำเว็บไซต์ขึ้นมาก็เพื่อเน้นการสื่อสารให้มีความน่าสนใจ เพื่อให้คนที่อยากเรียนเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดังมาเป็นตุ๊กตาเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น แต่ด้วยหวังจะให้เป็นกรณีศึกษาที่ช่วยทำให้คนที่สนใจศาสตร์นี้มองเห็นภาพและเข้าใจในบทเรียนความรู้ เพื่อให้เกิดความสนใจ ก็จึงพยายามที่จะอิงกับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน หรือกำลังมีกระแส เพื่อให้คนสนใจ เพราะถ้าความรู้ที่ทำออกมาไม่มีคนสนใจ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ผมเลยเลือกทำบทวิเคราะห์ที่อิงปัจจุบันบ้าง แต่ก็ไม่ทุกครั้ง และคนที่เหมาะที่จะนำมาเป็นเคสคือคนที่เราเห็นเป็นประจำ บุคคลสาธารณะ ซึ่งทำให้เรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายกว่าบุคคลคนทั่วไปที่สังคมไม่รู้จักมักคุ้น แต่เราก็มีหลักที่ยึดไว้เช่นกัน นั่นคือหลักการวิเคราะห์ของเราทุกครั้งนั้น จะต้องเป็นกลาง จะต้องมีจุดประสงค์เพื่อการเรียนรู้ โดยไม่ได้ทำขึ้นเพื่อต้องการจะดิสเครดิตใคร ไม่ใช่เรื่องการเมือง รวมถึงการวิเคราะห์ทั้งหมดนั้นไม่ได้ทำเพื่อที่จะนำไปใช้ตัดสินใครด้วย ทพ.อภิชาติ เน้นย้ำถึง “กฎเหล็กที่เข้มงวด” ในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการเลือกคลิปวิดีโอใช้เป็นกรณีศึกษา เฉกเช่นเดียวกับนักข่าวที่ทำข่าวต่าง ๆ ที่ต้องมีจรรยาบรรณเป็นกลาง และชัดเจนว่าเรากำลังทำไปเพื่อประโยชน์อะไร

กับภรรยาและลูก

พร้อมกับสมมุติตัวอย่างบางเคสมาเล่าให้เราฟังว่า เช่นหากมีนักขายเอาของมาขาย อาทิ รถมือสอง คนขายก็จะต้องพยายามโน้มน้าวให้เราซื้อสุดฤทธิ์ และอาจจะไม่บอกความจริงทุกอย่างเกี่ยวกับสภาพรถ ซึ่งถ้าหากว่าเรารู้ภาษากาย เราก็จะดูออกว่าระหว่างที่เขาโน้มน้าวอยู่นั้น เขามีภาษากายยังไง? และเราจะเชื่อถือในสิ่งที่คนนั้นพูดได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะถ้าฟังจากสิ่งที่เขาพูดก็เป็นสิ่งที่ออกมาจากสมองส่วนนอก พูดเพื่อมีเจตนาให้เราคล้อยตามเพื่อซื้อ ส่วนจริงเท็จเราไม่รู้ แต่หากเปลี่ยนมุมมองด้วยการมองคนนั้นผ่านทางภาษากาย เราก็อาจจะใช้เป็นหลักเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจได้ว่า สิ่งที่คนนั้นพูดออกมาสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่ง ศาสตร์ภาษากายนี้สามารถใช้ ให้รู้เท่าทันคนได้ ด้วยเหตุนี้ คุณหมอจึงอยากให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องของภาษากายกันเพิ่มมากขึ้น

ภาษากายจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับคนที่ศึกษาและเข้าใจเรื่องนี้ โดยเราสามารถนำไปปรับบุคลิกภาพของตัวเองให้ดีขึ้นก็ได้ หรือจะนำไปวิเคราะห์คนอื่นก็ได้ เพื่อช่วยให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิดที่แท้จริงของคน หรือรู้สภาวะทางอารมณ์ของคนนั้น เพื่อที่เราจะได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ เพราะทำให้เราปรับท่าทีเวลาคุยกับคนนั้นได้ง่ายขึ้น คุณหมอยกตัวอย่างเรื่องนี้ เพื่อฉายภาพถึง “ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน” จากศาสตร์นี้

ทั้งนี้ ก่อนจบบทสนทนา หมอมดทพ.อภิชาติ นักวิเคราะห์ภาษากาย ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายกับ ทีมวิถีชีวิตว่า การที่จะสามารถวิเคราะห์ภาษากายของใครสักคนได้นั้น คนที่จะวิเคราะห์ได้ก็จะต้องฝึกฝนเรียนรู้และค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ และการวิเคราะห์ภาษากายจะยิ่งลึกมากขึ้น ผู้เรียนศาสตร์นี้ก็ควรจะหมั่นอัปเดตความรู้เสมอ รวมถึงควรศึกษาศาสตร์อื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา บุคลิกภาพ วัฒนธรรม และสังคมวิทยาด้วยก็ยิ่งดี เพราะจะยิ่งทำให้การ วิเคราะห์ภาษากาย นั้น…

“ถอดรหัสได้แม่นยำ” ยิ่งขึ้น.

‘ใช้ได้-ใช้ดี’ ทุกอาชีพ-ทุกวงการ

นอกจากจะศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ “อ่านคน-รู้ทันคน” แล้ว กับ “ศาสตร์ภาษากาย” นี้ ทาง “หมอมด-ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์” ได้ย้ำว่า ยังมีประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนอาชีพต่าง ๆ ทุก ๆ วงการ เนื่องจากภาษากายเป็นเสมือนความรู้ ที่สามารถนำไปเสริมการประกอบอาชีพได้หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจคนมากขึ้น เพื่อให้สื่อสารได้ดีขึ้น จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นอาชีพ“นักขาย” ก็สามารถใช้เพื่อให้เป็นนักขายที่เก่งขึ้นได้จากการที่เข้าใจลูกค้ามากขึ้น “พนักงานบริษัท” ก็สามารถใช้อ่านสีหน้าท่าทางเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานได้ “พนักงานฝ่ายบุคคล” ก็นำไปใช้วิเคราะห์การรับสมัครพนักงาน รวมถึงอาชีพ “หมอ” ที่เวลาซักประวัติคนไข้ หากคนไข้มีการหลบเลี่ยงบอกความจริงไม่หมด ถ้ามีความรู้ภาษากายก็จะรู้ว่าคนไข้มีอารมณ์ยังไงและทำยังไงเพื่อจะให้เปิดใจมากขึ้นได้ ส่วนกับอาชีพ “ตำรวจ-ผู้พิพากษา” ถ้ามีความรู้ด้านภาษากายก็ยิ่งเพิ่มความสามารถไปได้อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะเข้าใจในสิ่งที่มากกว่าแค่คำพูด ด้วยการวิเคราะห์ผ่านภาษากายว่าคนนั้นโกหกหรือพูดความจริง.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน