ซึ่งก็มีคำถามสำคัญคือ… การรับประทานผักผลไม้ให้ได้ในปริมาณตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อจะลดความเสี่ยงเจ็บป่วยนั้น “แล้วจะกะอย่างไร??” กับคำถามนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ “มีคำตอบจากนักโภชนาการ” มาสะท้อนต่อให้พิจารณา…

มีวิธีการง่าย ๆ สามารถทำได้ไม่ยาก

กับการรับประทานผักผลไม้แต่ละวัน

ให้ได้รับคุณค่าอย่างมีประโยชน์ที่สุด

ทั้งนี้การ “รับประทานผักผลไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด-ลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” นั้น มีแนวทางที่ รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม ประธาน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำไว้ โดยสังเขปมีว่า… สิ่งที่ทุกคนยอมรับกันเกี่ยวกับการรับประทานอาหารก็คือ การพิจารณาคุณค่าของอาหารและแหล่งอาหาร แต่สิ่งที่ท้าทายก็คือ แล้วคนเราควรที่จะเลือกบริโภคอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด? รวมถึงง่ายต่อการดำเนินชีวิตและปลอดภัยต่อสุขภาพ? โดยเฉพาะการรับประทาน “ผัก-ผลไม้”

ทาง รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า… ผักและผลไม้เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งมีใยอาหาร ทำให้ช่วยปรับสุขนิสัยด้านการขับถ่าย และช่วยขับคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย รวมถึงช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้คนที่รับประทานผักผลไม้เป็นประจำจึงลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้อย่างมาก ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกก็ได้แนะนำให้ในแต่ละวันคนเราควรรับประทานผักผลไม้รวมกันให้ได้ 400 กรัม อย่างไรก็ตาม แต่หลายคนก็คงมีคำถามว่า… แล้วเราควรบริโภคอย่างไรเพื่อให้เพียงพอ-ได้ประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยที่สุด?? 

กับคำตอบของคำถามนี้ ทางนักโภชนาการท่านเดิมระบุว่า… ก็ต้องยอมรับว่า…ในชีวิตจริงนั้นหากเราจะต้องชั่งตวงอาหารด้วยเครื่องมือทุกวัน ก็คงจะเกิดความไม่สะดวกต่อการพกพาเครื่องมือ และการนำออกมาใช้ในทุกครั้งที่รับประทานอาหาร โดยเฉพาะถ้าต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง “ใช้วิธีกะปริมาณ” ด้วย “วิธีลัด (Hackathon)” ที่ฉับไว และสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่ง “แนวทางการกะปริมาณผักผลไม้” นั้น รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ได้ระบุไว้ดังนี้คือ…

การกะปริมาณเพื่อจะรับประทานให้เพียงพอ ทำได้โดยใช้หลัก “ผักผลไม้ 400 กรัม เทียบเท่าผัก 3 ส่วน และผลไม้ 2 ส่วน” ซึ่งสามารถ “กะปริมาณง่าย ๆ ได้โดยใช้ฝ่ามือ” กล่าวคือ… ผัก 1 ส่วน เท่ากับผักสุก 1 ฝ่ามือ หรือ 1 ทัพพี หรือ ผัก 1 ส่วน เท่ากับผักดิบ 2 ฝ่ามือ หรือ 2 ทัพพี ขณะที่ ผลไม้ 1 ส่วน เท่ากับผลไม้ 1 ฝ่ามือ หรือ 1 ทัพพี

ดังนั้น จากที่ รศ.ดร.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม แนะนำไว้นี้ เป้าหมายบริโภคผักผลไม้ให้ได้ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลกเพื่อลดความเสี่ยงเจ็บป่วย ในกรณี “กะด้วยฝ่ามือ” ก็คือ… “ผลไม้วันละ 2 ส่วน” ก็ควรจะ รับประทานผลไม้ให้ได้วันละ 2 ฝ่ามือ และสำหรับ “ผัก 3 ส่วน” ก็แล้วแต่ว่าเป็นผักดิบหรือผักสุก ถ้า ผักสุก ควรรับประทานให้ได้วันละ 3 ฝ่ามือ หรือถ้าเป็น ผักดิบ ควรรับประทานให้ได้วันละ 6 ฝ่ามือ หรือถ้ามีทั้ง 2 อย่าง ก็กะคำนวณรวมกันให้ได้สัดส่วนดังกล่าว

ดู ๆ แล้วบางคนก็อาจจะยังมองว่ายาก

แต่จริง ๆ กะง่าย-เครื่องมือก็มือเราเอง

“รับประทานผักผลไม้ในปริมาณเหมาะสม จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารพฤกษเคมี (phytochemicals) ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม มะนาว ส้มโอ ยังช่วยสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนัง ทำให้แผลหายเร็วขึ้นด้วย”

…นี่ก็คำแนะนำอีกส่วน และในทางกลับกัน… หากรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็อาจขาดวิตามิน เช่น รับประทานผักใบเขียวไม่เพียงพอ ร่างกายอาจขาดวิตามินเค ซึ่งจะส่งผลทำให้เลือดแข็งตัวช้า เมื่อมีบาดแผลเลือดออก เลือดจะหยุดยาก และอาจเป็นอันตรายเมื่อต้องถอนฟัน หรือผ่าตัด ดังนั้น รับประทานผักผลไม้ให้เพียงพอจึงสำคัญ และนอกจากการบริโภคผักผลไม้ให้ได้ใน “ปริมาณเพียงพอ” แล้ว การ “เลือกแหล่งอาหารที่ปลอดภัย” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้อีกทาง เพราะสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ทั้งนี้ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลการรับประทานผักผลไม้ให้ได้ประโยชน์ดังหวัง ทิ้งท้ายอีกส่วนด้วย กล่าวคือ… นอกจากปริมาณที่เพียงพอ แหล่งที่ปลอดภัย ก็ ควรรับประทานผักผลไม้ให้ “หลากสี” เพราะแต่ละสีมีสารต่างกัน อาทิ ผักสีส้ม-เหลือง เช่น แครอท ฟักทอง บำรุงสายตา จากคุณค่าเบต้าแคโรทีน, ผักสีเขียวตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี บรอกโคลี อุดมด้วยไอโซไทโอไซยาเนต ก็จะช่วย กำจัดสารพิษ และ ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เป็นต้น

“ใช้ผักผลไม้สู้โรค” ใครพร้อมใช้ “น่าใช้”

“สู้ให้ได้ผล” นั้นก็ “มิใช่เพียงมีการกิน”

ก็จะ “ต้องกินอย่างมีเคล็ด (ไม่) ลับ”.