หมดแก้ว.. น่าจะเป็นคำที่หลายๆ คนคุ้นชินเวลามีงานสังสรรค์ ปาร์ตี้กับเพื่อฝูง คนรู้ใจ ไปจนถึงการสังสรรค์ในที่ทำงาน ซึ่งหลายๆ คน คงจะเจอสถานการณ์ที่ต้องดื่มแบบหมดแก้ว หรือดื่มเป็นชอตต่อเนื่องแบบติดๆ กัน แต่เคยทราบไหมว่า.. พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมากๆ ภายในระยะเวลาอันสั้นนี้ สามารถส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด ถึงขั้นเสียชีวิตได้!
โดยล่าสุด Healthy Clean ได้รับการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวจาก นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยพิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้
การดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มและทำให้เสียชีวิตได้
ด้าน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้เผยถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วยว่า การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สัญญาณบ่งบอกและอาการเตือนภาวะสุราเป็นพิษ เช่น เกิดอาการสับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก อาเจียน จังหวะการหายใจผิดปกติหรือหายใจช้าลง ตัวเย็นผิดปกติ ผิวหนังซีดหรือกลายเป็นสีม่วง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองการรับรู้ได้ ในกรณีที่ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรง อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่า สมองถูกทำลาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
หากพบเพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิด มีอาการดังกล่าวให้รีบโทรฯ แจ้ง 191 หรือ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์อย่างเร่งด่วน และสามารถให้การดูแลเบื้องต้นโดยการพยายามปลุกให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง ให้ดื่มน้ำเปล่าในกรณีที่สามารถดื่มได้ พยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น หากผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้จัดนอนในท่านอนตะแคง คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ ก่อนที่จะเกิดเศร้าจนสายเกินแก้..
………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”