พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค”ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564
@ อย่าเพิ่งรีบดีใจ ที่การระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้เราต่างพากันชะล่าใจ…เพราะเพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การนับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่นับจาก RTPCR เท่านั้น (เป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก) ซึ่งไม่นับรวมผลจากการตรวจ ATK (ที่เป็นการเก็บตัวอย่างด้วยการ Swab เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส โดยการเก็บตัวอย่างจากทางจมูก ลึกถึงคอ หรือเก็บจากลำคอ) ฉะนั้น “โควิด” ยังคงไม่ลดฮวบฮาบ
@ แต่ขอมองโลกในแง่ดี ถือว่าลดลงมาบ้าง ก็ยังดีกว่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และ “โควิด” คงไม่หายไปไหน ยังคงอยู่ร่วมกับเราตลอดเวลา แต่เมื่อใด “วัคซีน” ปักคนละหลาย ๆ เข็ม เต็มแขนคนไทยทุกคน เราก็จะผ่านพ้น และพลิกฟื้นประเทศ กลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ความหวังก็อยู่ที่รัฐบาลชุดนี้แหละ ที่จะพลิกวิกฤตศรัทธา กลับคืนมาเช่นกัน
@ ไปที่เมืองดอกบัว จ.อุบลราชธานี…ชาวบ้านเริ่มอุ่นใจ เมื่อทราบข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มลดต่ำเหลือหลักสิบ โดย “นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว” รอง ผวจ. ร่วมกับ สสจ.อุบลฯ ยืนยันผลในการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุก ในทุกพื้นที่ของจังหวัด ปรากฏว่าผู้ติดเชื้อโควิดที่เดินทางจากต่างจังหวัด กลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาลดลงมาก แต่ยังมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่อยู่บ้าง รวมยอดผู้ติดเชื้อใหม่เหลือไม่ถึงร้อยรายต่อวัน อีกทั้งประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น และร้านค้าร้านอาหารได้กลับมาเปิดขายเกือบจะปกติ แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดกระเตื้องขึ้นทันที…
@ แต่ที่เมืองดอกลำดวน จ.ศรีสะเกษ…”นายวัฒนา พุฒิชาติ” ผวจ.ที่นั่น ตัองเรียกประชุมด่วน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ หลังพบคลัสเตอร์ใหม่กระจายหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อภายในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องจากก่อนหน้านี้จำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ พบว่าเป็นการติดเชื้อจากที่อื่นกลับมารักษายังภูมิลำเนา สูงถึงร้อยละ 95 แต่ในพื้นที่พบเพียงร้อยละ 5 ซึ่งตอนนี้ปรากฏว่าผู้ติดเชื้อจากภายนอกมีจำนวนลดลง ร้อยละ 55.46 แต่ติดเชื้อภายในจังหวัดกลับมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 44.54 (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ย. 64) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงต้องมีการวางแผนเข้มงวดมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดอย่างเร่งด่วนต่อไป
@ ส่วนที่เมืองบั้งไฟ จ.ยโสธร…เร่งระดมฉีดวัคซีนกันเต็มที่ โดย “นายชลธี ยังตรง” ผู้ว่าราชการจังหวัที่นั่น ออกตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่มาให้บริการอำนวยความสะดวก และให้กำลังใจประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีน ซึ่งจังหวัดยโสธรได้รับพระราชทานวัคซีนซิโนฟาร์ม รอบที่ ๒ จำนวน ๕,๐๐๐ โดส จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในพระราชานุเคราะห์จากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องทุกวัน
@ เช่นเดียวกันที่เมืองเจ้าพ่อพญาแล จ.ชัยภูมิ…”นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายประเสริฐ ชัยวิรัตนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ นายสิทธิพล สุทธิศักดิ์ภักดี ประธานหอการค้าหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าบิ๊กชี ทีมบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข,อาสาสมัครสาธารณสุข,จิตอาสา,สมาชิก อส., ผู้รับบริการวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งบริษัทเอกชนต่าง ๆ ร่วมพิธีเปิดสถานที่การให้บริการรับวัคซีนโควิด-19 แห่งที่ 2 ณ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีชัยภูมิ ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการ “ฉีดดวัคซีน” เป็น “วาระแห่งชาติ” ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้
@ ส่วนที่ จ.อำนาจเจริญ…”วิโรจน์ ธีระพันธ์” นายกเทศมนตรีตำบลนาหมอม้า อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ยืนยันเป้าหมายฉีดวัคชีนประชาชนในเขตเทศบาลนาหมอม้า ต้องได้ครบร้อยละ 70 ภายในปีนี้ เพราะพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บ้านครูสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง โดยมีนักท่องเที่ยวแวะเวียน เข้ามาชมหมู่บ้านเป็นประจำ ดังนั้นผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวต้องผ่านการฉีดวัคชีนครบสามเข็ม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ นักท่องเที่ยวมีต่อไป
@ ที่เมืองช้าง จ.สุรินทร์…”นายกฤติกร ชาวอ่างทอง” ผอ.สำนักงานขนส่งจังหวัด พร้อมด้วย “นางวิภาทิพย์ หิรัญโชคอนันต์” ผู้ประกอบการโรงสี ส.ชัยเจริญ และเจ้าของที่โรงเก็บสินค้าการเกษตร โรงสีข้าว ส.ชัยเจริญ ที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม อ.ปราสาท “นางนัทธมน ศิริวัฒนวานิช” รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด พร้อมด้วยนักธุรกิจภาคเอกชน ได้ร่วมกันนำอาหาร ข้าวกล่อง และน้ำดื่ม ขนมหวาน พร้อมสิ่งของอุโภค บริโภค มามอบให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิค – 19 ภายในโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง เป็นการแบ่งปันน้ำใจและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยในช่วงที่ดูแลผู้ป่วยขณะรักษาตัว
@ ส่วนที่เมืองย่าโม โคราช จ.นครราชสีมา… เหตุการณ์เสือโคร่งออกจากป่า ในอุทยานแห่งชาติทับลาน มากัดควายชาวบ้านตาย 2 ตัว เจ็บอีก 1 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี ถือเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวบ้านในละแวกนั้น
แต่ก็ต้องชื่นชม “นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ไม่นิ่งดูดาย จัดชุดออกลาดตระเวน เพื่อผลักดันเสือให้กลับเข้าสู่ป่าโดยเร็วที่สุด โดยไม่เกี่ยงว่าจะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือไม่ พร้อมกับยอมรับ และหาทางพี่จะระดมทุน เพื่อเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ระหว่างคนกับเสือ
@ ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นทำร้ายเสือได้ อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ จะมีความสูญเสียอยู่บ้าง แต่หากมองในแง่ดีสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะเป็นการเรื่องอาณาเขตของเสือเพศผู้ แสดงให้เห็นชัดๆ ว่าตอนนี้เสือโคร่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจากผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีเสือโคร่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกที่สำคัญของไทยมากกว่า 20 ตัว ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานป่าครบุรี ในอุทยานแห่งชาติปางสีดา
@ เร่งแก้ไขปัญหาผักตบชวา ที่ จ.บุรีรัมย์…”นายดำรงชัย เนรมิตตกพงศ์” รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาผักตบชวา และวัชพืชในแหล่งน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ประจำปี ซึ่งเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จัดขึ้นโดยได้ระดมบุคลากรและเจ้าหน้าที่ จากเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับทหารจากมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นักเรียน นักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ตัวแทนภาคประชาสังคม และประชาชนจิตอาสา เพื่อกำจัดให้หมดสิ้นไป
บรรยายภาพข่าวสังคม
จ.อุบลราชธานี…..นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ รับมอบเครื่องผลิตออกซิเจน และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดซื้อเครื่องผลิตออกซิเจนพระราชทาน จำนวน 7 เครื่อง และเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดพระราชทาน จำนวน 7เครื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยCOVID ในพื้นที่จังหวัอุบลราชธานี
“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน