โดยวัน “วิสาขบูชา” ถือเป็น “วันที่พระพุทธศาสนาถือกำเนิดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก” และเป็นวันที่เหล่าชาวพุทธนับเป็นวันที่สำคัญและมงคลยิ่ง เพราะเป็นวันที่องค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรง “ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน” และนอกจากจะเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งในไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญแล้ว ทางองค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดให้ในวันนี้เป็นวันหยุดอีกวันหนึ่งของสหประชาชาติเพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องใน “วันสำคัญของโลก” วันนี้…

“วันวิสาขบูชา” ได้ “เวียนมาบรรจบ”…

เป็น “ฤกษ์ดีที่จะตรึกตรองหลักธรรม”

และ “น้อมนำมาใช้เพื่อประโยชน์ชีวิต”

ทั้งนี้ ในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ร่วมเชิญชวนชาวพุทธตรึกตรองหลักธรรม ซึ่งมีข้อมูลใน เว็บไซต์ธรรมะไทย ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับความหมายคำว่า “วิสาขบูชา” ไว้ว่า… หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ซึ่งย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” ที่แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” โดยถ้าในปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนวันนี้ไปไว้ในกลางเดือน 7 และในเว็บไซต์ธรรมะไทยก็ยังได้ให้คำแนะนำพุทธศาสนิกชนไว้ว่า… ชาวพุทธควรใช้วันสำคัญวันนี้เป็นวันเริ่มต้นในการนำหลักธรรมมาปฏิบัติจริงจัง โดยเฉพาะกับ “หลักที่สำคัญ” กล่าวคือ…

“กตัญญู” “อริยสัจ 4” และ “ไม่ประมาท”

ควรที่จะ “ยืดถือปฏิบัติในการดำรงชีวิต”

ข้อมูลในแหล่งดังกล่าวได้อธิบายขยายความถึงหลักสำคัญที่ควรเริ่มต้นทำจริงจังในวันวิสาขบูชาไว้ว่า… “กตัญญู” นั้น คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อน ที่ถือเป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที ซึ่งความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือเป็นเครื่องหมายของคนดี โดยเป็นหลักที่ ช่วยทำให้ครอบครัวและสังคมเกิดความสุข ซึ่งควรทำกับ “บิดา-มารดา” ในฐานะผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน, “ครูอาจารย์” ในฐานะมีอุปการคุณแก่ศิษย์ เป็นผู้ประสาทความรู้ให้ และนอกจากบิดา-มารดา ครูอาจารย์ คุณธรรมข้อนี้ยังสามารถนำมาใช้ได้ระหว่าง “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลดี

ช่วยทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีสุข

สำหรับ “อริยสัจ 4” หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ หรือ ความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร และเกิดได้กับทุกคน โดยมี 4 ประการ ได้แก่… 1.ทุกข์ ที่หมายถึง “ปัญหาของชีวิต” โดยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้มนุษย์เข้าใจตรงกันว่า…ทุกคนสามารถเกิดทุกข์ได้ทั้งสิ้น ทั้ง ทุกข์ขั้นพื้นฐาน-ทุกข์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐานนั้นคือทุกข์ที่เกิดจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ส่วนทุกข์ในชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิดจาก พลัดพรากจากสิ่งที่รัก และ สิ่งที่ไม่ได้ดั่งตั้งใจ

2.สมุทัย คือ “เหตุแห่งปัญหา” โดยพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญข้อนี้ไว้ก็เพื่อให้มนุษย์ทุกคนได้รู้ว่า…ทุกข์ทั้งหมดที่เป็นปัญหาของชีวิตนั้น ล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้นขึ้น ที่ตรงกับคำว่า ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ และ ความยึดมั่น ด้วย ถัดมา… 3.นิโรธ คือ “การแก้ปัญหาได้” โดยหลักธรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้มนุษย์ทุกคนทราบว่า…ทุกข์ที่เป็นปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้น สามารถแก้ไขได้ตามทาง หรือ วิธีแก้ 8 ประการ หรือ การใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา แก้ปัญหา-แก้ทุกข์ และ 4.มรรค คือ “การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์” ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อช่วยให้มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะ หลุดพ้นจากทุกข์ และยังถือเป็นหลักการเพื่อแก้ปัญหาและเป็นแนวทางเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหา ที่ต้องการ…เหล่านี้เป็นโดยสังเขปเกี่ยวกับ “หลักสำคัญ” 2 ส่วนแรกที่น่าตรึกตรอง…

น่าถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของชีวิต

เช่นเดียวกับหลักสำคัญอีกส่วนที่มีการแนะนำไว้ จากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ นั่นคือ “ความไม่ประมาท” ที่หมายถึง การมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ทั้งในขณะทำ ขณะพูด ขณะคิด โดยที่หลักธรรมข้อนี้ก็คือการระลึกได้ ที่ ควรใช้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตเพื่อให้รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของ “อิริยาบถ 4” หรือการ “เดิน-ยืน-นั่ง-นอน” ซึ่งเป็นการฝึกให้คนเรานั้น “เกิดสติ-มีสติ” สามารถทำได้โดยการ “ตั้งสติ” กำหนดการเคลื่อนไหวของอิริยาบถ กล่าวคือระลึกรู้ทัน ทั้งในขณะที่ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะที่ “พูด-คิด-ทำงาน” ซึ่งเมื่อสามารถทำได้ตามแนวทางของหลักธรรมเรื่องนี้…

ทำได้ก็หมายถึง “มีความไม่ประมาท”

ที่จะ “ช่วยให้รู้เท่าทันสิ่งที่จะทำให้ทุกข์”

“เมื่อทำได้ตามหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ผู้ที่น้อมนำปฏิบัติก็จะสามารถกระทำการ หรือทำงานต่าง ๆ ได้สำเร็จ รวมถึงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ประมาท ส่งผลทำให้ชีวิตของตนเอง คนรอบข้าง ครอบครัว และสังคมที่ใช้ชีวิตร่วมดัวยนั้น เกิดความสงบ เกิดความสุข” …นี่เป็น “ผลสำคัญโดยรวม” ที่มีการชี้แนะไว้

“ธรรม ดังกล่าว “น่าตรึกตรอง-ปฏิบัติ”

“วิสาขบูชา” นี่เป็น “ฤกษ์เริ่มจริงจังที่ดี”

“ทำได้ดีแน่” เรื่องนี้ “จริงแท้แน่นอน”.