แต่อย่างไรก็ตาม ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้มีการระบุว่า…ลดระดับแล้วก็อาจกลับมาประกาศใหม่อีก ถ้าสถานการณ์หวนกลับมาเลวร้ายขึ้นอีก ดังนั้น มาตรการ “ยกการ์ด” ก็ยังคงต้องมีต่อไป และในประเทศไทยก็มีผู้สันทัดกรณีระบุเตือนให้ “ระวังโควิด-19 กลับมาระบาดในวงกว้างในไทย??” อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงโควิด-19 เท่านั้น ในช่วงที่ในไทย “เปลี่ยนแปลงฤดูกาล” โดยเป็นช่วง “จากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน” เช่นนี้…นอกจาก “ยังต้องระวังภัยร้อน” และ “ระวังภัยพายุฝน” แล้ว… “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอเตือนย้ำอีกกรณี คือ…

“โรคภัยไข้เจ็บ” ใน “ช่วงเข้าสู่ฤดูฝน”…

นี่ “ก็ต้องระมัดระวัง-ต้องไม่ประมาท!!”

เพราะ “เป็นอีกช่วงที่ก็มีโรคภัยชุกชุม!!”

ทั้งนี้ ในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างช่วงนี้ วันนี้ลองมาทบทวนกันอีกสักครั้งถึง “โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องระมัดระวังในช่วงฤดูฝน” ตามที่ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้เคยมีการให้ข้อมูลเตือน ๆ ไว้ ซึ่งมีอาทิ… โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร โดยโรคในกลุ่มนี้ก็เช่น ท้องร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคในกลุ่มนี้เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปะปน, โรคติดเชื้อทางระบบผิวหนัง โรคในกลุ่มนี้ที่ร้ายแรงคือ เลปโตสไปโรซิส หรือ ไข้ฉี่หนู ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อบัคเตรีที่อยู่ในปัสสาวะในหนู หรือในสัตว์ป่า รวมถึงอาจอยู่ในสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ทุกชนิดด้วย 

โรค 2 กลุ่มข้างต้นก็ “อันตรายใช่ย่อย!!”

นอกจากนี้ ตามที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขเคยมีการให้ข้อมูลเตือนไว้ ก็ยังมี… โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสำหรับโรคในกลุ่มนี้ก็มีตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ปอดบวม อันเกิดจากการได้รับเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย หรือได้รับเชื้อจากภาชนะหรือของใช้ที่เปื้อนน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย ทั้งนี้ กับกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจนี้…ก็แน่นอนว่า ในยุคปัจจุบันก็ยังต้องระมัดระวังกันอย่างเข้ม ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งโรค…คือเจ้า “โควิด-19”

ขณะที่โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องระมัดระวังให้มากในช่วงนี้ที่นอกจากที่ระบุมาข้างต้นแล้ว…ก็ยังรวมถึงโรค… ไข้เลือดออก ที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมี ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค, โรค ไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มี ยุงรำคาญ เป็นพาหะนำโรค โดย 2 โรคนี้ก็ “พิษภัยไม่ธรรมดา!!” อย่างไข้เลือดออกนั้น แม้จะเป็นโรคเดิม ๆ ที่รู้จักกันดี…แต่ก็ยัง “มีตายกันเรื่อย ๆ” ส่วน เยื่อตาอักเสบ ตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่เชื้ออาจแพร่จากน้ำตาขี้ตาของผู้ที่ป่วยอยู่ก่อน นี่ก็ใช่ว่าไม่ต้องระวัง…

เหล่านี้เป็นตัวอย่าง “โรคพบบ่อย” ฤดูฝน

ที่หลาย ๆ โรค “สามารถทำให้ถึงตายได้”

และในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างช่วงนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ชวนทบทวนโดยย้ำเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้แจกแจงมาข้างต้นแล้วส่วนหนึ่ง โดยโฟกัสกันที่ “เชื้อโรค” ที่นอกเหนือจากเชื้อโควิด-19 ที่ก็สามารถ “ทำให้เกิดโรคร้ายแรงในคน” ถึงแม้จะเป็นเชื้อเดิม ๆ ที่มีมานานแล้ว…แต่ก็ “ประมาทไม่ได้เด็ดขาด!!” ซึ่งยิ่งช่วงรอยต่อจากฤดูร้อนเริ่มต้นฤดูฝน ในสภาวการณ์ที่ สภาพอากาศดูจะยิ่งวิปริตแปรปรวนมากขึ้น…ก็ยิ่งมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดป่วยเป็นโรคขึ้นได้ง่าย!! โดยถึงแม้ว่า…

เป็น “เชื้อโรคเดิม ๆ”…ก็ “ทำร้ายคนได้”

“โรคเดิม ๆ” ไม่ใช่โรคใหม่…ก็ “ยังร้าย!!”

ยกตัวอย่างเช่น… “เชื้อเลปโตสไปรา” เชื้อที่ทำให้เกิดโรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีเคยมีผู้ป่วยด้วยเชื้อนี้กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่สำคัญคือ “ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อนี้อยู่” โดยยังเป็น “เชื้อโรคร้าย” ที่ต้องคุมเข้ม-ที่ “ต้องระมัดระวังกันให้ดี ๆ” เช่นเดียวกับ “เชื้ออีโคไล” ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวนี้จะมีอาการปวดท้อง มีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือด และในรายที่อาการป่วยรุนแรงนั้นอาจจะมีอาการแทรกซ้อน ไตวาย ที่สามารถถึงขั้น “ทำให้เสียชีวิตได้!!” ในที่สุด

“เชื้อโปรโตซัว” กลุ่มนี้ก็ยังต้องระมัดระวังกันให้ดี ๆ ซึ่งก็มีอยู่หลายชนิด ได้แก่ เชื้ออะมีบา เชื้อไกอาเดีย เชื้อกลุ่มคอกซิเดีย ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โดยช่วงจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝนนี่ คนไทยก็ต้องระวังเชื้อกลุ่มนี้กันให้มาก ๆ ด้วยเช่นกัน ระวังด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ด้วยความร้อน ดื่มน้ำที่สะอาด และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร

ทั้งนี้ นอกจาก “เชื้อโรคในช่วงจากร้อนเข้าฝน” แล้ว ถึงแม้จะเข้าสู่ “ฤดูฝน” แล้ว ขณะนี้หลายพื้นที่ในไทยก็ยังคงเผชิญสภาพอากาศที่ อุณหภูมิร้อนจัด ทำให้นอกจากต้องระวังเชื้อโรคต่าง ๆ แล้ว…ก็ ยังคงต้องระวัง “ภัยโรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” กันต่อ… ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนจัดเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดความร้อนสะสมสูง ส่งผลให้อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ปอด ม้าม สมอง ทำงานผิดปกติ หยุดทำงาน และ “ทำให้เสียชีวิต!!” ซึ่งกับ “ฮีทสโตรก” นี่ ในประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนปี 2566 นี้เกิดกรณีบ่อยครั้งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาจาก “อากาศร้อนจัดทุบสถิติ” ที่ไทยเผชิญ…

“พ้นฤดูร้อนเริ่มเข้าฤดูฝน” ก็ “ระวังดี ๆ”

ยังมีทั้งร้อน พายุฝน และ “มีเชื้อโรคชุก”

ขอเน้นย้ำไว้…“ประมาทอาจถึงตาย!!”.