“เพดานหนี้” หรือ “วงจำกัดหนี้” ของสหรัฐ เป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย ซึ่งมีผลผูกพันโดยตรงกับงบประมาณส่วนกลาง โดยสภาคองเกรสมีอำนาจเป็นผู้จำกัดและกำหนดวงเงิน ที่รัฐบาลกลางสามารถกู้ยืมได้ เพื่อนำมาใช้จ่ายตามนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ระบุชัดเจนมาตลอด ว่ารัฐบาลวอชิงตันในยุคไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา “ใช้จ่ายเกินตัว” ส่งผลให้งบประมาณขาดดุลมาตลอด ผลักดันหนี้สินของประเทศพอกพูนอย่างไม่หยุดยั้ง

Vox

นับตั้งแต่ปี 2503 หรือสมัยทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี สภาคองเกรสของสหรัฐ อนุมัติการขยายเพดานหนี้มาแล้ว 78 ครั้ง อีกทั้งเคยมีการเพิ่มเพดานหนี้ย้อนหลังด้วย ปัจจุบัน หนี้ของสหรัฐมีเพดานสูงกว่า 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,090 ล้านล้านบาท) มีมูลค่ามากกว่าขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐเอง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ปริมาณหนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น จากการที่ผู้นำสหรัฐ ตัดสินใจลดภาษีครั้งใหญ่ เพราะไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย

ตามด้วยวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐ จำเป็นต้องอัดฉีดงบประมาณมหาศาล เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง และกอบกู้ตลาดแรงงาน เมื่อเข้าสู่ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2560 ทรัมป์ลดภาษีเพื่อเอาใจกลุ่มคนร่ำรวยภายในประเทศ เพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐให้สูงขึ้นอีก

อาคารที่ทำการกระทรวงการคลังสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน

นอกจากนั้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายระลอก ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องตั้งแต่ยุคทรัมป์ จนถึงรัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำให้หนี้สินของสหรัฐมีปริมาณเพิ่มพูนขึ้นอีก

สำหรับวิกฤติเพดานหนี้รอบปัจจุบัน กระทรวงการคลังสหรัฐเน้นย้ำว่า หากไม่มีการขยายเพดานหนี้ รัฐบาลวอชิงตันจะไม่มีศักยภาพชำระหนี้ ในวันที่ 1 มิ.ย. ที่จะถึง

Yahoo Finance

อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ยืนกรานว่า รัฐบาลพรรคเดโมแครตต้องยอมรับเงื่อนไข การใช้จ่ายงบประมาณส่วนกลางสำหรับปีงบการเงิน 2567 ที่น้อยกว่าปี 2566 และจำกัดการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณต่อไป ต้องไม่เกิน 1% ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินได้ 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 166 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ทำเนียบขาวยื่นเงื่อนไขกลับว่า จะยอมระงับการใช้จ่ายในส่วนที่พรรครีพับลิกันต้องการ แต่ต้องมีการขึ้นภาษีบริษัทขนาดใหญ่ และผู้มีฐานะร่ำรวย แน่นอนว่า พรรครีพับลิกันไม่มีทางเอาด้วย

นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ

นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลพรรคเดโมแครตจะยอมปรับลดงบประมาณการใช้จ่าย สำหรับโครงการภายในประเทศหลายโครงการ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการลดงบประมาณบางส่วนของกระทรวงกลาโหมด้วย กระนั้น พรรครีพับลิกันยังคงยืนกราน ต้องเพิ่มงบประมาณสนับสนุนกองทัพ และการควบคุมพรมแดนต่อไป

สถานการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐ ที่รัฐบาลและสภาคองเกรสมีความขัดแย้ง เกี่ยวกับการปรับระดับเพดานหนี้ ซึ่งในทางทฤษฎีถือเป็น การช่วยควบคุมไม่ให้ภาครัฐก่อหนี้สินเพิ่มอีกมากจนเกินตัว และไม่ใช่สหรัฐประเทศเดียวที่มีนโยบายเรื่องเพดานหนี้ ทว่าสำหรับสองพรรคใหญ่ของอเมริกา ซึ่งมีนโยบายหลักที่แตกต่างกัน เพดานหนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการถ่วงดุล ช่วงชิงอำนาจ และรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย

ดังนั้น การจะมากล่าวหากันเองว่า อีกฝ่ายหนึ่งจับเศรษฐกิจของสหรัฐ “เป็นตัวประกัน” ไม่ใช่เรื่องถูกต้องเต็มร้อยนัก เพราะดูเหมือนแท้จริงแล้ว ทั้งสองพรรคกำลัง “เล่นเกม” โดยมีประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ ตกอยู่ในความเสี่ยง เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักเท่านั้น.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP