ด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า สำหรับเรื่องดังกล่าวได้ติดตามและสนใจ ส่วนตัวคิดว่ากรณีดังกล่าวต้องพิจารณากันหลากหลายมิติเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและเทียบเคียงกับการศึกษากฎหมายด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของไทยด้วย ซึ่งถ้าเกี่ยวกับด้านมนุษยธรรม ส่วนตัวก็รู้สึกเศร้าใจ เสียใจเป็นอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ยิงสุนัข 2 ตัว ตายต่อหน้าเจ้าของ

ด้านข้อเท็จจริงนั้น กรณีดังกล่าวต้องพิจารณาและต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงการกระทำของเจ้าของสุนัขทั้ง 2 ตัว ในการครอบครองสุนัขอันตรายถูกต้องหรือไม่อย่างไร และมีการฝ่าฝืนเข้าไปในบริเวณพื้นที่ทางสัญจรที่มีการควบคุมการปล่อยสุนัข โดยการเลี้ยงและการปล่อยสุนัข เจ้าของได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอในการควบคุมไม่ให้สุนัขไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายกับบุคคลอื่น และที่สำคัญ ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายที่ได้รับความคุ้มครองและรับรองไว้หรือไม่

ด้านกฎหมาย ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ากฎหมายคุ้มครองสัตว์ของอังกฤษ Animal Welfare Act ซึ่งเป็นกฎหมายต้นแบบของการคุ้มครองสัตว์ ที่มีวิวัฒนาการอันยาวนาน จะให้การคุ้มครองและกำหนดความรับผิดกับกรณีที่เกิดขึ้นได้ หลังจากที่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว

สำหรับการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งกฎหมายของอังกฤษ ก็ได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่หนักมาก โดยการกระทำที่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เช่น การทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น การตัดหรือขลิบอวัยวะของสัตว์ การตัดหางสุนัข การวางยาพิษสัตว์ การทำให้สัตว์ต่อสู้กัน อีกทั้งกฎหมายยังได้กำหนดแนวทางการกระทำที่ถือว่าเป็นความทุกข์ทรมานของสัตว์โดยไม่จำเป็น เช่น ความทุกข์ทรมานของสัตว์นั้น ผู้กระทำต่อสัตว์อาจหลีกเลี่ยงหรือการกระทำให้ลดน้อยเบาบางลงได้โดยมีเหตุอันสมควร การกระทำของบุคคลได้กระทำไป เพราะได้รับอนุญาตหรือมีอำนาจตามกฎหมายบัญญัติรับรอง บุคคล ได้กระทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน มีเหตุผลสมควรและชอบธรรม เพื่อเป็นการปกป้องบุคคล ทรัพย์สิน สัตว์อื่นหรือเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของสัตว์นั้นเอง การกระทำที่กระทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อสัตว์นั้นพอสมควร หรือมีสัดส่วนที่เหมาะสม การกระทำต่อสัตว์ด้วยเหตุผลอันสมควร และมีมนุษยธรรมเพียงพอหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาการกระทำการทารุณกรรมสัตว์ของระบบกฎหมายอังกฤษ

ดังนั้น จากกรณีดังกล่าวต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฏก่อน และส่วนตัวเชื่อมั่นในกระบวนการและระบบกฎหมาย ซึ่งเหตุการณ์การกระทำทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดของมุมโลกใบนี้ กระแสของความรู้สึกร่วมกันของบุคคลจำนวนมากจะมีความสอดคล้องกัน คือความรู้สึกว่า มนุษย์ควรปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีเมตตาธรรม เจ้าของสัตว์ก็ควรต้องมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูสัตว์ของตนให้ดี ไม่สร้างความเสียหายเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น และที่สำคัญพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติต่อสัตว์นั้น ก็ควรปฏิบัติหน้าที่อย่างมีมนุษยธรรม ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และควรต้องดำรงความมุ่งหมายแห่งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนั้น เพราะว่าในกฎหมายนั้น มุ่งหมายความยุติธรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของชาตินั้น ๆ อีกด้วย.

เครนาย