เป็นภาพซ้ำๆ ที่วนเวียนมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งในมุม “เหยื่อ” ที่หลงให้ข้อมูลและโอนเงินให้แก๊งปล่อยกู้ออนไลน์ เพราะเชื่อว่าจะได้วงเงินกู้ตามขอ ขณะที่อีกมุม คือการจับกุมเหล่า “บัญชีม้า” รับจ้างเปิดบัญชีแลกเงินเล็กน้อย แต่บาปมหาศาล เพราะไม่มีใครรู้ได้เลยว่าบัญชีนั้น จะถูกนำไปเป็นเครื่องมือหากินของมิจฉาชีพที่ “ฆ่า” คนได้

ตัวอย่างช่วงต้นปีที่ผ่านมา หากยังจำได้ในพื้นที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เกิดเหตุเศร้าสลด เมื่อครอบครัวมาพบร่าง นายอัฐวุฒิ ผมเพ็ชร อายุ 35 ผูกคอเสียชีวิตภายในบ้าน สันนิษฐานว่ามาจากความเครียด เพราะปัญหากู้เงินออนไลน์ผ่านแอป แล้วถูกหลอกโอนเงินไปก่อน โดยไม่ได้รับเงินที่ขอกู้ ซ้ำมิจฉาชีพยังส่งข้อความลักษณะเยาะเย้ยถากถางญาติผู้เสียชีวิตอย่างไร้มนุษยธรรม

หนึ่งชีวิตสูญเสีย ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ คงมีแต่เวรกรรม และโทษทัณฑ์ตามกฎหมายเท่านั้นที่ต้องชดใช้ เพราะผ่านมากว่า 4 เดือน สุดท้ายมิจฉาชีพกลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมได้ 9 คน

ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) นำโดย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผอ.ศปอส.ตร. ร่วมกับ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.สุรจิต ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.วราวุธ เจริญชนม์ รอง ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.สหัส ใจเย็น รอง ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.เอนก บุตรอินทร์ รอง ผบก.สส.ภ.2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.ภ.2

ในจำนวน 9 คน มี 2 คน อายัดตัวในเรือนจำ ส่วนอีก 7 คน ถูกจับกุมได้ในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย กทม. สระบุรี ชลบุรี ภูเก็ต และราชบุรี ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง, ร่วมกันนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จฯ และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ

จากการติดตามพฤติการณ์ต่อเนื่องหลังเหตุสลด ทราบว่ามีชาวจีนอยู่เบื้องหลัง มีฐานที่ตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน รูปแบบการหลอกลวง จะใช้วิธีหลอกผ่านโซเชียลในช่างทางต่างๆ เมื่อเหยื่อสนใจทำเรื่องกู้เงิน จะอ้างเงื่อนไขต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียม” ก่อนอนุมัติ

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินผ่านบัญชีม้า จะมีการอ้างว่าโอน “ผิดขั้นตอน” ต้องดำเนินการใหม่ และสังเกตสำคัญคือในขั้นตอนนี้ จะต้องมี “ค่าใช้จ่าย” หลอกว่าหากทำขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว จะได้ขยายวงเงินกู้เพิ่มอีกเท่าตัว ทำให้เหยื่อยิ่งมีความหวังและทำตาม

แผนประทุษกรรมเช่นนี้ มีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายราย เฉพาะแก๊งนี้พบเส้นทางการเงินหมุนเวียนกว่า 73 ล้านบาท สะท้อนว่าแต่ละวัน มีเหยื่อหลงโอนเงิน เพราะหวังจะได้กู้เงินมาใช้วันละหลายล้านบาท

นี่เป็นเพียงหนึ่งแก๊งในจำนวนมากมายหลายแก๊ง “ปรสิต” เงินกู้ ที่เติบโตกระจายเกลื่อนโซเชียล ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหาแหล่งเงินกู้ในโลกออนไลน์หรือไม่ก็ตาม ลิงก์เว็บไซต์ ข้อความสั้น (SMS) เทือกนี้ จะมาเสิร์ฟถึงมือโดยไม่ต้องเสาะหา

ดังนั้น ไม่แปลกใจเมื่อเหยื่อหลายคนที่จนตรอก จะ “กด” ตามเกมหลอก จนสูญสิ้นสิ่งที่คิดว่ายังเหลืออยู่ นั่นคือ “ความหวัง” หรือ เงินก้อนสุดท้าย

เตือนกันทุกครั้งว่า การกู้เงินในช่องทางนี้เสี่ยงมิจฉาชีพ และมีแต่เสียเปรียบ ขอให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไปแล้ว เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นกับใครอีก.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]