เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจัดการประชุมความร่วมมือระดับภูมิภาค ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ประมุขและผู้นำรัฐบาลหลายประเทศเข้าร่วมพบหารือด้วยตัวเอง ในขณะที่อีกหลายประเทศส่งผู้แทนระดับสูงไม่ต่ำกว่ารัฐมนตรีการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม
อย่างไรก็ดี หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุม “ที่น่าสนใจและน่าจับตา” คือประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ความเคลื่อนไหวที่เป็นสัญญาณว่า “ฝรั่งเศสกลับมาแล้ว” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง หรืออย่างน้อยก็น่าจะเป็นแบบนั้น ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐลดบทบาทของตัวเอง ด้วยการปิดฉากภารกิจทางทหารอันยาวนาน 2 ทศวรรษในอัฟกานิสถาน ที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นการเปิดโอกาสโดยปริยายให้กับจีนและรัสเซีย
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว มาครงเยือนเลบานอน 2 ครั้ง เพื่อระดมทุนช่วยเหลือประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคม ให้ฟื้นตัวจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือในกรุงเบรุต แล้วก่อนเข้าร่วมการประชุมที่แบกแดดครั้งนี้ ผู้นำฝรั่งเศสเยือนอิรักนำร่องแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อพบหารือกับทั้งประธานาธิบดีบาร์ฮัม ซาลีห์ และนายกรัฐมนตรีมุสตาฟา อัล-คาดิมี
นอกจากนี้ มาครงประกาศคงกำลังทหารในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน ที่อยู่ทางเหนือของอิรัก และเพิ่มการลาดตระเวนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่ในระหว่างการพบหารือที่กรุงแบกแดด เมื่อเดือนที่แล้ว มาครงยืนยันการประจำการของทหารฝรั่งเศสในอิรัก ไม่ว่ารัฐบาลวอชิงตันจะตัดสินใจอย่างไรกับ “ทหารหลักร้อยนาย” ซึ่งยังคงเหลืออยู่
บรรดา “มันสมอง” ด้านนโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศส กำหนดจุดยืนด้านนโยบาย และบทบาทของฝรั่งเศสในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต้องรักษาสถานะของ “หนึ่งในมหาอำนาจ” ให้ได้ตลอด
สำหรับหนึ่งในกลยุทธ์ คือ การต้องมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย อาทิ ความสัมพันธ์กับกองกำลังตะวันออกของนายพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ ในลิเบีย ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคไม่ให้การยอมรับ แต่มาครงมองว่า ฝรั่งเศสและอาจรวมไปถึงพันธมิตรของรัฐบาลปารีสในทวีปยุโรป ต้องรักษาความสัมพันธ์กับนายพลฮาฟตาร์ไว้ เพื่อให้ลิเบียเป็นกันชน ป้องกันคาราวานผู้อพยพไม่ให้เข้าสู่ชายฝั่งทางตอนใต้ของทวีปยุโรป
กลับมาที่การแสดงบทบาทในอิรักของฝรั่งเศส มาครงไม่ได้เข้าร่วมเพียงการประชุมที่กรุงแบกแดดเพียงเท่านั้น แต่ยังเยือนเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน และลงพื้นที่เมืองโมซุล พบปะกับกลุ่มชาวคริสต์ในพื้นที่ พร้อมทั้งให้คำมั่นเกี่ยวกับการปกป้องศาสนา ซึ่งเป็น “การให้คำมั่นสัญญา” แบบเดียวกับที่ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวระหว่างการเยือนเลบานอนทั้งสองครั้ง เมื่อปี 2563
ฝรั่งเศสสูญเสียอิทธิพลในอิรักอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ผ่านพ้นสงครามอ่าว เมื่อปี 2534 ซึ่งรัฐบาลปารีสตัดสินใจส่งทหารร่วมเป็นหนึ่งในกองกำลังพันธมิตร เพื่อปลดปล่อยคูเวตจากการรุกรานของอิรัก อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 ทศวรรษก่อนเกิดสงครามอ่าวครั้งนั้น ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
การเยือนอิรักของมาครงในครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จากเจ้าหน้าที่ทุกระดับของรัฐบาลแบกแดด โดยนอกเหนือจากการแสดงออกชัดเจนในเรื่องการยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง และการทหาร ผู้นำฝรั่งเศสยังกล่าวถึง “ความพร้อม” ของฝรั่งเศส ในด้านการทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์” ให้กับแหล่งหลังงานในอิรัก อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำฝรั่งเศสไม่ได้กล่าวถึง “การร่วมปกปักษ์รักษาอธิปไตย” ให้กับรัฐบาลแบกแดด สร้างความผิดหวังให้กับชาวอิรักบางส่วนเช่นกัน
อนึ่ง อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสังเกต คือการที่ฝรั่งเศสในยุคมาครงให้ความสำคัญอย่างชัดเจน ว่าอิรักและเลบานอน คือหมุดหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปารีสชุดปัจจุบัน โดยทั้งสองประเทศล้วนมีความสัมพันธ์กับอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า ฝรั่งเศสมองตัวเองมีอิทธิพลมากเพียงพอ ในการทำหน้าที่คนกลางเจรจา และจะสามารถเชื่อมโยงคู่กรณีทุกประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศตึงเครียด และกรณีพิพาทในตะวันออกกลางดูทรงแล้ว คงไม่สามารถอาศัยฝรั่งเศสให้เป็นผู้เล่นได้เพียงฝ่ายเดียว.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS