ทั้งนี้ ในยุคที่ผู้คนในสังคมไทย “ป่วยด้านจิตใจ” กันมากขึ้น เมื่อโฟกัสที่ประเด็น “สาเหตุมาจากป่วยกาย” นี่ก็น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกับประชาชนทั่วไป…ที่ควรต้องเท่าทัน และ “บุคลากรทางการแพทย์จะต้องช่วย”

ต้อง “ใส่ใจภาวะจิตสังคมของผู้ป่วย”

ต้อง “ช่วยด้านจิตใจผู้เจ็บป่วยทางกาย”

ทั้งนี้ ข้อมูลกรณีนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ เผยแพร่ไว้ทาง www.rama.mahidol.ac.th ซึ่งเน้นที่ “ผู้ป่วยทางกายด้วยโรคร้ายแรง” โดยเป็นชุดข้อมูลที่จัดทำโดยผู้ชำนาญการ คือ ศรีธรรม ธนะภูมิ พ.บ. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… การแสดงออกทางอารมณ์-พฤติกรรม ที่พบใน “ผู้ป่วยโรคร้ายแรง” ได้แก่… ตกใจ ปฏิเสธความจริง อาจเอะอะโวยวาย คุมอารมณ์ไม่ได้ โทษว่าแพทย์ตรวจผิด ไปหาแพทย์หลายคนเพื่อให้ยืนยัน, กังวล สับสน โกรธ เมื่อปฏิเสธความจริงไม่ได้ รู้สึกโกรธที่ต้องเผชิญปัญหาร้ายแรง อาจพูดหรือแสดงกิริยาก้าวร้าว ต่อต้านการตรวจและคำแนะนำแพทย์ โกรธญาติและคนอื่น ๆ, ต่อรอง เมื่อเริ่มสงบลง ก็อาจต่อรองว่าตนอาจไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง อาจปฏิเสธความจริงอีก เพื่อเพิ่มความหวัง ยืดเวลายอมรับความจริง

ลำดับถัดมา… เศร้า หมดหวัง เมื่อเริ่มยอมรับความจริงของการป่วยเป็นโรคร้าย หลังจากปฏิเสธไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องยอมจำนนด้วยเหตุผล แต่จิตใจของผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถยอมรับได้ ซึมเศร้า รู้สึกอ้างว้าง พูดและทำสิ่งต่าง ๆ น้อยลง แยกตัว เหม่อลอย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาจมีความรู้สึกอยากตาย หรือถ้าอาการรุนแรงก็อาจมีประสาทหลอน หูแว่ว ระแวง, ยอมรับความจริง เมื่อถึงขั้นนี้ได้ ก็จะเศร้าลดลง มีการซักถามรายละเอียดของโรคและวิธีรักษา แต่บางรายก็อาจเฉย ๆ แสดงความไม่สนใจ ปล่อยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของแพทย์ ผู้ป่วยจะเริ่มปรับตัวต่อการรักษาและการดำเนินชีวิต…

“การแสดงออกของผู้ป่วย ไม่จำเป็นจะต้องเรียงลำดับขั้นตอนดังกล่าวนี้เสมอไป อาจจะข้ามขั้นตอน หรือมีการแสดงออกเพียงบางขั้นตอนเท่านั้นก็ได้ นอกจากนี้พบว่า แม้กระทั่งผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นยอมรับความจริงแล้วก็ตาม เมื่อเกิดความเครียด มีสถานการณ์ใหม่ที่เข้ามา ก็อาจถดถอยไปสู่ขั้นตอนก่อนหน้าได้” …ทางผู้ชำนาญการชี้ไว้

นอกจากนี้ยังแจกแจงไว้อย่างน่าสนใจอีกว่า… การปรับตัวของผู้ป่วยด้านจิตใจและพฤติกรรมมีปัจจัยที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง กล่าวคือ 1.ปัจจัยเกี่ยวกับโรค ได้แก่ อาการ ตำแหน่ง-ระยะของโรค การรักษา ผลการรักษา การสูญเสียอวัยวะ สมรรถภาพ ความช่วยเหลือ-ท่าทีแพทย์และบุคลากรการแพทย์, 2.ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้ป่วย ได้แก่ บุคลิกภาพ ความสามารถในการปรับตัว-แก้ปัญหา วัย ความรับผิดชอบต่อตนเอง-ครอบครัว ความสัมพันธ์กับผู้อื่น, 3.ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือจากครอบครัวและผู้อื่น ค่านิยม ประเพณี การวินิจฉัยภาวะจิตสังคมของผู้ป่วย ซึ่ง…

“แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยด้วยโรคชนิดใดก็ตาม ควรให้ความสนใจสภาพจิตใจและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย เพราะภาวะจิตสังคมของผู้ป่วย จะมีผลกระทบต่ออาการของโรค ความร่วมมือในการรักษา และผลการรักษา”

ทั้งนี้ ศรีธรรม ธนะภูมิ พ.บ. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังระบุไว้ในชุดข้อมูล-บทความ “ภาวะจิตสังคมของการเจ็บป่วย” ต่อไปว่า… ถ้าผู้รักษา สนใจความต้องการของผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคร้ายแรงที่เขาเป็นอยู่ และช่วยเหลือตามความต้องการของเขา จะช่วยแก้ไขปัญหาในการปรับตัวให้ผู้ป่วยได้ดี ซึ่งสิ่งที่แพทย์และบุคลากรการแพทย์ควรทำ ได้แก่… บอกผู้ป่วยว่าเขาเป็นอะไร โดยพิจารณาว่าควรบอกเพียงใด ยึดหลักพูดความจริงที่เกิดประโยชน์เท่านั้น และคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย, บอกผู้ป่วยเรื่องวิธีรักษาที่จะช่วยได้ ให้ผู้ป่วยมีส่วนตัดสินใจเรื่องการรักษาและการรับผิดชอบตนเองเท่าที่จะทำได้, ยอมรับการแสดงออกของผู้ป่วย โดยเฉพาะการปฏิเสธความจริงของผู้ป่วย การมีอารมณ์กังวล ซึมเศร้า และแม้แต่ความก้าวร้าวที่ผู้ป่วยอาจแสดงต่อแพทย์

อีกทั้งควรจะมีการ ปลอบใจ และประคับประคองทางอารมณ์แก่ผู้ป่วย ให้กำลังใจ ให้เวลารับฟังเขาด้วยความจริงใจ ถามถึงความรู้สึกนึกคิด และให้ความช่วยเหลือ, บอกผู้ป่วยว่าแพทย์จะเป็นผู้ช่วยเหลือเขาทั้งเรื่องโรคและเรื่องอื่น ๆ สนใจและหาข้อมูลด้านภาวะจิตสังคมของผู้ป่วยอยู่เสมอ, ให้การรักษาตามอาการ และบอกผู้ป่วยถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่เขาอาจต้องเผชิญในการปรับตนเองด้านจิตใจ, ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่รักษาไม่หายในระยะสุดท้าย เช่น ให้ยาแก้ปวดเพื่อลดความทุกข์ทรมาน ช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญการจากไปโดยจิตใจที่สงบ และด้วยความรู้สึกว่าตนมิได้ถูกทอดทิ้ง…

“ผู้ที่จะช่วยผู้ป่วยได้ดีก็คือ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและรักษาผู้ป่วย โดยให้ความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด คอยให้ความช่วยเหลือทั้งด้านร่างกายและจิตใจ” …ทางผู้ชำนาญการชี้เพิ่มไว้ถึงบุคลากรการแพทย์อีก 2 ส่วนที่ก็ “ควรใส่ใจภาวะจิตสังคมของการเจ็บป่วย” เช่นเดียวกับแพทย์

“ช่วยด้านจิตใจ” กับ “ผู้เจ็บป่วยทางกาย”

“ก็สำคัญ” ก็ “ควรต้องมีการสนใจ-ใส่ใจ”

สะท้อนต่อไว้ “หวังให้ในไทยไม่ละเลย”.