การดื่มขับแม้เป็นพฤติกรรมไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง แต่ในมุมมองความเคลื่อนไหวด้านความปลอดภัยทางถนน ผลพวงจากเหตุการณ์นี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้าง “บรรทัดฐาน” ใหม่บนท้องถนนได้เช่นกัน

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สะท้อนความเห็นในมุมสังคม ต้องขอบคุณที่ต้นสังกัดและเจ้าตัวที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบบอย่างความร่วมมือการตรวจ ยอมรับเมื่อกระทำผิด และแสดงความรับผิดชอบ เพราะโจทย์ใหญ่คือการสามารถขยับบรรทัดฐานของผู้มีสถานะและบทบาททางสังคม มีตำแหน่งหน้าที่ พร้อมมองภาพการเป็นแบบอย่างของตำรวจ ที่ให้ทุกคนเข้าสู่การตรวจโดยไม่ละเว้น ซึ่งจากนี้เห็นควรขยายผลให้เหตุการณ์ถูก “ยกระดับ” เป็นบรรทัดฐานการตรวจ และการแสดงความรับผิดชอบต่อไปด้วย

เหตุใดการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่จึงสำคัญ ผู้จัดการ ศวปถ. ระบุ นับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ เดิมข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา โทษคือ จำคุก ปรับ รอลงอาญา และส่งคุมประพฤติ แต่ปัจจุบันหากกระทำผิดซ้ำ 2 ครั้ง ภายใน 2 ปี กฎหมายกำหนดให้ศาลลงโทษปรับและจำคุกด้วยเสมอ

ประเด็นนี้ถือเป็น Keyword (หัวใจสำคัญ) ที่คนจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการตรวจ เพราะยิ่งมีประวัติค้าง รู้ว่าทำผิดซ้ำและคดีถึงศาล จะไม่ได้รอลงอาญา แต่จะถูกกักขัง หรือจำคุกด้วยเสมอ

ดังนั้น จึงเป็นข้อกังวลในการหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธตรวจ และหากยังปล่อยให้มีอยู่ คนจะยังหาช่องปฏิเสธไว้ก่อน เพราะสุดท้ายเมื่อไปถึงศาล เมื่อสันนิษฐานว่าเมาขับ ศาลไม่ได้ลงโทษหนัก ขณะที่ต่างประเทศปฏิเสธตรวจ มีแนวโน้มลงโทษหนัก

“บ้านเราโทษสูงสุดข้อหาดื่มขับคือ ปรับ 1 แสนบาท พักใช้ใบอนุญาตไม่เกิน 1 ปี และโทษจำกคุก แต่หากปฏิเสธตรวจเมื่อส่งฟ้อง สันนิษฐานว่าเมาขับโทษ มักจำคุก ปรับ และรอลงอาญา”

ดังนั้น ย้ำว่าจำเป็นต้องทำให้การปฏิเสธหายไปจากสังคม และหากยังปฏิเสธ ศาลต้องลงโทษหนัก เพราะสังคมอาจจะเรียนรู้ว่าปฏิเสธดีกว่ายอมให้ตรวจวัด โดยยกตัวอย่างเร็วๆ นี้ มี 2 กรณีดื่มขับน่าสนใจ คือ “ซูโม่ตุ๋ย” อรุณ ภาวิไล อดีตนักแสดง ที่ปฏิเสธการตรวจ แต่ไม่รู้ว่าศาลจะลงโทษสถานใด

อีกกรณีเกิดขึ้นช่วงต้นเดือน พ.ค. มีนายตำรวจระดับ รอง ผกก. ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ปฏิเสธตรวจ ความน่าสนใจเชิงบทเรียนคือ กรณีนี้ถูกต้นสังกัดให้ออกจากตำแหน่ง และสอบวินัย ซึ่งตนมองว่าจะทำอย่างไรให้การปฏิเสธตรวจของบุคคลที่มีสถานะทางสังคมในลักษณะนี้ เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน โดยเฉพาะโลกโซเชียล

“เพราะเมื่อใดที่ทำให้เรื่องไปอยู่ในที่สว่างได้ สิ่งที่คนกังวลจะไม่เกิดขึ้น เพราะทุกคนจะเฝ้าดูกระบวนการยุติธรรม”

ผู้จัดการ ศวปถ. ยังเสนอแนะ 2 ส่วน ที่สามารถสร้างบรรทัดฐานให้คนในสังคมไม่กล้าดื่มแล้วขับคือ การทำให้คนรับรู้ว่า “ไม่รอด” และ “ไม่คุ้ม” เพราะบทลงโทษหนัก บ้างไม่คุ้มกับค่าปรับสูง บ้างไม่คุ้มหากโดนกักขัง จำคุก บ้างไม่คุ้มหากต้องเสียชื่อเสียง ตกงาน ซึ่งคำว่าไม่คุ้มต้องเชื่อมโยงไปยังต้นสังกัด เช่นกรณีล่าสุด หากว่าที่ ส.ส. รู้ว่าจะผูกโยงกับตำแหน่ง คงไม่ดื่มขับ

“คนส่วนใหญ่ก่อนจะคิดว่าไม่คุ้ม ก็มักคิดว่าไม่เจอ รอดแน่ แต่หากทำให้คนกลับมารู้สึกว่าไม่รอด จำนวนด่านต้องเยอะแค่ไหน ในต่างประเทศมีระบบ Random breath testing (RBT) หลักการคือ หากสุ่มตรวจมากพอ เช่น กระจายตามช่วงเวลา ขับขี่ผ่านจุดนี้ถูกตรวจทั้งหมด ทำให้คนรู้สึกไปตรงไหนก็เจอ”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับไทยอาจเกิดยาก เพราะมีกลุ่มที่พยายามสร้างเครือข่ายมีด่านบอกด้วย ทำให้นักดื่มรู้ตัว อีกทั้งการตั้งด่านมักอยู่ในจุดเดิม คนเลยหลบเลี่ยง พร้อมยกตัวอย่าง ระบบ RBT ที่เห็นผลในประเทศออสเตรเลีย รัฐนิวเซาท์เวลส์ มีประชากรกว่า 7 ล้านคน ทำ RBT ได้เฉลี่ยปีละ 5 ล้านครั้ง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ศึกษาว่า คนจะรู้สึกว่าการตรวจครอบคลุมคือ ทำให้คนที่อยู่บนถนนมีโอกาสถูกเรียกตรวจปีละ 1.5 ครั้ง ก็พอ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]