อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรคนไทยก็ย่อม “คาดหวัง” กับสิ่งที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคต่าง ๆ ได้หาเสียงชูเป็น “นโยบายขายฝัน ไว้…ว่า “ฝันจะเป็นจริง??” รวมถึงคนไทยกลุ่มที่เป็น “เกษตรกร” โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยัง “ติดอยู่ในวังวนหนี้เกษตร” จนไม่สามารถที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้…ที่ก็ย่อม “หวังว่าจะปลดล็อกหนี้” ได้ ซึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งของบรรดานักการเมืองพรรคต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีการ “ชูเรื่องนี้ขึ้นมาเรียกคะแนนเสียง” เพราะต่างก็รู้ดีว่า…

เกษตรกรยัง “วนเวียนกับวังวนหนี้สิน”

และเกษตรกรกลุ่มนี้ยัง “มีจำนวนมาก”

ทั้งนี้ เกษตรกรไทยที่ทุกข์เรื่องหนี้จะมีรัฐบาลใหม่ที่ช่วยแก้หนี้ได้เร็ว…ได้ดี…ได้จริงแค่ไหน??-อย่างไร?? ก็ยังต้องรอดูกันไป อย่างไรก็ดี โฟกัสที่ “แนวทางแก้ปัญหาหนี้ให้เกษตรกรชาวนา” กรณีนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ โดยเป็นข้อมูลน่าสนใจโดย ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ที่จัดทำคู่มือเกษตรกร“โมเดลแก้หนี้สินชาวนาแบบครบวงจร” ซึ่งฉายภาพ “สถานการณ์และความท้าทาย” ที่เกษตรกรชาวนาไทยต้องเผชิญ โดยสรุปมีดังนี้…

สำหรับด้าน ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น พบปัญหาว่า… เกษตรกรและชาวนาก็ต้องเผชิญ ค่าจ้างแรงงาน ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงแม้แต่ในยามที่มีสถานการณ์ปกติ และถ้าหากยิ่งมีสถานการณ์วิกฤติ อาทิ สงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ก็ยิ่งส่งผลต่อต้นทุน ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ราคาปรับตัวสูงจนส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งกับชาวนานั้น เมื่อประกอบกับราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ…

เกษตรกรที่ทำนาเคมีนั้นยิ่งเสี่ยงขาดทุน

Farmer in rice field with smartphone

สถานการณ์และความท้าทายต่อมาคือ… เกษตรกรทำนามีประสิทธิภาพในการผลิต/ผลิตภาพ (Productivity) ค่อนข้างต่ำ ถึงแม้จะลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงก็ยังมีกำไรน้อยซึ่งการทำนาและการทำเกษตรแบบมุ่งเป้าประสิทธิภาพการผลิตนั้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ หากแต่พบว่า…เกษตรกรและชาวนาของไทยที่ทำเกษตรในรูปแบบนี้มีระดับที่ต่ำ ประสิทธิภาพการผลิตหรือผลผลิตต่อไร่นั้นพบว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียถึงร้อยละ 32 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถานการณ์ต่อมาที่พบคือ… การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดของข้าวไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ขณะนี้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกชนิดเดียวที่สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก การส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลกลดลงเหลือแค่ร้อยละ 14 ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมดในโลก ขณะที่เมียนมา กัมพูชา ลาว มีมูลค่าส่งออกข้าวเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญ โดยสาเหตุสำคัญคือผลผลิตต่อไร่ที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่การลงทุนสูง ทำให้ข้าวไทยราคาสูงตามไปด้วย

ต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “ปัญหาที่เกิดขึ้น”…

ที่อาจ “ส่งผลเป็นปัจจัยให้เกิดวังวนหนี้”

ในคู่มือเกษตรกรดังกล่าวยังสะท้อนไว้อีกว่า… จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพในการผลิตหรือผลิตภาพที่สูงและมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทย ซึ่งหากมองไปที่ สถานการณ์หนี้สินของเกษตรกรและชาวนา แล้ว จะพบว่า… ชาวนาและเกษตรกรไทยเกือบครึ่งมีภาระหนี้สินระยะยาว และนอกจากนี้ ข้อมูลที่ทาง มูลนิธิชีวิตไท ได้จัดทำล่าสุดในปี 2565 ก็พบตัวเลขที่สะท้อนว่า… มีเกษตรกรไทยที่มีหนี้สินถึงร้อยละ 40.8 ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้!! เพราะ…

ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายการผลิต…

รวมถึงภาระค่าครองชีพในชีวิตที่เพิ่มขึ้น

นอกจากสถานการณ์ดังที่ระบุข้างต้น ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ ยังสะท้อน-ฉายภาพ “สาเหตุหนี้สินเกษตรกร” ไว้ว่า… มี 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญ ได้แก่ “หนี้จากการลงทุนเพื่อการผลิต” ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกษตรกรและชาวนาเป็นหนี้ เนื่องจากการลงทุนเป็นการลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูงต่อการได้ผลผลิตน้อย จากปัจจัยการผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศ น้ำแล้ง-น้ำท่วม โรคพืช-แมลง การไม่มีอำนาจต่อรองด้านราคา อีกปัจจัยคือ “หนี้จากค่าครองชีพในครอบครัว” เช่น ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตร ที่เป็นการกู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่ง หนี้ทั้ง 2 ปัจจัยนี้กลายเป็น “มรดกหนี้สิน”

รุ่นพ่อแม่ “ส่งต่อมาสู่รุ่นลูก-รุ่นหลาน!!”

ทั้งนี้ ในคู่มือดังกล่าวข้างต้นยังมีการสะท้อนภาพ “ปัญหาหนี้ของเกษตรกร-ชาวนา” ไว้ด้วยว่า… จากสถานการณ์ที่ต้องเผชิญนี้ ส่งผลทำให้ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวพ้นเส้นความยากจนได้ จากการที่มีระดับรายได้ต่ำกว่าความสามารถที่ควรจะมีในการชำระหนี้สิน ซึ่งจะ ยิ่งเกิดความเปราะบางเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมที่ต้องหมุนหนี้ด้วยการกู้ยืมหนี้ก้อนใหม่ก็เป็นอีกสาเหตุทำให้ “เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นวงจรหนี้ได้!!”

ถามว่า “จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ยังไง??”

ในคู่มือก็ “มีข้อเสนอแนะ” ระบุเอาไว้…

“ควรใช้วิธีใด??”…ตอนหน้ามาดูกัน…