โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน แถมยังทำงานทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง และบริหารแบบไม่หยุดอีก สำหรับผู้กำกับคนดัง โด่ง องอาจ สิงห์ลำพอง ที่มีผลงานกำกับมาแล้วมากมาย อาทิ ดอกซ่อนชู้, แตก 4 รักโลภ โกรธ เลว, ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน ฯลฯ รวมถึงงานบริหารในฐานะผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ต่างๆ อีก เรียกว่างานรัดตัวมากๆ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าอีกบทบาทหนึ่งของเขานั้น เรียกว่าเป็นอีกด้านหนึ่งน่าสนใจอย่างมาก ในการเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยเป็นการหยิบประสบการณ์การทำงานของตนเอง มาสอนวิธีคิดและแนะแนวการทำงานจริงให้กับเยาวชน เพื่อใช้ต่อยอดในการทำงานอีกด้วย

ล่าสุด yimyim มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้กำกับดังในฐานะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และได้เก็บภาพบรรยากาศการเรียนการสอนของนักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มาฝากกันด้วย


ในส่วนการเรียนการสอน ได้รับบทบาทการสอนในด้านใดบ้าง?
“จริงๆ ก็บทบาทของเราเนี่ย ก็จะไม่ได้เน้นที่ปีที่ 1-2 สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นที่ปี 4 ก็จะรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องของผู้ประกอบการ ในเรื่องของสื่อ การที่หลังจากที่เราเรียนจบแล้ว เราจะไปทำงานต่อเราจะทำธุรกิจส่วนตัวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างเขา แล้วแต่คน ถ้าเขาอยากไปลองเป็นลูกจ้างก่อนก็ได้ บางทีวิชาเหล่านี้ การเป็นลูกจ้างเขาก็ทำให้เข้าใจในหลักวิชานี้ได้เหมือนกัน เหมือนการที่คุณเรียนปีหนึ่งจนถึงปีสี่เนี่ย เมื่อคุณเรียนจบแล้ว คุณได้ทบทวนในสิ่งที่คุณเรียนมาคุณจะเอาไปใช้ในรูปแบบไหนก็ได้”

ทำการสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มานานเท่าไหร่?
“น่าจะประมาณ 6-7 ปีครับ”

ที่ผ่านมา คุณครูเจอหลายรูปแบบมากๆ อยากทราบการสอนเด็กๆ ที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง?
“ยุคสมัยมันก็เปลี่ยนไปเนอะ ต้องบอกก่อนเลยว่า นักศึกษายังรู้สึกว่าการเรียนหรือว่าการเรียนกับครูถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะครูก็คือคนที่ให้ความรู้กับเขาในสิ่งที่ขาดหรือสิ่งที่เขาอยากรู้ แล้วปัจจุบันเนี่ย มันมีในสิ่งที่ช่วยครูสอนในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาในด้านความรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของเรา เพราะฉะนั้นการสอนนักศึกษาเหล่านี้ที่อยู่ในโลกปัจจุบันเนี่ย มันก็จะแตกต่างจากในอดีตละ ข้อดีเนี่ยมันก็คือการที่เราช่วยเราในเรื่องการหาข้อมูลของเด็กในการที่หาข้อมูลในบางส่วน แล้วในส่วนที่เขาไม่รู้เนี่ย เขาก็จะมาถามเรา ผมว่าข้อเสียมันก็มีนะ เพราะข้อมูลบางทีมันไม่ได้รับความถูกต้อง แล้วนักศึกษาก็ไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง ดังนั้นมันอยู่ที่เขาจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องมากแค่ไหน บางทีในอนาคตเขาอาจจะมีความคิดว่า การเรียนในมหา’ลัยมันไม่จำเป็นสำหรับเขา”

ตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษานานหรือไม่ เพราะอะไร?
“จริงๆ ก็ไม่ได้ตัดสินใจนานนะ เพราะเราก็แค่ทำงานหนักขึ้น แต่การที่เรานำความรู้ที่เรามีเนี่ย มาเผยแพร่ให้ในรั้วมหา’ลัย มันทำให้เราได้ใช้หลักประสบการณ์มาสอนพวกเขา ดังนั้นในมุมของการสอนมันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเรานำเรื่องใกล้ตัวของเรา ไปสู่ในวงวิชาการ เพราะฉะนั้นการที่เราวิชาชีพของเรามาใช้ในวิชาการเนี่ย มันทำให้เขาได้เข้าใจวิชาชีพมากขึ้น มันทำให้การเรียนการสอนเนี่ยง่ายขึ้น สังเกตส่วนใหญ่นะครับ ในมหา’ลัยมักจะนำคนที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมาสอนในรั้วมหา’ลัย ทำให้เขาได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และสามารถตัดสินใจในการเลือกการทำงานได้มันเหมือนเป็นการช่วยเขาให้เห็นภาพมากขึ้น”

แล้วเรื่องเทคโนโลยีกับการศึกษา ในมุมมองของครูโด่งคิดเห็นยังไงบ้าง?
“ในมุมของเราเอง เราก็ต้องพัฒนาในมุมการสอนของเราด้วย ให้ตอบรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามโลกไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้การสอนของเรามันสอดรับกับผู้เรียนไป ที่สำคัญคือ เด็กในยุคสมัยนี้ เขาฉลาดบางเรื่อง ต้องยอมรับเลยว่าเขาเก่งกว่าเรา อย่างเช่นเรื่องในโซเชียลมีเดีย การใช้เครื่องมือต่างๆ แต่เขาอาจจะไม่รู้กลยุทธ์ในการใช้มัน เพราะเขาอาจจะเป็นยูสเซอร์ แต่ตัวเราเองเนี่ย เรายังใช้งานมันได้ไม่ดีเท่าเขาเลย ครูคิดว่ามันเป็นในเรื่องของวิธีคิด ในการที่ทำให้เขาเห็นภาพได้มากขึ้น แล้วก็บางทีมันทำให้เขาคิดได้ว่า อนาคตมันจะเป็นยังไง”

อย่างครูเองก็ยังทำงานเกี่ยวกับงานบันเทิงอยู่ใช่มั้ย?
“สำหรับครู คิดว่ามันเป็นเรื่องของการลดในการทำงานส่วนนั้นลง บางทีก็เหลือแค่ปีละเรื่องหนึ่ง เพราะอีกอย่างคือเราก็ทำงานเกี่ยวกับการบริหารด้วย แล้วก็มีธุรกิจในหลายๆ ส่วนที่เราก็ต้องดู บางส่วนก็เข้าไปเกี่ยวกับตัวมิสยูนิเวิร์สอยู่ แล้วอีกบางส่วนก็เป็นในเรื่องของการสอนด้วยแล้ว เราก็ไม่อยากทิ้งตรงนี้ไป เพราะเราก็ชินกับตรงนี้แล้ว เพราะเราก็อยู่ในวิชาการมาก็ค่อนข้างนาน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปยังไงอ่ะ เราคิดว่าความเป็นอาจารย์มันก็ยังคงอยู่ เวลาออกไปไหน เขาเจอเราเขาก็ไม่เรียกเราว่าพี่ เขาเรียกเราว่าอาจารย์ คิดว่ามันเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาชีพนั้นๆ”

เห็นก่อนหน้านี้ครูโด่งก็อยากจะมาเป็นครูอยู่แล้วใช่มั้ย
“ก็ใช่ครับ ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้สนใจในด้านนี้ขนาดนั้น แต่พอมีประตูที่ทำให้เราได้ก้าวไปลองทำดูแล้ว เราก็รู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ใช่และเราก็ชอบ”

ในอนาคตอยากต่อยอดอะไรเป็นพิเศษในเรื่องของการสอนไหม?
“จริงๆ ก็เริ่มที่จะทำเงินจากความรู้ของตัวเอง ก็อาจจะมองในเรื่องของการที่องค์และวิชาชีพของเรา เขาต้องการก็คือการสร้างอะคาเดมี่ให้กับที่ทำงาน เพื่อสร้างให้กับวงการศึกษาและธุรกิจ นั่นคือเรื่องของการท้าทาย เราก็ไม่ได้ทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งเนอะ เป็นการสนับสนุนด้านการศึกษาและด้านวงการที่เราทำอยู่ด้วย”

อยากให้มีการพัฒนาในด้านไหนต่อไปเกี่ยวกับการศึกษาเพราะอะไร?
“สำหรับเราคิดว่า การพัฒนาในเรื่องของการที่เราเรียนจบไปแล้ว ได้ใช้ความรู้ในสิ่งที่เรียนมา เพราะสมัยนี้คนเรียนจบนิเทศศาสตร์ ก็แทบจะไม่ได้ทำงานกันตรงสายขนาดนั้น อยากให้เข้าใจด้วยว่าเรียนจบนิเทศศาสตร์มาเนี่ย ไม่ได้มีแค่เรื่องของการทำสื่อวิทยุหรือการเข้าวงการบันเทิงอย่างเดียว มันมีอีกหลายอาชีพให้เราได้ใช้ความรู้ในการเรียนนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า อยากจะพัฒนาในด้านนี้ต่อมั้ย หรืออยากจะทำอาชีพอื่นๆ เพิ่มเติมแทน ขึ้นอยู่กับตัวคุณว่าอยากจะตัดสินใจยังไงครับ”

การศึกษาในระบบห้องเรียนหรือตำรา อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและเติมความรู้ให้กับเยาวชน แต่การศึกษานอกห้องเรียนหรือประสบการณ์จากผู้ปฏิบัติวิชาชีพจริง ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มเติมความรู้ให้กับเยาวชน เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้กับการทำงานจริงได้ในอนาคต นั่นแหละ…จุดสำคัญที่จะพัฒนาเยาวชนเราให้ “พร้อม” สู่การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่ “ไม่หยุดนิ่ง” แห่งนี้


คอลัมน์ “1 Day With ซุปตาร์”

โดย “yimyim”