ผ่านพ้นช่วงปิดเทอม ช่วงเวลาที่ได้หยุดยาวต่อเนื่อง ได้พักผ่อนท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาเรียน ….

เมื่อวันปิดเทอมหมดลง ก็ถึงเวลาของการเปิดเทอมใหม่ ไปโรงเรียนกันอีกครั้ง การเตรียมความพร้อม เตรียมไปโรงเรียนด้วยความสดใส มีความสุข พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก วัยอนุบาล หรือรุ่นพี่ชั้นประถม มัธยมศึกษา หรือการต้องเปลี่ยนโรงเรียน เริ่มเรียนในสถานที่ใหม่ ฯลฯ มีความสำคัญ ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ การปรับตัว เตรียมตัวพร้อมไปโรงเรียน ต้อนรับเทอมใหม่

นำความรู้จาก อาจารย์ ดร.กรรณิการ์ แสนสุภา อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งให้ความรู้การเตรียมความพร้อมในประเด็นนี้ว่า ในเรื่องของการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนใหม่ของเด็ก ๆ คงไม่ใช่แค่การเตรียมพร้อมเฉพาะสิ่งของไปโรงเรียน แต่ชวนมองถึงการปรับเตรียมตัวและเตรียมใจด้วย โดยอยากให้ คุณพ่อคุณแม่รับฟังความรู้สึกของลูก ๆ สื่อสารกับลูกในเชิงบวกซึ่งจะช่วยลดปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียน ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา

อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา ดร.กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า การปิดเทอมที่ผ่านมาเป็นการปิดเทอมใหญ่ มีช่วงเวลาที่ได้หยุดยาวต่อเนื่อง จากที่เคยตื่นตรงตามเวลา เข้านอนตามเวลา ทำอะไรต่าง ๆ เป็นเวลา แต่ในช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ จะได้ใช้ชีวิตอิสระขึ้นมีกิจกรรมมากขึ้น ได้เล่น ได้อยู่กับครอบครัว ฯลฯ

แต่เมื่อต้องกลับสู่การเปิดเทอมอีกครั้ง หลายบ้านอาจยังไม่พร้อม และตัวเด็กก็อาจยังไม่ได้เตรียมตัวกลับเข้าสู่โรงเรียนอีกครั้ง ส่วนนี้อาจเป็นปัญหาที่ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถปรับตัวพร้อมไปโรงเรียนได้ ทำให้ความสุขในการไปโรงเรียนน้อยลง

เมื่อต้องกลับเข้าสู่ระบบการเรียนอีกครั้ง ถึงเวลาเปิดเทอมอีกครั้ง สิ่งที่จะต้องเตรียม คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองต้องมีส่วนช่วย สิ่งแรก เตรียมใจพร้อม ทั้งนี้ถ้าใจพร้อมก็จะสามารถทำทุกอย่างได้อย่างมีความสุข ไปโรงเรียนด้วยความสดใส อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา ดร.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า คงต้องเริ่มจากคุณพ่อ คุณแม่ช่วยให้เด็กมีความพร้อมไปโรงเรียน อย่างเช่น บอกกับลูก ๆ ให้รู้ว่าเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ที่จะต้องไปโรงเรียน

“การบอกระยะเวลาจะทำให้เด็ก ๆ เห็นระยะเวลาที่เหลือ ได้เตรียมตัวเตรียมใจตนเอง เพราะบางทีเด็ก ๆ อาจหลงลืมวัน โดยถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะทำเป็นปฏิทิน ใช้ปากกาวงวันที่เปิดเรียนรู้ว่าจะเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ที่จะไปโรงเรียน หรือดีไซน์เป็นเกม ซึ่งก็ช่วยลดคลายความเครียด ความวิตกกังวลการไปโรงเรียน เป็นต้น”

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจ ต้องสังเกตว่าลูกมีความวิตกกังวลต่อการไปโรงเรียนหรือไม่ สังเกตจากคำพูดของเด็ก ๆ เช่น หนูไม่อยากไปโรงเรียนเลย ไม่อยากเปิดเทอมเลย ฯลฯ คำพูดเหล่านี้คุณพ่อ คุณแม่ ไม่ควรปล่อยผ่านไป แต่ควรรับฟังและพูดคุย ตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาอยากบอกเล่า อย่างเช่น “หนูไม่อยากไปโรงเรียน” “ไม่พร้อมไปโรงเรียน” ผู้ปกครองควรรับฟังและถามถึงสาเหตุกับลูกว่าเพราะอะไร ฯลฯ เป็นการรับฟังว่าเด็ก ๆ รู้สึกอย่างไร? โดย สิ่งสำคัญคือคำพูดที่ใช้ อยากให้พูดคุยกับลูก รับฟังให้ถึงความรู้สึกของเขาว่ารู้สึกอย่างไร แล้วชวนกันคิดหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

“เมื่อเด็ก ๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เขาจะรู้สึกว่าสามารถจัดการชีวิตของเขาได้ จะรู้สึกมั่นใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับเขา ทั้งยังสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในครอบครัว เด็ก ๆ จะไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ฟังเขา ในอนาคตต่อไปเมื่อมีปัญหาใด ๆ จะนำมาปรึกษา บอกเล่า”

ดร.กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ลูกรับรู้ได้ว่าพ่อแม่เข้าใจลูกก็มีความสำคัญ อย่างเช่น แม่รู้ว่าหนูกังวลใจเกี่ยวกับการไปโรงเรียน แต่เราจะช่วยกันหาวิธีลดความกังวล อยากให้ช่วยอะไรเพื่อให้มีความพร้อมต่อการไปโรงเรียน ฯลฯ คำพูดเหล่านี้จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความรู้สึกอบอุ่นใจ เมื่อมีเรื่องใด ๆ ก็อยากจะพูดคุย อยากบอกเล่า 

การพูดคุยรับฟังให้ถึงความรู้สึกจะสร้างความมั่นใจต่อการไปโรงเรียน หรือแม้แต่การเปิดเทอมใหม่ ต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ พบเจอเพื่อนใหม่ ฯลฯ ก็จะไม่เป็นอุปสรรค และหลังจากกลับจากโรงเรียน การพูดคุย ถามกันว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจ เข้าใจ

คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง อย่าปล่อยผ่านกับเรื่องราวของวันแรกที่เปิดเทอม ยิ่งเด็กเล็ก ๆ อาจต้องสร้างข้อตกลงระหว่างกัน อย่างเช่น วันนี้คุณแม่จะมารับในเวลานี้ ซึ่งก็ต้องไปรับตรงเวลา ฯลฯ จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่กับเขา ลดความกังวลในช่วงเวลาที่ไปโรงเรียนลงได้”

อีกส่วนหนึ่ง ดร.กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มว่า ไม่ควรทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่น่ากลัวนับแต่เด็ก ๆ ยังไม่ไปโรงเรียน อย่างเช่น ถ้าดื้อจะส่งไปโรงเรียน หรือถ้าดื้อจะไม่ไปรับจะให้อยู่โรงเรียนตลอดไป ฯลฯ คำพูดเหล่านี้จะทำให้เด็กกลัวการไปโรงเรียน รู้สึกว่าการไปโรงเรียนไม่สนุก ทำให้ขาดความพร้อมต่อการไปโรงเรียน

นอกจากนี้ อีกส่วนสำคัญคือ การเตรียมตัว ในปัจจุบันโควิดยังไม่หมดไป การเตรียมตัวไปโรงเรียนต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ไม่ละเลยการดูแลตนเอง และ ต้องเน้นย้ำการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมือ ฯลฯ อธิบายให้ลูก ๆ มีความเข้าใจ และดูแลตนเองในสถานการณ์นี้  

อีกส่วนหนึ่งเป็น การเตรียมพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์การเรียน หรือของใช้ส่วนตัว ในส่วนนี้ก็ต้องเตรียมพร้อม รวมไปถึง การเตรียมพร้อมที่จะกลับไปใช้ตารางชีวิตเหมือนเดิม อย่างเช่น เคยตื่นหกโมงเช้าเพื่อไปโรงเรียน ต่างจากช่วงปิดเทอมที่ส่วนมากนอนดึกตื่นสาย

แต่เมื่อต้องกลับไปเรียน ตื่นเช้า เข้านอนเร็ว ต้องปรับตัว ฝึกนอนให้เร็วขึ้น เป็นการช่วยเตรียมตัวพร้อมสำหรับการตื่นเช้า หรืออาจทำเป็นตารางประจำวัน โดยคุณพ่อคุณแม่ชวนลูก ๆ ออกแบบตารางกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกัน และอีกส่วนสำคัญคือ การให้กำลังใจ ชื่นชม เมื่อเขาทำได้

นอกจากนี้ อาจมีข้อตกลงร่วมกันในครอบครัว โดยหลังจากเปิดเทอมแล้ว เด็ก ๆ มีหน้าที่อะไร สิ่งไหนที่ทำได้ ทำไม่ได้ พูดคุยกัน โดยพ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งปรับพฤติกรรมให้เข้าสู่ภาวะปกติหรือสิ่งที่ควรจะเป็น

อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา ดร.กรรณิการ์ ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า สำหรับเด็กโต วัยมัธยมจะไม่ชอบการบังคับ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัย ก็ต้องเปิดโอกาสให้กับเขาได้ออกแบบตารางกิจกรรม จัดการการใช้ชีวิตของเขาเอง บนกรอบที่เป็นไปได้ ที่เป็นเหตุเป็นผล อย่างเช่น การนอน ถ้านอนดึกมากก็อาจทำให้ตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน หรือนอนไม่เพียงพอ ผู้ปกครองต้องยืนยัน พูดคุยด้วยเหตุผล แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก การมีตารางเวลา จัดตารางเวลาให้จะเหมาะสมกว่า และจะต้องเป็นการทำสม่ำเสมอ โดยส่วนนี้จะเป็นการฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความมีวินัยอีกทางหนึ่ง 

“ความงอแง ความไม่พร้อม โดยส่วนใหญ่จะพบกับเด็กเล็ก ขณะที่เด็กโตจะมีความสนุกกับการได้ไปเรียน ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน ซึ่งสาเหตุปัญหามาจากความกลัวและวิตกกังวล โดยเฉพาะวัยอนุบาล ประถมต้น ที่ต้องเข้าโรงเรียนใหม่ หรือย้ายโรงเรียน เปลี่ยนสถานที่ที่เคยคุ้นเคย ฯลฯ ทำให้มีความกลัว มีความกังวล คุณพ่อคุณแม่จึงต้องปลูกสร้างการรับรู้ที่ดี ปรับเตรียมใจพร้อมนับแต่อยู่ที่บ้าน”

นอกจากนี้ อาจพบปัญหาอื่น ๆ เช่น การเข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเรียนไม่ทัน หรือเพราะมีปัญหาที่โรงเรียน ฯลฯ โดยการแก้ไขคือ การรับฟัง พ่อแม่ผู้ปกครองควรพร้อมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันแก้ไขปัญหาเคียงข้าง เป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกได้มั่นใจ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยใด การเตรียมพร้อมมีความสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวของเด็ก ๆ

โดยเด็กที่ปรับตัวได้ดีจะมีความสุขกับการไปโรงเรียน ส่วนที่ปรับตัวได้ไม่ดีจะส่งผลต่อการเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน หรือไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียน ที่เป็นผลตามมา ดังนั้นในเบื้องต้นอาจต้องประเมินความพร้อม จากนั้นเพิ่มเติมความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุนให้มีความมั่นใจต่อการไปเรียน 

“ผู้ที่ดูแลเด็กทุกคน ซึ่งอาจเป็นญาติพี่น้องก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเด็ก ๆ มีความพร้อมไปโรงเรียนเช่นกัน ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูสามารถให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กไม่อ้างว้าง อบอุ่นใจ ซึ่งอยากฝากถึงผู้ที่ดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กต้องช่วยเหลือให้เด็ก ๆ ได้เข้าสู่โรงเรียน”

ในทางกลับกัน ถ้ามีความวิตกกังวลในเรื่องการเรียน หรือการเปิดเทอมใหม่ อาจขอคำปรึกษากับผู้ที่ไว้วางใจ ปรึกษาคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท อีกทั้งปัจจุบันมีสายด่วนสุขภาพจิตที่รับฟัง ได้พูดคุยปรึกษาความทุกข์ใจ ระบายความรู้สึก ฯลฯ อีกส่วนหนึ่ง ร่วมเติมความพร้อมปรับตัว

พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พร้อมไปโรงเรียนด้วยความสดใสมีความสุข.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ